วิธีทำแท้งที่ปลอดภัย

1)การดูดเนื้อรกจากโพรงมดลูก (Manual Vacuum Aspiration: MVA)
วิธีการนี้สามารถทำได้จนถึงอายุครรภ์ประมาณ 10-12 สัปดาห์ อุปกรณ์ที่ใช้งานดังกล่าว มีลักษณะเป็นหลอดพลาสติกขนาดต่างๆ ประกอบคู่กับกระบอกดูดสุญญากาศ เมื่อแพทย์สอดหลอดพลาสติกเข้าไปในโพรงมดลูก สามารถดูดชิ้นเนื้อออกจากโพรงมดลูกได้
ซึ่งสามารถทำให้เกิดการแท้งสมบูรณ์ได้เกือบร้อยละ 100

ในประเทศไทยมีความพยายามที่ยกเลิกวิธียุติการตั้งครรภ์ด้วยการขูดมดลูก (D&C: Dilatation and Curettage หรือ การใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อนำเอาเนื้อเยื่อของมดลูกออกมา) และแทนที่ด้วยวิธีการดูดเนื้อรกจากโพรงมดลูก (MVA) โดยกระทรวงสาธารณสุข และ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ได้การจัดอบรมสูตินรีแพทย์ให้มีทักษะในการใช้ MVA อย่างกว้างขวาง ปัจจุบัน สถานพยาบาลทั้งภาครัฐ และเอกชนที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ จะใช้วิธีการนี้ในการยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งสามารถให้บริการได้โดยไม่ต้องมีการพักค้างคืน

2)การใช้ยาทำแท้ง
ยาที่ใช้กันในปัจจุบันและได้รับการยอมรับโดยองค์การอนามัยโลก คือ Mifepristone (หรือที่รู้จักกันในชื่อ RU486) และ Misoprostol (หรือที่รู้จักกันในชื่อการค้า Cytotec) ในประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข
ยังไม่มีการขึ้นทะเบียน Mifepristone ส่วน Misoprostol เป็นยาควบคุมพิเศษ ที่ให้แพทย์เป็นผู้สั่งและผู้บริหารการใช้ยาเท่านั้น

วิธีการทำแท้งด้วยยา แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
1.1การใช้ยา Mifepristone (RU486) ร่วมกับ Misoprostol
ในช่วงอายุครรภ์ก่อน 9 สัปดาห์ ประเทศไทยได้มีการนำวิธีการใช้ยาร่วมนี้ มาให้บริการนำร่องในโรงพยาบาล เพื่อกำหนดแนวทางในการให้บริการที่เหมาะสมมาตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งพบว่าเกิดการแท้งสมบูรณ์ถึงร้อยละ 97.0

1.2การใช้ยา Misoprostol เพียงอย่างเดียว
ในกรณีที่อายุครรภ์อยู่ในช่วง 12-20 สัปดาห์ สามารถทำให้เกิดการแท้งสมบูรณ์ได้มากกว่าร้อยละ 80 ขึ้นไป วิธีการนี้มีข้อกำหนดให้ใช้ในโรงพยาบาลสำหรับสตรีตั้งครรภ์ที่รับไว้รักษาในโรงพยาบาลเท่านั้น

ด้วยเหตุที่ยายุติการตั้งครรภ์ทั้งสองชนิด ซื้อหาได้ค่อนข้างยากในประเทศไทย แต่ความต้องการกลับมีมาก เนื่องจากข้อจำกัดของระบบบริการที่เป็นมิตรและเข้าถึงได้สำหรับผู้หญิงที่ประสบปัญหาท้องไม่พร้อมที่เลือกยุติการตั้งครรภ์ ทำให้ยาทั้งสองชนิดกลับเข้าไปอยู่ในตลาดมืด มีการขายกันในอินเทอร์เน็ตอย่างกว้างขวางโดยมีความเสี่ยงว่ายาที่สั่งซื้อนั้นเป็นยาจริงหรือยาปลอม และขนาดของยา (dosage) สอดคล้องกับอายุครรภ์หรือไม่ และสามารถทำให้เกิดการแท้งอย่างสมบูรณ์ได้หรือไม่