ผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

ผลกระทบด้านสุขภาพ
  • การตั้งครรภ์ขณะที่ร่างกายยังเติบโตไม่เต็มที่ ส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากภาวะครรภ์เป็นพิษ โลหิตจาง ภาวะตกเลือดหลังคลอด เยื่อบุมดลูกอักเสบ ตลอดจนการเสียชีวิตจากการคลอดบุตร อาการแทรกซ้อนจากการ ยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย เป็นต้น
  • ทารกที่เกิดจากแม่วัยรุ่น มักมีน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ
  • อัตราการเสียชีวิตของทารกในครรภ์และเด็กแรกเกิดจากแม่วัยรุ่นมีจำนวนมากกว่าแม่อายุระหว่าง20-29ปีถึงร้อยละ50
  • ในระยะยาวพบว่าเด็กที่เกิดจากแม่วัยรุ่นมีแนวโน้มถูกเลี้ยงดูอย่างไม่สอดคล้องกับพัฒนาการและมีภาวะทุพโภชนาการ
ผลกระทบด้านจิตใจ
  • มีความเสี่ยงต่อภาวะความเครียดและโรคซึมเศร้าสูง เนื่องจากมักขาดการเตรียมตัวเพื่อมีภาระครอบครัว
ผลกระทบด้านการศึกษา
  • อัตราการออกจากโรงเรียนกลางคันเพราะการสมรสมีสูงถึงร้อยละ 14 หรือ 19,178 คนในจำนวน 135,342 คนต่อปี เป็นข้อมูลเฉพาะสถานศึกษาของรัฐในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ยังไม่รวมข้อมูลจากสถานศึกษาภาคเอกชน อาชีวศึกษา และสถานศึกษาบางประเภท
ผลกระทบด้านครอบครัวและการดำรงชีพ
  • เนื่องจากผู้ปกครองนิยมแก้ปัญหาด้วยการให้นักเรียนที่ตั้งครรภ์ลาออกจากโรงเรียนและให้แต่งงานเพื่อสร้างครอบครัว และลดแรงเสียดทานจากสังคมที่ตีตรา ส่งผลต่อเนื่องให้ชีวิตครอบครัวของวัยรุ่นที่ไม่มีความพร้อมมักประสบปัญหาในการดำเนินชีวิต และการเลี้ยงดูบุตร
  • สืบเนื่องจากมีระดับการศึกษาต่ำ ส่งผลให้ไม่สามารถหางานที่มีรายได้เพียงพอให้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัวอย่างมีคุณภาพ และมักไม่ได้รับความช่วยเหลือหรือร่วมรับผิดชอบจากฝ่ายชาย ตลอดจนครอบครัวและเครือญาติอันเนื่องมาจากการตีตราทางสังคม
ผลกระทบต่อสังคม/ประเทศโดยรวม
  • ยังไม่มีการศึกษาของไทยที่สะท้อนถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมจากสถานการณ์ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
  • มีรายงานของธนาคารโลกที่ศึกษา “ต้นทุนการเสียโอกาส” ที่เกิดจากการตั้งครรภ์และออกจากโรงเรียนกลางคันของวัยรุ่น พบว่ามีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างมหาศาล ยกตัวอย่างประเทศบราซิลซึ่งมีระดับการพัฒนาประเทศคล้ายคลึงประเทศไทย พบว่าบราซิลจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้นอีก 3.5 พันล้านเหรียญหากหญิงวัยรุ่นทุกคน ไม่ประสบปัญหาตั้งครรภ์ก่อนอายุ 20ปี
  • ยิ่งมีเด็กหญิง/วัยรุ่นตั้งครรภ์จำนวนมาก ต้นทุนการเสียโอกาสทางเศรษฐกิจจะยิ่งส่งผลกระทบต่อชุมชน และประเทศมากกว่าต่อตัวบุคคล อีกทั้งต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ประเทศต้องสูญเสียในการดูแลแม่และเด็กในกลุ่ม นับว่ามีมูลค่าไม่น้อย ยกตัวอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา ในปึ พ.ศ. 2551 พบว่าเกิดต้นทุนค่าใช้จ่ายประมาณ 11 พันล้านเหรียญต่อปี เพื่อรองรับการดูแลสุขภาพและคุณภาพชีวิตของแม่และเด็กในกลุ่มนี้
ขอขอบคุณข้อมูล :
กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย 2557