New year New You: การตั้งเป้าหมายให้ดีต่อใจ

New year New You: การตั้งเป้าหมายให้ดีต่อใจ

การเปลี่ยนแปลงของโลกที่ส่งผลให้มนุษย์ถูกกระตุ้นให้เกิดความต้องการในการเปลี่ยนแปลงตนเอง ทั้งเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงนั้น เพื่อเติมเต็มสิ่งที่พร่องหาย และเพื่อให้เกิดความรู้สึกดีต่อใจของตนเอง

โดยทั่วไป เรามักให้โอกาสกับตนเอง มีเวลากับการทบทวนตนเอง ถึงสิ่งที่เคยทำได้ดี สิ่งที่ผิดพลาด และตั้งเป้าหมายถึงสิ่งที่อยากทำให้ได้มากขึ้น

ซึ่งมีหลายโอกาสในชีวิตที่จะตั้งเป้าหมายให้ตนเอง อาทิ

            วันสำคัญของชีวิต วันเกิด วันสำเร็จการศึกษา วันปีใหม่ เพราะเป็นค่านิยมในการเริ่มต้นสิ่งใหม่ใน “วันดีๆ” หรือแม้กระทั่งการตั้งเป้าหมายเมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงและเหตุไม่คาดฝัน อาทิ การสูญเสีย หรือความผิดหวัง แล้วนำเอาความรู้สึกที่ได้รับการกระทบกระเทือนนั้นมาเป็นกำลังในการตั้งเป้า และลงมือทำสิ่งใหม่ให้กับตนเอง

ก่อนจะไปสู่กระบวนการตั้งเป้าหมายให้ดีต่อใจ ควรให้แน่ใจก่อนว่า “เรากำลังอยู่ในกระบวนการทบทวนตนเอง โดยระมัดระวังการทบทวนนั้นไม่ให้รุกล้ำไปสู่การกล่าวโทษ เพราะหากการทบทวน กลายเป็นการกล่าวโทษจะส่งผลให้เกิดความรู้สึกเศร้า และกังวลในระดับสูง ส่งผลต่อมุมมองที่บิดเบือนต่อการตั้งเป้าหมายให้กับตนเอง

(อ่านเพิ่มเติมเรื่อง “ในวันที่ต้องการพัฒนาและค้นหาตนเอง” ได้ที่ https://www.lovecarestation.com/85057/)

แม้จะสามารถทบทวนตนเองได้ แต่ในหลายครั้งการตั้งเป้าหมายกลับกลายเป็นการกดดัน  และเครียด เพราะเราไม่เพียงแบกรับบทบาทในความเป็นตัวเอง เรายังเป็นเราในบทบาทอื่นๆ อีกด้วย

เราอาจเป็นลูกของพ่อแม่ ที่อยากมีเป้าหมายให้พ่อแม่อยู่อย่างสุขสบาย หรือเพียงหวังให้ในบ้านคุยกันดีๆ

เราอาจเป็นหัวหน้าทีม ที่อยากมีเป้าหมายพาทีมไปสู่ความสำเร็จ หรือเพียงหวังให้ทีมร่วมมือกันเอย่างเต็มที่

เราอาจเป็นพ่อแม่ของลูก ที่อยากมีเป้าหมายในการเป็นพ่อแม่ที่สมบูรณ์ หรือหวังเพียงให้ตนมีเวลากับลูกมากขึ้น

เราอาจเป็นเพื่อนเก่า ที่อยากมีเป้าหมายนัดเจอเพื่อนให้ได้ทุกเดือน หรือหวังเพียงยังส่งข้อความหากันบ้าง

ระดับของความกดดัน ความเครียด อาจสัมพันธ์กับบทบาทที่เราแบกรับ ความคาดหวังที่เรามีต่อบทบาทนั้น และความเชื่อต่อคาดหวังว่าคนอื่นรอบข้างต้องการอะไรจากเรา หากสามารถรู้เท่าทันแต่ละบทบาทของตนเอง ยอมรับข้อดีข้อผิดพลาด และจัดการอารมณ์ได้ จะทำให้การตั้งเป้าหมายในครั้งต่อๆ ไปชัดเจน และใกล้เคียงกับความเป็นจริงได้มากขึ้น

