เป็น “ลูกคนกลาง” ไม่ดีจริงหรือ
“ลำดับขั้นการเกิดส่งผลต่อบุคลิกภาพของเด็ก (Birth order effect) ”
เป็น “ลูกคนกลาง” ไม่ดีจริงหรือ
“ลูกคนกลาง” หลายคนคงจะเคยเจอปัญหาพี่กับน้องได้อะไร เราไม่เคยได้ ทำผิดก็ต้องรับแทน ทำดีก็ไม่มีใครชม ขนมของขวัญไม่เคยได้ ต้องทำตัวให้มีปัญหาน้อยที่สุด และต้องทำให้ชัวร์ว่าพี่กับน้องแฮปปี้ดีในฐานะผู้ไกล่เกลี่ยมือหนึ่ง ซึ่งถ้าเราเป็นลูกคนกลางหรือมีพี่น้องที่เป็นลูกคนกลางก็คงจะอดคิดไม่ได้ว่า “Middle Child Syndrome” นั้นมีอยู่จริงไหม ‘Middle Child Syndrome’ หรือปรากฏการณ์ลูกคนกลาง มีความเชื่อกันว่าลูกคนกลางมักจะมีความรู้สึกว่าตัวเองแปลกแยก ถูกละเลย ไม่ได้รับความรัก การดูแลเอาใจใส่เท่าที่ควรจากพ่อแม่ ทำให้รู้สึกไม่ค่อยสนิทกับคนในครอบครัว ซึ่งมีสาเหตุมาจากลำดับการเกิด (Order of Birth) โดยปรากฏการณ์ลูกคนกลางที่ว่านี้มาจาก ทฤษฎีจิตวิทยารายบุคคลของแอดเลอร์ (Adler’s Individual Psychology) โดยอัลเฟรด แอดเลอร์ (Alfred Adler) นักจิตวิทยาเชื้อสายยิวที่ทำการหาคำตอบว่า ลำดับการเกิดของคนเรามีผลต่อบุคลิกภาพหรือไม่ การศึกษาบุคลิกภาพของบุคคลนั้น ไม่ใช่การศึกษาถึงพฤติกรรมหรือบุคลิกภาพเพียงด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น แต่จะต้องศึกษาพฤติกรรมทั้งหมดที่บุคคลนั้นแสดงออกมา ซึ่งมีลำดับการเกิดของเด็กในครอบครัว
“ลำดับขั้นการเกิดส่งผลต่อบุคลิกภาพของเด็ก (Birth order effect) ”
- ลูกคนโต
เป็นลูกที่ได้รับความรักและความสนใจอย่างเปี่ยมลันตั้งแต่เกิดมา พ่อแม่มักใส่ใจเขามาก เพราะพ่อแม่เองก็ยังไม่เคยมีประสบการณ์มีลูกมาก่อน ทำให้ลูกคนแรกได้รับการประคบประหงม เขากลายเป็นศูนย์กลางของความรักระหว่างพ่อกับแม่ มีผู้คนมากมายรายล้อม
“ภาระทางใจที่มักจะเกิดกับลูกคนโต” พ่อแม่ส่วนใหญ่มักคาดหวังให้เราดูแลรับผิดชอบน้องๆ และสิ่งต่างๆ ภายในบ้าน รวมทั้งธุรกิจภายในครอบครัว แม้พี่คนโตอาจจะมีฝันที่อยากทำ แต่ด้วยภาระที่พ่อแม่มอบให้ตั้งแต่วันที่เขามีน้องเกิดมา ทำให้เขาเรียนรู้ที่จะต้องรับผิดชอบ แม้ว่าจะด้วยความเต็มใจหรือไม่ก็ตาม เขาทำหน้าที่ตามสัญชาตญาณ จึงเป็นเหตุให้ผู้ใหญ่หลายคนในยุคปัจจุบันที่เป็นพี่คนโตของครอบครัว มักจะมีช่วงเวลาที่ขมขื่นอยู่ไม่น้อยที่ตนเองต้องคอยตามรับผิดชอบสิ่งต่างๆ ที่พ่อแม่มอบให้ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ มรดกทรัพย์สิน ไปจนถึงหนี้สินต่างๆ บางคนต้องรับผิดชอบส่งเสียน้องๆ ให้ได้เรียน ในขณะที่ตนเองต้องยอมเสียสละลาออกมาทำงานเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว บางคนต้องรับผิดชอบดูแลธุรกิจของครอบครัว ยอมละทิ้งฝันที่ตนมี ในขณะที่น้องๆ สามารถออกไปทำตามฝันของตัวเองได้อย่างอิสระ พี่คนโตจึงเลือกที่จะวางสิ่งที่ตัวเองต้องการไว้เบื้องหลัง และแบกรับความต้องการของครอบครัวก่อนเสมอ
