“เห็นหัวใจ” ในวันที่ “เห็นแตกต่าง”

ธรรมชาติของมนุษย์นอกเหนือจากความพยายามในการเข้าใจตนเองแล้วประเด็นทางสังคมก็เป็นสิ่งที่มนุษย์ให้ความสนใจและส่งผลสำคัญทั้งในแง่การใช้ชีวิตรูปแบบการแสดงพฤติกรรมตอบสนองและสภาวะอารมณ์เพราะความเป็นมนุษย์ไม่อาจแยกขาดจากความเป็นสังคม

วัยรุ่นคือวัยที่กำลังค้นหาอัตลักษณ์ของตนเองซึ่งอาศัยการทบทวนความสามารถของตนประสบการณ์ชีวิตในอดีตความต้องการในชีวิตและความรู้สึกต่อความเป็นส่วนหนึ่งของสังคมจึงมีปรากฎการณ์ที่พบเห็นได้ว่าตั้งแต่ประวัติศาสตร์ในอดีตถึงยุคปัจจจุบันมีวัยรุ่นไม่น้อยที่ให้ความสนใจและแสดงออกความคิดเห็นต่อสังคมตามอุดมคติของตน

ธรรมชาติของสมองวัยรุ่นมีความสามารถในการรับรู้สูงรวมกับโลกแห่งความฉับไวของข้อมูลข่าวสารในขณะที่ศักยภาพของสมองวัยรุ่นนั้นยังขาดประสบการณ์ในการยับยั้งอาจเป็นสิ่งกระตุ้นให้วัยรุ่นที่รับข้อมูลข่าวสารปริมาณมากได้รับผลกระทบด้านอารมณ์ได้

ภาวะเครียดทางการเมือง หรือ Political Stress Syndrome (PSS) มักจะเกิดขึ้นกับผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง และผู้ที่ติดตามข่าวสารทางการเมืองและสังคมอย่างใกล้ชิด โดยเมื่อบุคคลมีความเครียดในระดับสูงจะส่งผลต่อภาวะทางสุขภาพจิตอันได้แก่..

1.ด้านจิตใจ เมื่อวัยรุ่นอยู่ในสภาวะของความเครียดเป็นเวลายาวนานอาจส่งผลให้เกิดอารมณ์อื่นๆ ตามมาอย่างควบคุมได้ยาก อาทิ ความกังวล โดยเฉพาะความกังวลต่อสถานการณ์ล่วงหน้า ถึงสถานการณ์ของบุคคลอื่นหรือสังคมที่ตัวเราไม่อาจควบคุมได้ทั้งหมด, ความเศร้า อาจเกิดขึ้นได้เมื่อผิดหวังจากผลทางสังคม หรือไร้ความหวังต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม, ความโกรธเมื่อเกิดปรากฎการณ์ทางความคิดที่แตกต่างและผลกระทบของความคิดว่าตนได้รับความอยุติธรรม

2.ด้านร่างกายในสภาวะที่วัยรุ่นเผชิญกับความเครียดจะเกิดการตอบสนองอย่างอัตโนมัติทำให้เกิดความตื่นตัวเพื่อเตรียมพร้อมกับสถานการณ์ทางสังคมอาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัวหายใจไม่เต็มอิ่มใจสั่นไม่ค่อยมีสมาธิทำงานกินข้าวไม่อร่อยนอนไม่หลับ

3.ด้านพฤติกรรมวัยรุ่นที่ได้รับผลกระทบหรือสนใจการเมืองเป็นอย่างมากอาจเกิดการขาดความสมดุลในกิจวัตรประจำวันอื่นๆคิดวนซ้ำในประเด็นที่สนใจกระทั่งตัดสินใจกับสิ่งอื่นในชีวิตได้ยากอีกทั้งยังมีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมในการแสดงความเห็นต่างด้วยการโต้แย้งกระทั่งกระทบต่อความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้าง

อาการดังกล่าว อาจมีระดับของความรุนแรงกับแต่ละคนที่ไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับปริมาณของการรับรู้ข้อมูล การตีความสถานการณ์ตามประสบการณ์ และสภาวะด้านจิตใจก่อนหน้าของแต่ละคน (สามารถประเมินตนเองได้จากแบบสำรวจภาวะสุขภาพจิตหลังวิกฤตการณ์รุนแรง GHQ-12) ทว่า การรู้เท่าทันอาการต่างๆ เพื่อนำไปสู่การป้องกัน น่าจะเป็นทางออกที่จะช่วยให้บุคคลสามารถดูแลตัวเองไปพร้อมกับการรับข้อมูล และแสดงความเห็นทางสังคมได้ ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
ลดการรับข้อมูลข่าวสาร จากสื่อที่กระตุ้นให้เกิดอารมณ์เชิงลบโดยที่พยายามมากขึ้นที่จะสรุปเอาเนื้อหาของข่าวมากกว่าการรับอารมณ์ที่นำเสนอผ่านข่าวสารมาเป็นอารมณ์ของตนเองพยายามมากขึ้นที่จะเข้าใจที่มาที่ไปของสิ่งที่เกิดขึ้นมากกว่าการหุนหันเชื่อข้อมูลใดข้อมูลหนึ่งในทันที
บริหารเวลาให้เหมาะสม โดยแบ่งเวลาในการติดตามข่าวสารบ้านเมือง การดูแลครอบครัว การทำงาน และการพักผ่อน สำหรับการติดตามข่าวสารไม่ควรติดตามต่อเนื่อง 40 นาที ถึง 2 ชั่วโมง (ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลผ่านการสังเกตอาการต่างๆดังที่กล่าวข้างต้น) หรือใช้วิธีการในการรับข่าวสารตามเวลา อาทิ เปิดดูข่าวสารวันละ 3 ครั้งๆ ละ ไม่เกิน 20 นาทีเป็นต้น
ควรมีวิธีการลดความเครียด เช่น การออกกำลังกาย ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ฝึกหายใจโดยกระตุ้นให้เกิดการรู้ตัวและรู้จังหวะของการหายใจไปพร้อมๆ กับการเคลื่อนไหวและผ่อนคลายของกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ทำกิจกรรมที่ตนเคยสนุกและชื่นชอบทั้งในรูปแบบเดี่ยวและกิจกรรมที่ทำร่วมกับผู้อื่นที่ส่งเสริมความรู้สึกผ่อนคลาย
สื่อสารความเห็นต่างอย่างระมัดระวังแม้ความเห็นที่แตกต่างเป็นสิทธิพื้นฐานที่มนุษย์มีและควรได้รับการเคารพแต่การสื่อสารความแตกต่างออกไปในขณะที่มีอารมณ์เชิงลบอาจนำไปสู่รูปแบบการสื่อสารที่ไม่เหมาะสมและเกิดความขัดแย้งระหว่างกันสะสมเป็นตะกอนของอารมณ์เชิงลบกับตนเอง

ด้วยความเคารพในสิทธิ และด้วยความปรารถนาแห่งวิชาชีพ หวังเพียงให้คนไทยก้าวผ่านวิกฤตการณ์นี้อย่างค่อยๆเป็นไปด้วยความเข้าใจในอารมณ์ตนเองไปพร้อมกับความเข้าใจเห็นต่างในสังคม

นรพันธ์ ทองเชื่อม
นักจิตวิทยาและที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิต เลิฟแคร์สเตชั่น