เปิดเทอมใหม่ หัวใจว้าวุ่น
“วันนี้รถโล่งจัง” คำอุทานกับตัวเองในวันที่ต้องขับรถไปทำงานใจกลางเมือง และได้ทบทวนกับตัวเองอีกครั้งว่า สาเหตุที่รถยังโล่งทั้งเช้าและเย็นอาจเป็นเพราะโรงเรียนส่วนใหญ่ยังอยู่ในช่วงปิดเทอม พูดกับตัวเองปนไปทั้งความสบายใจเพราะใช้เวลาในการเดินทางสั้นลง พร้อมกับทั้งหาข้อมูลว่า โรงเรียนส่วนใหญ่เปิดเทอมกันวันไหน เพื่อเตรียมตัวสำหรับแผนการเดินทางที่รัดกุม
“นี่ขนาดเราไม่ได้ไปโรงเรียน แต่การเปิด-ปิดเทอมยังส่งผลกับเราขนาดนี้ แล้วเด็กๆ ที่กำลังจะเปิดเทอมละต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง”
เพราะปิดเทอมที่ผ่านมา เรียกได้ว่าเป็น “ปิดเทอมใหญ่ที่หัวใจว้าวุ่น” เพราะเป็นปิดเทอมใหญ่ครั้งแรกหลังการเรียนกลับมา onsite เต็มรูปแบบ เป็นปิดเทอมใหญ่ที่การเดินทางท่องเที่ยวกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดสถานการณ์การระบาดของโควิด และเป็นปิดเทอมแรกของการมีเทศกาลหยุดยาวอย่างสงกรานต์ที่ไม่ได้มีมานานหลายปี
ความสุขช่วงปิดเทอมของใครหลายคน คงเอ่อล้นด้วยความสุข และมันจึงไม่ง่ายเลยกับการต้องกลับมาใช้ชีวิตในฐานะนักเรียนที่ต้องไปโรงเรียนอีกครั้ง เพราะหลายคนอาจถูกเหนี่ยวรั้งไว้ด้วยความสุขของการปิดเทอมใหญ่ ภาวะ Post-Vacation Blues คือภาวะอารมณ์เศร้าสับสนหลังจากการใช้ชีวิตสนุกในช่วงหยุดยาว ความรู้สึกส่วนใหญ่อยู่ในโทนหดหู่ เบื่อหน่าย อาจแสดงออกมาคล้ายการไม่มีแรง จดจ่อกับเรื่องการเรียนได้ยาก หลายคนอาจมีภาพจำเกี่ยวกับความสุขวกวนในหัวกระทั่งเกิดอารมณ์เศร้าและมีการร้องไห้น้ำตาไหลคลอ
ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาโดยประมาณ 1-2 สัปดาห์ในการปรับตัวกลับสู่สภาวะความเป็นจริงคือ การใช้ชีวิตในฐานะนักเรียน และลงมือลงแรงในความรับผิดชอบต่อการเรียน การบ้าน และงานกลุ่ม ซึ่งหากได้รับความเข้าใจ และการดูแลจิตใจจะทำให้ก้าวผ่านช่วงหดหู่หัวใจนี้ไปได้ง่ายขึ้น
หากแต่สภาวะดังกล่าว สามารถเตรียมตัวเพื่อป้องกัน หรือบรรเทาสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ โดยการเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่สถานะนักเรียนอย่างค่อยเป็นค่อยไปในมิติต่างๆ รอบด้านดังนี้
Bio หรือร่างกาย ที่หมายรวมทั้งสุขภาพ การเคลื่อนไหว กิจกรรมประจำวัน การรับประทานอาหาร การนอนและการตื่น อาทิ ช่วงปิดเทอมที่เด็กๆ อาจใช้เวลาอยู่กับหน้าจอและการเล่นเกมอาจค่อยๆ ปรับลดเวลาหน้าจอลงมาสู่การทำกิจกรรมเคลื่อนไหวที่คล้ายกับกิจกรรมในโรงเรียน เช่น การเล่นกีฬา การทานอาหารที่ไม่เป็นเวลา อาจรบกวนการใช้ชีวิตในสถานะของการเป็นนักเรียน