การมองโลกในแง่ดี ดีต่อใจอย่างไร
และต่างจากโลกสวยอย่างไร
ก่อนอื่นคงต้องชวนกันทำความเข้าใจมุมมองต่อ “โลก” ของแต่ละคนที่อาจมีขอบเขตหรือการตีความที่ต่างกัน เพราะโลกของแต่ละคนอาจถูกแบ่งด้วยขนาดของพื้นที่ บางคนถูกแบ่งด้วยจำนวนของผู้คน บางคนถูกแบ่งด้วยความเหนียวแน่นของความสัมพันธ์ทั้งเชิงบวกและเชิงลบ หรือแม้กระทั่งการเหมารวมเอาภาพรวมของสภาพอากาศ ปัญหาการเงิน การจราจร การเมือง ความสัมพันธ์ที่ดีและความขัดแย้งมาเป็นมุมความคิดต่อ “โลก” ซึ่งมีความละเอียดและลึกซึ้งแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล มิหนำซ้ำมุมมองต่อ “โลกของบางคน” อาจมีเพียงคนจำนวนหยิบมือที่เรียกว่าครอบครัวก็เป็นได้ ดังนั้นแล้ว การพูดคุยถึงมุมมองต่อ “โลก” เป็นเรื่องเฉพาะบุคคลที่ละเอียดอ่อนที่ต้องระมัดระวังที่จะรีบเร่งให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับมุมมองต่อ “โลก” ของคนอื่น
ดีของเราไม่เท่ากัน เรื่องนี้เป็นประเด็นที่สร้างปัญหาการสื่อสารและความสัมพันธ์มาไม่น้อย อาทิ หัวหน้างานบอกให้ลูกน้องทำงานให้ดีขึ้นกว่าเดิม ลูกน้องก็ทำงานให้ดีขึ้นในแบบที่ตนเชื่อว่าดีตามมาตรฐานที่ตนยอมรับได้แต่ท้ายที่สุดกลับไม่ดีพอที่หัวหน้าต้องการ “เพราะดีของเราไม่เท่ากัน”
นอกจากนั้น “ดี” ที่คลุมเครือ ก็มักส่งผลต่อความรู้สึกต่อคุณค่าภายในของคนนั้นๆ ทำให้เกิดอารมณ์กังวล เศร้า กับบทบาทสำคัญในชีวิต เช่น ฉันเป็นแม่ที่ไม่ดี ในขณะที่ ความหมายของการเป็นแม่ที่ดีเป็นสิ่งที่คลุมเครือ ดังนั้นแล้วมุมมองต่อโลกที่ดีก็เช่นกัน เมื่อคุณค่าของความ “ดี” เป็นสิ่งที่คลุมเครือ
การพยายามอย่างมากในการตามหานิยามของ “โลกที่ดี” อาจสร้างความเหนื่อยยากและสับสน และหากปล่อยให้อารมณ์นี้อยู่กับเราไปยาวนานอาจสะสมให้เกิดความรู้สึกหดหู่และหมดหวังได้ ดังนั้นการค่อยๆ ให้โอกาสตนเองได้ทำความเข้าใจคุณลักษณะที่ประกอบอยู่ในสิ่งที่เรียกว่า “ดี” โดยเฉพาะ “โลกดีๆ” จะช่วยทำให้การมีมุมมองต่อโลกเป็นรูปธรรม ชี้ได้ชัด และวัดได้
ธรรมชาติตามวัยกับการมีมุมมองต่อโลก
ในแต่ละช่วงวัยมีมุมมองต่อโลกที่แตกต่างกัน “โดยสิ้นเชิง” หากมีเวลาสักนิดผมจะชวนย้อนเวลากลับไปคิดถึงตุ๊กตาตัวโปรดในวัยเด็กของแต่ละคน “ตุ๊กตาหมี” คงเป็นตุ๊กตายอดฮิต ด้วยหน้าตาที่น่ารัก ตากลมวาว ปากนิด จมูกหน่อย ใบหูขนาดเล็ก และบทบาทน่ารักผ่านการ์ตูนและวรรณกรรมต่างๆ ในช่วงเวลาของวัยเด็ก ตุ๊กตาหมีจึงเป็นโลกที่ปลอดภัย
..เป็นเพื่อนทั้งในยามที่ไม่มีเพื่อน
..เป็นที่ระบายในยามที่ไม่มีใคร
..เป็นอุ่นไอไว้ในอ้อมกอดจนเผลอหลับ
..บางค่ำคืนยังตามติดคิดย้ำไปเป็นโลกในความฝัน
