คู่มือทำความเข้าใจโรคแพนิค เรื่องใกล้ตัว ที่ไม่ควรมองข้าม

คู่มือทำความเข้าใจโรคแพนิค เรื่องใกล้ตัว ที่ไม่ควรมองข้าม โรคแพนิค เป็นโรควิตกกังวล โดยผู้ป่วยจะมีอาการตื่นตระหนก เมื่อเจอกับสิ่งเร้า หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดการแพนิคนั้นก็มีด้วยกันหลากหลายสาเหตุ

“โรคแพนิค” หรือโรคตื่นตระหนก เป็นโรคที่พบได้ง่ายกว่าที่คิด เรียกได้ว่าอาการแพนิคเป็นอาการที่เราอาจได้ยินบ่อยครั้งยิ่งขึ้นจากคนรอบตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ชีวิตตามวิถีคนเมืองใหญ่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โรคแพนิคก่อตัวขึ้นแบบที่เราไม่ทันได้รู้ตัวเลยทีเดียว

โรคแพนิค คืออะไร

Panic Disorder โรคแพนิค คือ โรควิตกกังวลชนิดหนึ่ง หรือเรียกว่าโรคตื่นตระหนก ผู้ป่วยจะเกิดอาการแพนิค (Panic Attacks) หวาดกลัวอย่างรุนแรง ต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยไม่มีเหตุผล ทั้งที่ตัวเองไม่ได้เผชิญหน้าหรือตกอยู่ในสถานการณ์อันตราย

โรคแพนิคเกิดจากฮอร์โมนลดกะทันหัน ทำให้สารสื่อในสมองผิดปกติคล้ายกระแสไฟฟ้าลัดวงจร ส่งผลประสาททำงานผิดพลาด ทำให้สมองหลั่งสารตื่นตระหนกออกมา หลังอาการแพนิคสงบลง ผู้ป่วยมักรู้สึกอ่อนเพลียไม่ค่อยมีแรงและกังวลว่าอาการจะกลับมากำเริบอีก

 สาเหตุของโรคแพนิค

โรคแพนิคเกิดขึ้นได้ในคนทั่วไป เกิดได้หลายสาเหตุไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าเกิดจากปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง โดยสาเหตุของโรคแพนิค เชื่อว่ามีปัจจัยหลายประการที่อาจประกอบกันทำให้เกิดอาการได้ เช่น

  1. ทางด้านร่างกาย ปัจจัยด้านฮอร์โมนในร่างกาย มีระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง  อาจทำให้สารเคมีในสมองเสียสมดุลการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติผิดปกติไป เกิดเป็นโรคแพนิคได้
  2. ทางกรรมพันธุ์ โรคนี้อาจพบได้ในครอบครัวเดียวกัน ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคแพนิค มีโอกาสเกิดอาการได้มากกว่าผู้ที่ไม่มีประวัติในเครือญาติ
  3. ทางด้านจิตใจ ความเครียด  ความวิตกกังวล พฤติกรรมหลายอย่างในชีวิตประจำวัน เป็นส่วนหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพนิคได้  เช่น  ความตึงเครียดในชีวิต หรือได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจอย่างรุนแรง
  4. โรคทางอายุรกรรม หรือสารในยาบางตัว

สำรวจพฤติกรรมตนเองว่าเป็นโรคแพนิคไหม

ถ้าใครสงสัยว่าตัวเองอาจจะกำลังเป็นโรคแพนิคหรือไม่ สามารถประเมินตัวเองเบื้องต้นได้จากข้อมูลดังต่อไปนี้ ไปสำรวจพร้อม ๆ กันเลย

  1. รู้สึกอ่อนแรง ตัวเบาหวิว วูบวาบจะเป็นลม เหงื่อออก ตัวสั่น รู้สึกเย็นหรือชาตามมือและเท้า
  2. วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้อยากอาเจียน ปวดมวนท้อง รู้สึกอึดอัดจนขยับตัว แขน ขาได้ลำบาก
  3. มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หายใจไม่ทั่วท้อง ร่วมกับอาการใจสั่น หัวใจเต้นเร็วและแรง รู้สึกวิตกกังวลว่าจะเป็นโรคหัวใจหรือหัวใจวาย รู้สึกกลัวสุดขีดว่าตัวเองกำลังจะตาย
  4. มีระยะเวลาการเกิดอาการโดยประมาณตั้งแต่ 10 – 30 นาที และสามารถเกิดขึ้นซ้ำอีกเมื่อไรก็ได้
  5. เกิดความรู้สึกกลัวและวิตกกังวลว่าจะมีอาการขึ้นอีก จึงพยายามหาสาเหตุจนทำให้กลัวและพยายามหลีกเลี่ยงกิจกรรมหรือเหตุการณ์ที่คิดว่าเป็นสาเหตุ เช่น การขับรถ การขึ้นลิฟต์
  6. เกิดความรู้สึกกลัวและวิตกกังวลมากขึ้น เมื่อไม่สามารถหาได้ว่าอาการเกิดจากอะไร ยิ่งรู้สึกท้อแท้ หมดหวัง ตกอยู่ในภาวะหดหู่และซึมเศร้า