ระมัดระวังเป้าหมายที่มาจากมุมมองของคนอื่น เพราะแม้เราจะตั้งใจทำตามเป้าหมายนั้นอย่างเต็มที่ ระดับของความพอใจก็ไม่อาจวัดได้

ระมัดระวังเป้าหมายที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนความเป็นจริง เพราะแม้จะมีมุมมองต่อการใช้ชีวิตตามอุดมคติ แต่หากไม่สอดคล้องกับปัจจัยในชีวิตจริงก็อาจเป็นจุดเริ่มต้นของความผิดหวังตั้งแต่เริ่มต้นตั้งเป้าหมาย

ระมัดระวังความคิดชนิด “As … if ….”  อาทิ “ก็ดีนะ แต่….” ทำให้ไม่สามารถมีความสุขในสิ่งที่ได้รับหรือทำได้ เป็นความคิดที่มีระดับความคาดหวังที่ไม่มีจุดจบของความพึงพอใจ

ระมัดระวังการตั้งเป้าหมายที่คลุมเครือ เพราะความไม่ชัดเจน วัดไม่ได้ อาจเป็นการตั้งโจทย์ของเป้าหมายที่ไร้คำตอบ

วิธีการตั้งเป้าหมายแบบ Smart Goal

Specific เป้าหมายนั้นมีความเฉพาะเจาะจง สามารถเห็นภาพตามได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากเป้าหมายนั้นสำเร็จ

ฉันต้องการให้ตนเองสามารถทำงานได้เต็มที่ มีเวลาสำหรับพักผ่อนและทำกิจกรรมที่ตัวเองชื่นชอบในช่วงวันหยุด

Measurable เป้าหมายนั้นมีวิธีวัดผลเป็นรูปธรรม สามารถวัดเป็นเชิงปริมาณได้ ส่วนในเชิงคุณภาพเป็นสิ่งที่วัดยากกว่า

ฉันจะมีวันหยุดอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 วัน และพักผ่อนต่างจังหวัดอย่างน้อย 1 ครั้งในรอบสามเดือน

Achievable เป้าหมายนั้นจะต้องสามารถรู้ได้ว่า ต้องทำอย่างไรจึงจะสามารถไปถึงเป้าหมายนั้นได้

ฉันจะจัดตารางการทำงานและวันหยุดล่วงหน้าตั้งแต่ต้นปี และปรับปรุงตารางงานและวันหยุดทุกๆ ต้นเดือน

Realistic เป้าหมายนั้นสมเหตุสมผล ไม่เกินเอื้อม เป็นไปได้จริง ไม่ยากจนเกินไป

“หากฉันได้โบนัส 5 เดือนฉันจะให้รางวัลตนเองไปเที่ยวต่างประเทศ แต่หากได้ต่ำกว่านั้นฉันจะวางแผนเพื่อท่องเที่ยวต่างจังหวัด”

Time-bound มีกรอบเวลาของการลงมือทำสิ่งที่จะให้เกิดตามเป้าหมายที่ชัดเจน

ฉันจะทำเป้าหมายนี้ให้สำเร็จในช่วงเดือนมีนาคมปี 2566

แม้จะมีความรู้เท่าทันต่อการประเมินตนเอง มีความรู้เท่าทันในบทบาทที่ตนแบกรับ ระมัดระวังการตั้งเป้าหมาย และมีวิธีการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนและเป็นไปได้ หากแต่มีปัจจัยมากมายที่ส่งผลต่อความสำเร็จของเป้าหมาย หากเกิดอุปสรรคหรือไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โปรดกลับมาสู่การรู้เท่าทันอารมณ์และยืดหยุ่นในการปรับเป้าหมายให้สอดคล้องกันทั้ง “ความต้องการและอุปสรรค” เพื่อเป้าหมายใหม่ในปีใหม่ที่ดีต่อใจ

นรพันธ์ ทองเชื่อม : นักจิตวิทยาและที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิต เลิฟแคร์สเตชั่น