แต่เมื่อค่อยๆ เติบโตได้รู้ข้อมูลตามความเป็นจริงว่าแท้จริงแล้วนั้น มีหมีไม่กี่ชนิดบนโลกจริงที่พร้อมให้โอบกอด ในขณะที่มีหมีหลายชนิดพร้อมเข้าทำร้ายเมื่อพวกมันหิวโหยหรือเข้าใจผิดคิดว่าเราเป็นศัตรู กระทั่งครูในวิชาทักษะเอาชีวิตรอดสอนเด็กๆ อย่างขบขันว่า “เจอหมีให้แกล้งตาย” ฟังไปสนุกไป ฟังไปผิดหวังเล็กๆ ไป เพราะโลกที่ปลอดภัยถูกสั่นคลอน หมีกับตุ๊กตาหมีกลายเป็นโลกคนละใบ
สิ่งนี้กำลังชี้ให้เห็นว่าความเข้าใจในมุมมองต่อโลกไม่ได้ขึ้นอยู่กับความพยายามในความเข้าใจเรื่องความถูกต้อง ดีงาม หรือการอยากเป็นคนที่ดีเท่านั้น แต่สัมพันธ์กับพัฒนาการในการเรียนรู้และเข้าใจโลกตามความเป็นจริงอีกด้วย
การให้เวลาเรียนรู้โลกตามระดับพัฒนาการ มีส่วนช่วยให้เกิดการเรียนรู้ความรู้สึกตนเองอย่างละเอียดอ่อนและค่อยเป็นค่อยไปมากกว่าการใช้ความพยายามอย่างมากของผู้ใหญ่ในการพร่ำสอนโลกที่ดีงามในยามที่พัฒนาการทางนามธรรมยังทำงานไม่เต็มที่ ผู้ใหญ่คนนั้นอาจกลายเป็นโลกที่โหดร้ายและกดดันของเด็กไปโดยปริยายแม้ไม่ได้เจตนา
การมองโลกมาจากแรงสะท้อนจากสิ่งแวดล้อมสู่ความรู้สึกภายใน
ทักษะในการมองโลก เป็นสิ่งที่สะสมมาจากประสบการณ์ในอดีตทั้งจากการเลี้ยงดู การเรียน เพื่อนวัยเรียน ความรัก การทำงาน เพื่อนบ้าน ฯลฯ ซึ่งอาจมีแนวโน้มเป็นการมองโลกได้ทั้งดีและเจ็บปวดอย่างถาวรนำไปสู่การเป็นต้นต่อของปัญหาของสุขภาวะทางจิตใจ หรืออาจเป็นมุมมองต่อการมองโลกในบางช่วงเวลา โดยเฉพาะในช่วงที่อารมณ์เชิงลบไม่ว่าจะเป็นอารมณ์เศร้า โกรธ หรือกลัว
หากสามารถเข้าใจที่มามุมมองความคิดต่อโลกที่มาจากประสบการณ์ในอดีตได้ นับเป็นทักษะสำคัญในการเข้าใจตนเอง โดยเริ่มจากการสังเกตว่าตนมักมีอารมณ์ร่วมทั้งบวกและลบกับเรื่องใดเป็นพิเศษ และบันทึกเพื่อวิเคราะห์ตนเอง ซึ่งเป็นทักษะละเอียดอ่อนและไม่ง่ายเลย เพียงความรู้สึกอยากมีมุมมองต่อโลกที่ดีขึ้นนับเป็นการเริ่มต้นที่ดีของความสุข
ซึ่งในการฝึกทักษะการมองโลกในแง่ดีมักถูกแทรกแซกด้วยความรู้สึก “ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่กำลังตกตะกอนอยู่นั้นคือการมองโลกในแง่ดีตามความเป็นจริงหรือการมองโลกสวย
ให้เริ่มต้นด้วยกระบวนการความคิดอย่างวิทยาศาสตร์คือ ตั้งสมมติฐานว่าสิ่งที่คิดในแวปแรกไม่ว่าจะเป็นสิ่งดีหรือไม่ดีต่อโลกนั้นเป็นอย่างไรอย่างเพิ่งรีบเร่งที่จะตัดสินใจเชื่อ
ฝึกการตั้งคำถามกับตนเองว่าการคิดในแต่ละรูปแบบทำให้ตนเองรู้สึกอย่างไร ได้ประโยชน์จากความคิดนั้นหรือไม่
ให้เวลาเพราะมีปัจจัยหลายอย่างบนโลกที่ซับซ้อนและต้องให้เวลาในการหาคำตอบ
และยอมรับกับคำตอบไม่ว่าจะถูกใจหรือไม่ เพราะคือการมองโลกตามความจริง ซึ่งเท่ากับความงามในการมองโลกในแง่ดีมากกว่า “การมองโลกสวย” อย่างที่ใครเค้าว่ากัน”
นรพันธ์ ทองเชื่อม : นักจิตวิทยาและที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิต เลิฟแคร์สเตชั่น