นักข่าวมาสัมภาษณ์เรื่องทำแท้ง

เมื่อราว ๒ สัปดาห์ที่แล้ว มีนักข่าวมาติดต่อขอสัมภาษณ์ผมเรื่องการแท้ง”>ทำแท้ง ผมไม่ได้ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ เพราะเรื่องแบบนี้ ต้องไตร่ตรองก่อนพูด และหากพูดผิดพลั้งไปก็จะก่อให้เกิดผลเสียหายได้ จึงขอให่ส่งคำถามมาทาง e mail แล้วจะตอบให้

ครั้นเมื่อเขาได้ลงข่าวไปแล้ว ผมจึงเอาบทสัมภาษณ์ที่ผมบรรจงตอบลงไปนั้น มาเก็บไว้ในนี้ เพื่อเตือนความจำ

เรียน ผศ.นพ.ธนพันธ์ ชูบุญ

ดิฉัน …… ผู้สื่อข่าวไทยรัฐออนไลน์ ที่ติดต่อ อ.เพื่อขอสัมภาษณ์ ประเด็น การทำแท้ง รวมถึงการวางแผนครอบครัวในกรณีที่ผู้ท้องยังไม่พร้อม ซึ่งอยากขอความรู้ อ. รวมถึงความคิดเห็นค่ะ ดังนี้

1) การทำแท้ง หรือยุติการตั้งครรภ์ ตอนนี้ภาพรวมในประเทศไทยเป็นอย่างไรบ้าง

ผมขออธิบายเป็น ๒ กรณีครับ

กรณีแรก ขณะนี้ผมคิดว่าผู้หญิงที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์ สามารถเข้าถึงบริการที่ผิดกฎหมายได้อย่างง่ายดาย มีการซื้อขายยาที่ใช้ในการยุติการตั้งครรภ์ทางอินเตอร์เน็ตและนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย มีทั้งใช้ถูกและผิดวิธี ยาที่ใช้เราก็ไม่ทราบว่าของจริงหรือของปลอม ราคาก็แพงมาก บางครั้งมีการซื้อขายกันในราคาสูง 3000-5000 บาท หลายๆครั้งการยุติการตั้งครรภ์ก่อให้เกิดอันตราย มีการใช้ยาเกินขนาด

ส่วนในกรณีที่ 2 คือการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ ที่มีบริการในคลินิก หรือในโรงพยาบาล โดยมีมาตรฐานตามที่แพทยสภาได้กำหนดเอาไว้ บริการที่ว่านี้ยังไม่แพร่หลาย เพราะแพทย์ไทยส่วนมากยังไม่ยอมรับว่า การยุติการตั้งครรภ์นั้นเป็นการรักษาโรค หลายคนรู้สึกกลัวบาป หรือมีความเชื่อเรื่องเกี่ยวกับกฎแห่งกรรม ท้ายที่สุด การเข้าถึงบริการก็ยังทำได้ยากอยู่ครับ และเมื่อเข้าไม่ถึงบริการ ผู้หญิงก็จะไปหาบริการที่ผิดกฎหมาย อันก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายและชีวิต ทุกวันนี้ ประเทศเรายังมีผู้หญิงเสียชีวิตจากการทำแท้งเถื่อนอยู่

ต่างกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่ผู้หญิงสามารถเข้าถึงบริการได้จากบริการในภาครัฐ การยุติการตั้งครรภ์มีข้อจำกัดน้อยมาก เพราะเขาให้เกียรติในการตัดสินใจของประชาชน โดยเฉพาะผู้หญิง ซึ่งเป็นเจ้าของร่างกาย ทำให้แทบจะไม่มีการเสียชีวิตจากการทำแท้งอย่างผิดกฎหมายมานานมากแล้ว

อย่างไรก็ตาม ผมรู้สึกว่า การให้บริการยุติการตั้งครรภ์ในสมัยนี้นั้นเป็นที่ยอมรับและเข้าในจากสังคมมากขึ้นครับ หมอหลายคนก็ให้บริการอย่างดีมีมาตรฐาน โรงเรียนแพทย์เริ่มสอนนักศึกษาแพทย์รุ่นใหม่ๆ ให้เข้าใจถึงเหตุและปัจจัยของคนที่ตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ สามารถวิเคราะห์ถึงความไม่พร้อมของผู้หญิงและครอบครัวได้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน

2) อาจารย์คิดว่า การทำแท้งจะสมเหตุสมเหตุ จะต้องมีสาเหตุมาจากอะไร

ถ้าถามผม ผมคิดว่าความสมเหตุสมผลของคนเรามีไม่เท่ากัน ถ้ามองในมุมมองของคนอื่นที่ไม่มีปัญหาจากการตั้งครรภ์ เขาก็มักจะมองไม่เห็นเหตุจำเป็น แต่หากมองในมุมมองของคนที่ท้องไม่พร้อม เขาก็มีเหตุผลมากมายก่ายกองที่จะขอรับบริการทำแท้ง ในฐานะของแพทย์ผู้ให้บริการทางสุขภาพ เราไม่มีหน้าที่ที่จะไปตัดสินใจแทนใคร ว่าเขาควรจะทำแท้งหรือไม่ แต่เราควรทำหน้าที่ในการให้บริการโดยยึดถือประโยชน์ของผู้รับบริการเป็นสำคัญ เป็นต้นว่า การเป็นผู้รับฟังปัญหาและร่วมกันหาทางออกที่เหมาะสมกับผู้มาขอรับบริการเป็นรายๆไป

