(ไม่) ป่วยกาย ไม่ป่วยใจ

(ไม่) ป่วยกาย ไม่ป่วยใจ

ในบรรยากาศของโรคระบาดทำให้ผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น มีผลทั้งจากความตระหนักในความอันตรายของความเจ็บป่วยทั้งในระยะสั้น และผลข้างเคียงระยะยาว รวมทั้งการกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวเรื่อง “การเจ็บป่วย และการระบาด” จากสื่อกลางและการสื่อสารออนไลน์

การโพสต์ภาพผลการตรวจ ATK กลายเป็นสัญลักษณ์ของความ “โชคดี” “ได้ไปต่อ”

แต่อาจแอบซ่อนความหวั่นใจของผู้คนไว้ในส่วนลึก เพราะแม้โรคระบาดมีแนวโน้มจะลดความรุนแรงลง

แต่อุปสรรคในการกักตัว ต่อการทำงาน การเรียน และสังคม ยังเป็นส่วนที่รบกวนใจและกระตุ้นเร้าให้เรา..

“ยังอยากจะเป็นผู้โชคดีต่อไป” จนจบสถานการณ์นี้

นอกเหนือจากความตื่นตัวเกี่ยวกับโรคระบาดจากไวรัสสายพันธุ์ใหม่ พบได้ว่า ผู้คนต่างตื่นตัวกับการดูแลตนเอง และความเจ็บป่วยอื่นๆ มากขึ้น ในทุกวัยไม่เว้นแม้แต่วัยรุ่น วัยที่มีพัฒนาการทางร่างกายอยู่ในช่วงขั้นสุด ทั้งการเจริญของระบบต่างๆ การเติบโตขึ้นของกระดูกและกล้ามเนื้อ

 

อาจเพราะการเข้าถึงข้อมูลจำนวนมากได้อย่างง่ายได้ และใช้บรรทัดฐานของข้อมูลนั้นๆ ในการ “วินิจฉัยตนเอง”

ในขณะที่การวินิจฉัยโรคต้องอาศัยแพทย์ผู้ชำนาญ โรคบางชนิดต้องรับการวินิจฉัยจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง

ผ่านการซักประวัติ ตรวจทางคลินิก ตรวจทางห้องปฏิบัติการ การสังเกตอาการ และความเห็นจากสหวิชาชีพต่างๆ

 

จากความ “ตื่นตัว” อาจเปลี่ยนเป็นความ “ตื่นตูม”

จากความ “ตระหนัก” อาจเปลี่ยนเป็นความ “ตระหนก”

 

มิหนำซ้ำ อาจสะสมเป็นความรู้สึก “กังวลใจในความเจ็บป่วย” จนกระทบกับสิ่งอื่น หรือ “กังวลใจจนป่วยกาย” ก็เป็นได้

1.กังวลจนกระทบกิจวัตร

ความกังวลใจ มักมาในรูปแบบความคิดที่เป็นเรื่องแย่ มีความร้ายแรง เป็นความคิดต่อเหตุการณ์ในอนาคต หลายครั้งความกังวลจะกระตุ้นให้เกิดการคิดวนซ้ำ กระทบกับสมาธิในการทำงาน และกระทบกับความสงบในการนอน ส่งผลโดยตรงต่อร่างกาย สะสมเรื่อยไปอาจสะสมเป็นผลกระทบทางสังคม เพราะคิดวนจนไม่อยากไปเจอใคร

2.กังวลจนเป็นอาการ

Psychosomatic Disorder คือกลุ่มอาการทางร่างกายที่มีผลโดยตรงจากจิตใจ เมื่อจิตป่วย กายก็จะป่วยตามได้ทุกระบบ เช่น ปวดหัว ไมเกรน (ปวดหัวข้างเดียว) ปวดท้อง เป็นแผลในกระเพาะอาหาร หรือลำไส้ใหญ่ ท้องอืดเฟ้อ ท้องผูก ท้องเดินถ่ายบ่อย หายใจไม่ทัน หอบหืด มีผื่นตามตัว ปัสสาวะบ่อย กายตายด้าน หรือประจำเดือนหายไป และไม่มีความสุขในชีวิตประจำวัน สารเคมีของความเครียดที่หลั่งออกมาทำให้ความดันโลหิตสูง ส่งผลต่อการทำงานของระบบเลือดและสมอง ทำให้ภูมิต้านทานน้อยลง หรืออาจทำให้เป็นโรคเกี่ยวกับภูมิแพ้