หากมีลักษณะอาการดังที่กล่าวมาข้างต้นและสงสัยว่าอาจเป็น Panic Disorder สิ่งที่ต้องทำเป็นลำดับแรกคือ การไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดต่อไป

โรคแพนิค คือ อาการตื่นตระหนกโดยไม่มีสาเหตุ ในผู้ป่วยทั่วไปเมื่อเกิดอาการแพนิค จะรู้สึกหวาดกลัวหรือตื่นตระหนกอย่างไม่ทราบสาเหตุ เกิดขึ้นกะทันหันและเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ซึ่งเป็นอาการที่มีความรุนแรงมากกว่าความรู้สึกเครียด หรืออาการหวาดกลัวทั่วไป มักจะเกิดขึ้นเป็นเวลา 10 – 20 นาที หรือในบางรายอาจเกิดอาการแพนิคนานเป็นชั่วโมง

ในหัวข้อนี้เราจะมาดูถึงรายละเอียดของอาการโรคแพนิค โดยผู้ป่วยจะมีอาการ ดังนี้

  •   ใจสั่น หัวใจเต้นแรง แน่นหน้าอก
  •   หายใจหอบ หายใจถี่ หายใจติดขัดรู้สึกเหมือนขาดอากาศ
  •   มือสั่น หรือตัวสั่น รวมทั้งมีเหงื่อออกตามร่างกาย หนาว ๆ ร้อน ๆ
  •   ปั่นป่วนในท้อง
  •   วิงเวียน โคลงเคลง รู้สึกตัวลอย คล้ายจะเป็นลม
  •   หวาดกลัว รู้สึกกลัวไปหมดทุกอย่าง โดยเฉพาะกลัวตนเองจะเสียชีวิต
  •   ตัวชา ควบคุมตัวเองไม่ได้ รู้สึกอยู่คนเดียวไม่ได้

เมื่อมีลักษณะอาการดังที่กล่าวมาข้างต้น และสงสัยว่าอาจเป็นโรคแพนิค สิ่งที่ควรทำคือการไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด แม้ว่าโรคแพนิคจะไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่อาการของโรคนั้นไปสัมพันธ์คล้ายคลึงกับปัญหาสุขภาพร้ายแรงอื่นๆ ได้ด้วย เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคระบบหลอดเลือดหัวใจ และหัวใจวายเฉียบพลัน ซึ่งอันตรายมาก

โรคแพนิคส่งต่อผลร่างกายหรือไม่

ด้วยโรคแพนิค เป็นโรคที่เกิดจากการวิตกกังวล หรือเป็นโรคที่เกิดขึ้นกับจิตใจ ดังนั้นจึงไม่มีผลต่อร่างกาย เพียงแต่เมื่อมีอาการแพนิค ร่างกายจะมีปฏิกิริยาต่าง ๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเป็นได้หลากหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น อาการใจสั่น หัวใจเต้นแรง แน่นหน้าอก หายใจหอบ มือไม้สั่น ปั่นป่วนในท้อง เป็นต้น

 ขั้นตอนการรักษาโรคแพนิค

โรคแพนิค (Panic disorder)ไม่ได้เป็นโรคร้ายแรง หรือทำให้มีอันตรายถึงชีวิต แต่ทำให้เกิดความกังวลกับผู้ที่เป็น ถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี จะทำให้อาการแพนิคน้อยลง สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ การรักษาประกอบด้วยจิตบำบัดและการรักษาด้วยยา โดยการรักษาแต่ละวิธีจะขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ป่วย ประวัติการรักษา ความรุนแรงของโรค และความพร้อมในการเข้ารับการรักษา ซึ่งวิธีรักษาโรคแพนิค แบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ 