2.ลูกคนกลาง
เป็นลูกที่มีแนวโน้มที่จะได้รับความสนใจจากพ่อแม่น้อยที่สุด ทำให้เขาเป็นเด็กที่มีความทะเยอทะยานสูง อดทน และมีแนวโน้มเป็นคนดื้อรั้นและดื้อเงียบ ลูกคนกลางบางคนจะพยายามทำตัวโดดเด่นกว่าพี่น้องของตน หรือทำตัวแปลกแยกไปเลยเพื่อให้เป็นที่สนใจของพ่อแม่และคนรอบตัว ลูกคนกลางจึงรู้สึกว่าตัวเองไม่มีตัวตน ถ้าเขาอยากทำให้ทุกคนมองเห็น เขาต้องพยายามทำตัวให้แตกต่างจากพี่กับน้องของเขา นอกจากนี้เขาต้องปรับตัวอยู่เสมอ เพราะเขาต้องรับบทบาทถึงสองบทบาทในเวลาเดียวกัน คือ เป็นน้องของพี่คนโต และเป็นพี่ของน้องคนเล็ก เวลาพี่น้องทะเลาะกัน ลูกคนกลางอย่างเขาต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ให้เป็น และทำหน้าที่ประนีประนอมระหว่างพี่คนโตกับน้องคนเล็กให้ได้ บ่อยครั้งเขาเลือกที่แยกตัวออกจากพี่น้องเพื่อที่จะได้อยู่กับตัวเองอย่างสงบสุข จึงไม่น่าแปลกใจที่ลูกคนกลางจะค่อนข้างเป็นตัวของตัวเองสูง ทั้งนี้ หากพ่อแม่เข้าใจและให้ความสนใจลูกคนกลางอย่างเพียงพอ เขาจะสามารถปรับตัวได้ดีกว่าพี่น้อง และเป็นกาวเชื่อมใจระหว่างคนในครอบครัวอีกด้วย
“ภาระทางใจที่มักจะเกิดกับลูกคนกลาง” ลูกคนกลางที่จะมีปมทางใจ มักเกิดจากการที่พ่อแม่มักมองข้ามลูกคนกลางอย่างเขาเสมอ ทำให้เขารู้สึกไม่มีตัวตนในสายตาพ่อแม่หรือคนในครอบครัว ลูกคนกลางอย่างเขาจึงต้องพยายามทำตัวแตกต่างเพื่อให้ทุกคนสนใจ แต่ลูกคนกลางบางคนก็เลือกที่จะอยู่เงียบๆ เพราะเหนื่อยที่จะพยายามทำให้ทุกคนสนใจเขา เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ลูกคนกลางจึงรู้สึกว่า เสียงของตัวเองนั้นไม่สำคัญ ไม่ว่าเขาจะพูดอะไร คงไม่มีใครใส่ใจเขา เพราะขนาดพ่อแม่ยังให้ความสำคัญกับพี่และน้องของเขามากกว่า
- ลูกที่สองหรือลูกคนสุดท้อง
เป็นลูกที่พ่อแม่และทุกคนในบ้านตามใจ คอยให้ความช่วยเหลืออยู่เสมอ ทำให้ลูกคนสุดท้องกลายเป็นเด็กค่อนข้างเอาแต่ใจ และมักทำตัวเป็นเด็กไม่รู้จักโต แต่ในขณะเดียวกันหากพ่อแม่มอบหมายหน้าที่ให้กับน้องคนเล็กอย่างเขาเช่นเดียวกับพี่ๆ เขาจะสามารถพัฒนาศักยภาพได้ดี เพราะมีพี่ๆ เป็นตัวอย่าง ด้วยเหตุนี้เอง การเป็นลูกคนที่สองทำให้เขาต้องพยายามทำตัวให้ดี และดิ้นรนเพื่อจะเป็นที่ยอมรับของพี่ให้ได้ เขาจึงชอบเลียนแบบพี่ของเขา พี่จะทำอะไร เขาจะพยายามทำตาม