การเมตตาตนเอง ?

การเมตตาตนเอง (Self Compassion)

โลกที่พัฒนาไปอย่ารวดเร็วจนเกิดนวัตกรรมต่างๆ ที่เป็นสิ่งยืนยันว่ามนุษย์มีความสามารถมากล้น อีกทั้งโลกออนไลน์ก็ยังเป็นพื้นที่แสดงความภาคภูมิใจในสิ่งที่ใครหลายคนประสบความสำเร็จตรงข้ามกลับมีคนไม่มากนักที่จะเล่าเรื่องราวที่ตนผิดพลาดหรือไม่สมหวัง เว้นแต่ในวันที่ความรู้สึกทุกข์ใจมันมากล้นจนต้องบอกกับใครสักคนไม่ว่าจะเป็นโลกจริงหรือโลกออนไลน์

สิ่งต่างๆ เหล่านี้หล่อหลอมเป็นความเชื่อต่อตนตนเองอย่างเข้มงวดว่า “ฉันต้องสมบูรณ์”  “ความผิดพลาดเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น”  “ผู้คนและโลกใบนี้ต่างชื่นชมยินดีกับคนที่สำเร็จ”

ทำให้เมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้นเรามีแนวโน้มที่จะ “กล่าวโทษ” เพราะผิดความความคาดหวังหรือกฎที่ตนวาดไว้กับการใช้ชีวิต ซึ่งการกล่าวโทษนี้เกิดขึ้นได้ทั้งกับคนอื่นและตนเอง การกล่าวโทษนี้ไม่ได้เกิดจากความรู้สึกเกลียดชังแต่เป็นความรู้สึกผิดหวัง

เมื่อกล่าวโทษคนอื่นที่ทำผิดพลาด อาจได้นำไปสู่การแก้ไข เริ่มการรับฟังการอธิบาย และการเปิดใจรับฟังเมื่อภาวะอารมณ์สงบ การกล่าวโทษผู้อื่นค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปเป็นหัวใจที่เข้าถึงที่มาของความผิดและมีความสามารถเห็นอกเห็นใจผู้อื่นได้

แตกต่างจากความผิดหวังกับตนเองที่ได้ทำสิ่งผิดพลาดจากกฎของความสมบูรณ์แบบโดยไม่มีโอกาสให้ตนเองได้ยอมรับ และอธิบายที่มาของความผิดพลาดนั้นในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ส่งผลให้เกิดภาวะอารมณ์ลบต่อตนเองกระทบกับความสามารถในการไปสู่ความสำเร็จและสมบูรณ์ที่ตั้งเอาไว้กลายเป็นวงจรของ “ผู้แพ้”

เพื่อความยุติธรรมโปรดเห็นอกเห็นใจตัวฉันให้ได้เท่าเทียมกับการเห็นอกเห็นใจคนอื่น

เพื่อความยุติธรรมโปรดใจดีกับตนเองทั้งในวันที่สมหวังและผิดพลาด

ความเมตตาต่อตนเอง จึงมีส่วนสำคัญในการช่วยให้เราก้าวผ่านเรื่องราวซับซ้อนเหล่านี้ โดยความเมตตาต่อตนเองไม่ใช่ความพยายามในการมองหามุมบวก คิดหรือพูดสิ่งดีๆ กับตนเอง แต่เป็นการกลับมามองตนเองอย่างอ่อนโยนและตรงไปตรงมาถึงธรรมชาติของมนุษย์ผู้มีความบกพร่องและผิดพลาดเป็นเพื่อนร่วมชีวิต อยู่กับสภาวะสุขกับสิ่งที่สำเร็จไปพร้อมกับการยอมรับสภาวะทุกข์เมื่อผิดพลาดและให้ความเห็นกับสิ่งเหล่านั้นอย่างเป็นกลางลดการตีตรา รวมถึงการตระหนักอยู่เสมอว่า “สภาวะสุขและทุกข์นี้อยู่กับเราไม่นาน” “ความสำเร็จและผิดหวังเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราเท่านั้น” “แม้อดีตหลายอย่างจะส่งผลถึงปัจจุบันและอนาคตแต่ไม่มีสิ่งใดสัมพันธ์กันอย่างเข้มงวดโดยสิ้นเชิง”

การฝึกทักษะเพื่อให้เกิด “ปัจจุบันขณะ” จึงมีส่วนสำคัญให้เกิดการเมตตากับตนเอง อาจให้เทคนิคต่างๆเพื่อช่วยให้เกิดสภาวะปัจจุบัน

การผ่อนคลายอารมณ์ผ่านประสาทสัมผัส (Grounding Exercises)  โดยเริ่มจากการสำรวจสิ่งต่างๆรอบตัวผ่านผัสสะทั้งห้าโดยละวางการเชื่อมโยงและตัดสิน รับรู้เพียงสิ่งที่เกิดขึ้นมากกว่าการตีความด้วยประสบการณ์เดิมและความคาดเดาไปในอนาคต

การรู้เท่าทันและฝึกหายใจ (Breathing Exercises) โดยไม่รีบเร่ง บังคับ หรือพยายามมากเกินไป เริ่มจากสังเกตลมหายใจที่กระชากแรงจากความโกรธ การถอนหายใจจากความรู้สึกผิดหวัง จากนั้นค่อยประคองลมหายใจในจังหวะนั้นไปสู่ลมหายใจที่สงบเริ่มจากสร้างทิศทางของลมหายใจให้เข้าทางจมูก ออกทางปากเพื่อเกิดความผ่อนคลาย และค่อยให้ลมหายใจยาวขึ้นเพื่อสัมผัสกับภาวะของปัจจุบัน

และการใช้ประโยคสื่อสารกับตนเอง (Positive Self-talk) เพื่อช่วยให้เกิดสติรู้เท่าทันชะลอการกล่าวโทษตนเองให้ช้าลงและลดวงจรการกล่าวโทษและตีตราตนเอง โดยเป็นประโยคของตัวเองถึงตนเองตามความเป็นจริง ละการใช้คำนิเสธ อาทิ “ไม่ อย่า ห้าม” ใช้คำสามัญทั่วไปที่ใช้ในชีวิตประจำวันและน้ำเสียงที่คุ้นเคย

การเมตตาต่อตนเอง ตรงกับข้ามกับการกล่าวโทษ ในขณะเดียวกันก็ตรงข้ามกับการตามใจตนเอง เพราะการเมตตาต่อตนเองคือการให้โอกาสตนเองสัมผัสความรู้สึกที่แท้จริงและยอมรับธรรมชาติในความสมบูรณ์และผิดพลาดของความเป็นมนุษย์

นรพันธ์ ทองเชื่อม

นักจิตวิทยาและที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิตเลิฟแคร์สเตชัน