1.การรักษาด้วยจิตบำบัด

วิธีจิตบำบัดที่ใช้รักษาโรคแพนิคคือการบำบัดความคิดและพฤติกรรม  เช่น การฝึกสมาธิ การฝึกคลายกล้ามเนื้อในผู้ป่วยที่มีอาการปวดศีรษะ และรู้เท่าทันอารมณ์ของตน วิธีนี้จะช่วยรักษาอาการแพนิคได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยผู้ป่วยจะเข้าใจอาการโรคแพนิคได้ดีมากขึ้น รวมทั้งเรียนรู้วิธีที่จะรับมือกับอาการป่วยของตนเอง

ซึ่งการบำบัดความคิดและพฤติกรรม นอกจากจะช่วยผู้ป่วยรับมือกับอาการแพนิคได้แล้ว ยังช่วยรักษาพฤติกรรมหลีกเลี่ยงสถานที่หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ผู้ป่วยคาดว่าทำให้เกิดอาการแพนิคได้อีกด้วย

2.การรักษาด้วยยา

 ผู้ป่วยโรคนี้ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาทในสมอง ดังนั้นการรับประทานยา เพื่อไปปรับสมดุลของสารสื่อประสาทในสมองจึงมีความจำเป็น ซึ่งยาที่ใช้ในการรักษาประกอบด้วยยาต้านซึมเศร้า กลุ่มยาเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines) และยากันชัก 

ซึ่งผู้ป่วยที่รักษาโดยการใช้ยาจะอาการดีขึ้นอย่างชัดเจนภายหลังการรักษาประมาณ 6-8 สัปดาห์ และการใช้ยาจะต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ซึ่งการรักษาด้วยยานั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรคด้วย จากการศึกษาพบว่า ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ที่เป็นโรคนี้ สามารถหายขาดได้

ดังนั้น การรักษาโรคแพนิคนั้นควรรักษาทั้งสองด้านควบคู่กันไป โดยจากการศึกษาวิจัยพบว่าการรักษาด้วยยาควบคู่ไปกับการรักษาทางด้านจิตใจ เป็นวิธีการรักษาที่ได้ผลลัพธ์ดีที่สุด

ถ้ารู้ว่าตัวเองเป็นโรคแพนิคปฏิบัติตัวอย่างไร

ถ้าเป็นโรคแพนิคแล้ว ปล่อยไว้ย่อมไม่เกิดผลดีแน่! เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องปฏิบัติตัวอันดับแรกคือ หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพจิตใจตัวเองตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้จิตใจแจ่มใส ห่างไกล “โรคแพนิค” ด้วยวิธีง่าย ๆ ที่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง ดังนี้

  1. นั่งสมาธิ ฝึกการหายใจเข้าออกลึก ๆ ช้า ๆ  เพื่อควบคุมสติ เป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยผ่อนคลายความเครียด ลดอาการแพนิคลงได้
  2. ทำกิจกรรมที่ช่วยให้ผ่อนคลาย เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ปลูกต้นไม้ ทำอาหาร
  3. พักผ่อนให้เพียงพอ นอนเป็นเวลา เพราะหากอดหลับอดนอน จะทำให้อาการกำเริบได้
  4. หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ขณะออกกำลังกาย ร่างกายจะหลั่งสารแห่งความสุข ที่ชื่อว่า “Endorphin” ซึ่งจะทำให้เราอารมณ์ดี ช่วยลดอาการเครียด แพนิคได้เป็นอย่างดี
  5. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบถ้วน
  6. งดการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา เครื่องดื่มชูกำลัง เพราะคาเฟอีนมีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาท อาจทำให้เกิดอาการใจหวิว ใจสั่น หรืออาการกำเริบได้
  7. ฝึกมองโลกในแง่บวกให้เป็นนิสัย
  8. ไม่ใช้ชีวิตประจำวันด้วยความเร่งรีบ
  9. ไม่ใช้เวลาอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือมากเกินไป
  10. เข้ารับการรักษาจากแพทย์อย่างต่อเนื่อง ไม่ควรซื้อยาทานเองเด็ดขาด

โรคแพนิครักษาให้หายได้ไหม

ที่สำคัญสุด ๆ คือ ถ้ารู้ตัวว่าเป็นโรคแพนิค ให้รีบทำการรักษาโดยเร็วที่สุด  เพราะถ้าเราปล่อยให้อาการเหล่านี้เกิดขึ้นบ่อย ๆ อาจจะร้ายแรงจนถึงขั้นหัวใจวายฉับพลัน จนเสียชีวิตได้ 

สำหรับวิธีการรักษานั้นจะเน้นไปที่การรักษาด้วยยา ควบคู่ไปกับการบำบัด สำหรับใครที่เริ่มเป็นโรคแพนิคในระยะเริ่มต้นสามารถรักษาให้หายขาดได้ ส่วนคนที่มีอาการของโรคแพนิคมานานก็อาจจะใช้เวลารักษากันนานหน่อย ร่างกายจะค่อย ๆ ปรับตัว อาการต่าง ๆ จะดีขึ้น และหายไปเอง