พี่เล่นอะไร กินอะไร ชอบอะไร คนน้องทำ เล่น กิน ชอบบ้างทันที ซึ่งกลายเป็นว่า ยิ่งน้องทำแบบนี้ คนพี่อาจจะหงุดหงิดกว่าเดิม แต่ก็มีพี่บางคนรู้สึกดีใจที่น้องกลายเป็นลูกสมุนก๊วนเดียวกับเขา ดังนั้น ลูกคนที่สองจึงมีแนวโน้มทางพัฒนาการในด้านต่างๆ อย่างรวดเร็ว เพราะเขาเลียนแบบเด็กวัยใกล้เคียงอย่างพี่ของเขา และพ่อแม่อาจจะมีประสบการณ์มาพอสมควรจากการเลี้ยงลูกคนแรกไปแล้ว จึงสามารถรับมือกับลูกคนที่สองง่ายขึ้น
“ภาระทางใจที่มักจะเกิดกับลูกคนที่สองหรือลูกคนเล็ก” พ่อแม่มักคาดหวังว่า ลูกคนที่สองจะต้องเจริญรอยตาม ‘คนพี่’ หากคนพี่ทำสิ่งต่างๆ ไว้อย่างโดดเด่น น้องอย่างเขาก็ยิ่งรู้สึกกดดัน ความคาดหวังเหล่านี้มักส่งผลให้ลูกคนที่สองมีป้าหมาย คือการทำได้เท่าพี่หรือดีกว่าพี่ของเขาซึ่งบางครั้งเป้าหมายนั้นสูงเกินไป และสุดท้ายเขาไม่สามารถทำได้สำเร็จ ทำให้ลูกคนที่สองอย่างเขามักรู้สึกแย่และรู้สึกว่าตัวเองไม่เอาไหน ทั้งๆ ที่เขาอาจจะทำได้ดีกว่าคนอื่นมากมาย แต่อาจจะไม่ดีเท่าพี่ของเขาเท่านั้นเอง การที่เขาและใครๆ ต่างเปรียบเทียบตัวเองกับพี่อยู่ตลอดเวลา ทำให้ลูกคนที่สองอย่างเขาต้องรู้สึกกดดัน และเอาจริงเอาจังกับผลลัพธ์ และผลแพ้ชนะเสมอ
ดังนั้น พ่อแม่ทุกคนควรเข้าใจข้อเท็จจริงเหล่านี้ว่า ลูกของเราเป็นคนละคนกัน นั่นหมายถึงพวกเขามีความแตกต่างกัน มีนิสัยที่แตกต่างกัน เด็กหนึ่งคน นิสัยย่อมแตกต่างจากเด็กอีกคน ถึงแม้จะเป็นพี่น้องก็ตาม ดังนั้น “อย่าเปรียบเทียบ” พวกเขา และสุดท้ายการให้คำชมลูกไม่เท่ากัน พ่อแม่อาจจะมีการชมลูกคนใดคนหนึ่งมากเป็นพิเศษ ก็สามารถทำให้เด็กรู้สึกไม่ดีได้เช่นกัน เช่น “พี่ของลูกเก่งอย่างนั้นอย่างนี้” หรือ “น้องของลูกทำอันนี้ดีมากเลย ดูสิ” แม้ว่าเราจะโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว หากพ่อแม่ทำกับเราเช่นนี้ บางครั้งตัวเราเองยังแอบเก็บมาน้อยใจลึกๆ เลย ถ้าเป็นเด็กเขาจะรู้สึกขนาดไหน แม้เด็กจะไม่ได้พูดออกมา ก็ไม่ได้แปลว่าเขาไม่รับรู้ หรือไม่รู้สึก ไม่มีเด็กคนไหนเกิดมาเพื่อเป็นเหมือนเด็กอีกคน พวกเขาเกิดมาเพื่อ “เป็นตัวเขาเอง” และพ่อแม่ควรรักและเห็นคุณค่าในสิ่งที่ลูกแต่ละคนเป็น ดังนั้น “รักเขาอย่างที่เขาเป็น เพื่อว่าเขาจะได้รับความรักอย่างเต็มที่จากเรา” ไม่ต้องไปโหยหาจากที่อื่น และไม่ว่าจะเป็นลูกคนโต ลูกคนกลาง หรือลูกคนเล็ก เด็กทุกๆ คน ก็มีความสามารถและข้อดีที่แตกต่างกันออกไป รักตัวเองที่เป็นตัวเองกันเถอะค่ะ
วิรงรอง ราชเดช นิสิตฝึกงานสาขาจิตวิทยาพัฒนาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์