เพราะในโรงเรียนมีเวลาพักรับประทานอาหารชัดเจน และที่สำคัญเด็กๆ หลายคนได้รับอิสระในการจัดการตารางการตื่นและนอนของตนเอง ตารางการนอนถูกขยับไปหลังเที่ยงคืนเพราะความสนุกสนานของกิจกรรมออนไลน์ทำให้การตื่นสายและละเว้นการทานมื้อเช้าคือสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเคยชินในช่วงของการปิดเทอม ในขณะที่การไปโรงเรียนในช่วงเปิดเทอม เด็กๆ อาจต้องตื่นตั้งแต่พระอาทิตย์ยังไม่ตื่นมาทักทาย หากได้ปรับตารางกิจวัตรดังกล่าวก่อนล่วงหน้าอาจลดอุปสรรคของการไปโรงเรียนได้
Psycho หรือความรู้สึก เพราะในช่วงการปิดเทอมความรู้สึกดีและมีคุณค่าในตนเองอาจได้รับมาจากกิจกรรมที่สนุกสนาน ทั้งความสำเร็จในเกม หรือแม้กระทั่งการสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนใหม่ต่างโรงเรียนหรือต่างชาติ รวมทั้งหลายคนใช้เวลาช่วงปิดเทอมเรียนรู้ในสิ่งที่เป็นความสนใจเฉพาะ อาทิ ศิลปะ ดนตรี กีฬา ทำอาหาร ค่ายผู้นำต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้พัฒนาความสามารถและความรู้สึกดีในตนเอง หากแต่เมื่อถึงเวลาเปิดเทอมสิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องลดลง เพราะเด็กๆ ต้องกลับมาสู่การเรียนรู้ในระบบ ซึ่งอาจรบกวนความรู้สึกหวาดหวั่น หรือแม้กระทั่งความรู้สึกไม่พึงพอใจในระบบการศึกษา การทำความเข้าใจคุณค่าภายในอาจทำให้เกิดความเข้าใจตนเองและรู้สึกดีกับตนเองได้ทั้งกับสิ่งที่ “อยากทำ” (กิจกรรมตามความสนใจ) และ “ต้องทำ” (การเรียนในระบบ)
Social หรือปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เพราะช่วงปิดเทอมการมีเพื่อนใหม่ถือเป็นสิ่งที่ท้ายทายและน่าตื่นเต้น มีเด็กๆ ไม่น้อยที่มีเพื่อนใหม่จากต่างโรงเรียน เพราะสนใจที่จะทำกิจกรรมบางอย่างร่วมกัน มีเด็กไม่น้อยที่มีเพื่อนใหม่ในต่างจังหวัดหรือต่างประเทศโดยการพูดคุยผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ ซึ่งการมีปฏิสัมพันธ์มักมีสิ่งที่สนใจเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงเด็กๆ เข้าหากัน ซึ่งอาจต่างกับกลุ่มเพื่อนในโรงเรียนที่มีทั้งเพื่อนตามความสนใจ และเพื่อนที่ต้องทำงานด้วยกันโดยอาจไม่ได้สนิทใจกัน การเปิดใจยอมรับและกระตือรือร้นที่จะเข้าร่วมกลุ่มตั้งแต่ต้นเทอมช่วยในการปรับตัว และทำให้การทำงานกลุ่มร่วมกันราบรื่นได้มากขึ้น
การเปลี่ยนแปลงเป็นได้ทั้งอุปสรรค ความท้าทาย และการเรียนรู้ .. การปรับตัวเป็นทักษะและความสามารถให้เกิดความสุข
ขอเป็นกำลังใจให้กับการเตรียมตัวครับ
นรพันธ์ ทองเชื่อม : นักจิตวิทยาและที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิต เลิฟแคร์สเตชั่น