หรือถ้าใครอยากปรึกษาจิตแพทย์ก่อน สามารถปรึกษาได้ผ่านแอป BeDee ที่พร้อมดูแลคุณ ทุกที่ ทุกเวลา ด้วยฟีเจอร์ที่ครบครัน ไม่ว่าจะเป็น ปรึกษาหมอ ปรึกษาเภสัชกร นอกจากนี้ยังสามารถช้อปสินค้าสุขภาพง่าย ๆ ผ่านแอปง่าย ๆ อีกด้วย

เนื่องจากโรคแพนิคนั้นเป็นโรคเกี่ยวกับความวิตกกังวล หรือก็คือเป็นโรคที่เกี่ยวกับจิตใจ ทั้งยังมีด้วยกันหลากหลายประเภท ซึ่งมักจะมีคำถามที่พบบ่อย ๆ ดังนี้

 โรคแพนิคกับโรคซึมเศร้าเหมือนกันไหม

โรคแพนิคกับโรคซึมเศร้าไม่เหมือนกัน โดยโรคแพนิค เป็นโรคที่อยู่ในกลุ่มของอารมณ์กลัว จะเป็นความรู้สึกตื่นตระหนกหรือหวาดกลัวอย่างรุนแรงและสามารถเกิดขึ้นโดยทันที บางครั้งไม่มีสัญญาณเตือน อาการที่เกิดขึ้นจะมีใจสั่น แน่นหน้าอก หายใจถี่ หายใจขัด เวียนหัว รู้สึกโคลงเคลงคล้ายจะเป็นลม รู้สึกไม่สามารถควบคุมอะไรได้ และมีความรู้สึกกลัวทุกอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘กลัวตาย’

ส่วนโรคซึมเศร้า จะเป็นโรคที่อยู่ในอารมณ์เศร้า หรือในบางคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยรุ่น จะเป็นอารมณ์หงุดหงิด อารมณ์นี้จะเกิดขึ้นเกือบทุกวันและเกือบตลอดทั้งวัน ความเพลิดเพลินใจในสิ่งที่เคยชอบก็จะลดน้อยถอยลง การกินและการนอนเปลี่ยนไป รู้สึกไม่มีเรี่ยวแรง และก็จะรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า

โรคแพนิคกับโรคกลัวที่สาธารณะต่างกันไหม

เพื่อจะให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น เราจะต้องทำความเข้าใจโรคแพนิค กับการกลัวที่สาธารณะเสียก่อน

โรคแพนิก (Panic Disorder) คือโรคที่เกิดความวิตกกังวลโดยไม่มีสาเหตุ ทำให้ควบคุมตัวเองไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น การกลัวความตายจากการเจ็บป่วย ซึ่งมักจะเกิดการตื่นกลัวมากเกินไป ซึ่งการที่มีการคิดถึงเรื่องเดิมซ้ำ ๆ จะทำให้เกิดความเครียด ซึ่งจะส่งผลให้เกิดอาการวิตกกังวล อาการแพนิคต่าง ๆ ก็จะตามมา ซึ่งถ้าอาการของโรคแพนิกเกิดขึ้นเป็นเวลานาน อาจนำไปสู่โรคซึมเศร้าได้


โรคกลัวสังคม (Social Phobia) คือโรควิตกกังวลอย่างหนึ่งเมื่อต้องไปอยู่ในสถานที่ ที่มีคนอยู่เยอะ แล้วคิดว่ามีคนคอยจับตาดูตัวเองอยู่ ทำให้กลัวว่าตัวเองจะทำอะไรที่น่าอาย หรือความรู้สึกอื่น ๆ ที่เป็นแง่ลบแก่ตัวเอง ซึ่งมันจะส่งผลถึงการใช้ชีวิตประจำวันได้ ซึ่งโดยมากแล้วอาการนี้มักจะมีสาเหตุเกิดมาจากหลากหลายปัจจัย ทั้งการเลี้ยงดูในวัยเด็ก ระบบการทำงานของสมอง พันธุกรรม เป็นต้น

ซึ่งหลายคนอาจจะเข้าใจผิดว่าเป็นโรคแพนิค แต่จริง ๆ แล้ว ผู้ที่ป่วยเป็นโรคกลัวสังคม เนื่องจากอาการที่แสดงออกมีความคล้ายกันอย่างมาก แต่สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการนั้นแตกต่างกัน