วิธีบริหารความกังวลต่อความเจ็บป่วย

1.ความกังวลเป็นอาวุธของความอยู่รอด เป็นรหัสพันธุกรรมที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่ยุคโบราณ เพื่อตอบสนองอย่างอัตโนมัติกับธรรมชาติ และอุปสรรคต่างๆ เพื่อการสู้และการหนี แต่ความกังวลที่มากไปอาจเป็นอาวุธร้ายที่ทิ่มแทง ความกังวลในระดับ “พอดี” จึงสำคัญของการดูแลกายและใจ

2.สังเกตใจให้รู้ทัน ความกังวลที่ “พอดี” โดยฝึกสังเกตความเปลี่ยนแปลงของร่างกายว่าเมื่อรู้สึกกังวลมีส่วนไหนร้อน เย็น เคลื่อนไหว หรือหยุดนิ่ง เป็นพิเศษ สังเกตกระบวนการคิดว่า “มักคิดวนซ้ำเรื่องเดิมหรือไม่ มีความยากในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่หรือเปล่า” ฝึกสังเกตการทำตามกิจวัตรประจำวันว่ายังสม่ำเสมอดีหรือไม่ มีสิ่งใดทำมากหรือน้อยเกินไป หรือตารางกิจวัตรถูกรบกวนด้วยปริมาณความคิดที่มากจนเกินไปหรือเปล่า

3.ดูแลสุขภาพตามวัย

การกิน (กินอาหารครบหมู่ หลากหลาย หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ บุหรี่ ละเว้นสารเสพติด)

การนอน (นอน-ตื่นเป็นเวลา มีปริมาณการนอนมากกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน ลดใช้หน้าจอต่างๆ ก่อนนอน หมั่นสังเกตคุณภาพการนอนโดยวัดจากคุณภาพการใช้ชีวิตหลังตื่น)

การออกกำลังกาย (เคลื่อนไหวต่อเนื่องเพื่อดูแลระบบไหลเวียนเลือดและระบบหายใจ ออกแรงกายเพื่อสร้างกล้ามเนื้อ ขยับตัวเพิ่มขึ้นจากกิจวัตร อาทิ เดินเท้าแทนการนั่งรถไฟฟ้าเมื่อเดินทางไปบริเวณไม่ไกล) เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นฐานสำคัญของวัยรุ่น ทั้งการป้องกันความเจ็บป่วยที่จะเกิดขึ้นกับร่างกาย และยังเป็นการประคองจิตใจให้ลดความกังวลลงได้

4.ลดการรับสื่อสารเกี่ยวกับสุขภาพผ่านช่องทางออนไลน์

แม้ว่าบนโลกออนไลน์จะมีข้อมูลต่างๆ อยู่มากมายมหาศาล แต่ก็มีข้อมูลไม่น้อยที่เป็นข้อมูลด้านเดียว ข้อมูลเป็นเท็จ ข้อมูลเชิงโฆษณา ทำให้ผู้รับข้อมูลมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน โดยเฉพาะข้อมูลด้านสุขภาพจำเป็นอย่างมากที่ต้องรับมาจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ มีการอ้างอิงที่ชัดเจน อีกทั้งเตือนตนเองให้รู้ทันเสมอว่า “การวินิจฉัยโรคเป็นเรื่องละเอียดและลึกซึ้ง” หากเอาใจไปผูกกับข้อมูลความเจ็บป่วยบนโลกออนไลน์มากเกินไปจะยิ่งทำให้จิตใจเป็นกังวล

ควรลดสัดส่วนของการรับสื่อสุขภาพ ไปรับสื่อประเภทอื่น หรือเบี่ยงเบนตัวเองไปทำกิจกรรมอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ทั้งกายและใจ

5.หากมีการเจ็บป่วยด้านร่างกายควรพบแพทย์และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด อาทิ ยาบางชนิดต้องทานต่อเนื่องแม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้วเพื่อป้องกันเชื้อดื้อยา เป็นต้น

6.ให้เวลากับตนในการทำความเข้าใจว่า “ความเจ็บป่วยเป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่จะเกิดกับทุกคน” ทำในสิ่งที่ควบคุมง่ายและเป็นไปได้คือ สิ่งที่ช่วยให้เกิดความสงบ

นรพันธ์ ทองเชื่อม : นักจิตวิทยาและที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิต เลิฟแคร์สเตชั่น