3) การยุติการตั้งครรภ์ โดยมองไปถึงการปัญหาสังคมที่จะเกิดในอนาคต เช่น ครอบครัวไม่อบอุ่น ลูกจะได้รับการเลี้ยงที่ไม่ดี เพราะพ่อแม่ไม่พร้อม เป็นเหตุผลที่ควรพิจารณาหรือไม่

คำตอบในข้อนี้ ผมมีข้อมูลจากการศึกษาวิจัยในต่างประเทศส่วนใหญ่ ที่พบว่า เด็กที่เกิดจากครอบครัวที่ไม่มีความพร้อม หรือเป็นการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ จะเป็นคนที่สร้างปัญหาให้สังคมได้มากกว่าเด็กที่พ่อแม่ต้องการจริงๆครับ อีกทั้ง ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ในขณะที่ยังไม่มีความพร้อม มักจะจบการศึกษาที่ต่ำกว่า มีฐานะทางสังคมต่ำกว่า มีภาวะต้องพึ่งพิงสูงกว่า โดยรวมแล้ว การให้ตั้งท้องต่อไปโดยที่ไม่มีความพร้อมก่อให้เกิดปัญหามากกว่าครับ

4) มีเคสที่เข้าปรึกษา อ.หรือไม่ อย่างไร และ อ.ให้คำแนะนำไปอย่างไร

มีมากมายครับ ดังที่ได้อธิบายด้านบนมาแล้ว

5) การยุติการตั้งครรภ์ เป็นเหมือนการแก้ปัญหาปลายเหตุ อ.มีวิธีแนะนำอย่างไร ให้เกิดการป้องกัน และไม่นำไปสู่การยุติการตั้งครรภ์

อย่าลืมว่า เราพยายามตั้งหลากหลายวิธีในการส่งเสริม ป้องกันไม่ให้เกิดการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร หรือตั้งครรภ์ในขณะที่ยังไม่มีความพร้อม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ยังไม่สามารถป้องกันได้จริงๆ ดังนั้น การให้บริการยุติการตั้งครรภ์จึงยังคงมีความจำเป็น ที่ว่าจำเป็นก็เพราะเราต้องรักษาร่างกายและชีวิตของผู้หญิงครับ ลองคิดดูนะครับ หากไม่มีบริการการยุติการตั้งครรภ์เลย ผู้หญิงจะทำอย่างไร ทำแท้งเถื่อน ติดเชื้อ มดลูกทะลุ ไส้ทะลุ ไตวาย ตับวาย หรือเสียชีวิต

ไอ้ที่บอกว่า ควรท้องต่อ เอาเด็กไปเลี้ยงที่สถานสงเคราะห์ ยกให้คนอื่น หรือสารพัดทางเลือกที่เราๆเคยเห็นมา มันไม่เคยแก้ปัญหาอะไรได้เลยจริงๆ สุดท้ายแล้ว ปัญหามันก็ตกลงมาที่สังคมอีกนั่นเอง

6) ข้อนี้ แล้วแต่อาจารย์จะตอบหรือไม่ค่ะ “ควรจะมีกฎหมายให้ทำแท้งเสรี หรือไม่ อย่างไร” ในมุมมองของอ.ค่ะ

ไม่มีคำว่า ทำแท้งเสรี ในประเทศที่ผู้หญิงสามารถเข้าถึงบริการครับ เพราะเมื่อมีบริการ คนก็จะเข้ามาขอรับการปรึกษา มีกระบวนการนั่งคุย นั่งวิเคราะห์ หาหนทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน รวมถึงการยุติการตั้งครรภ์ตามมาตรฐานทางการแพทย์ และการคุมกำเนิดให้อย่างเหมาะสม ผู้หญิงก็สามารถกลับเข้าสู่สังคมได้อย่างปกติต่อไป สร้างชีวิต สร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้ต่อไป

ต่างกับการไม่ส่งเสริมให้มีการเข้าถึงบริการ ผู้หญิงก็ต้องดิ้นรนที่จะทำแท้งต่อไป หลายๆครั้งเป็นการตัดสินใจทำแท้งในขณะที่อายุครรภ์มากแล้ว อย่างนี้ไม่ได้เรียกว่าทำแท้ง มันเป็นการทำให้ทารกเกิดก่อนกำหนด บางครั้งเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการทำแท้ง อย่างนี้สิที่เรียกว่า ทำแท้งเสรี

เอาเข้าจริงๆ ตอนนี้มันก็ทำแท้งเสรีกันอย่างสุดๆแล้วครับ เพราะหาซื้อยาได้ง่ายมากจากทางอินเตอร์เน็ต ไม่ดีเลยจริงๆ

7) ประเด็นๆ ที่อ.อยากเสริม เกี่ยวกับเรื่องนี้ค่ะ

ผมอยากให้มองผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์เป็นเสมือนหนึ่งผู้ป่วยครับ เขามีปัญหา มีความทุกข์ใจ อยากได้รับบริการทางการแพทย์อย่างเท่าเทียมกับการเป็นโรคอื่นๆ เราไม่ควรยอมให้เกิดการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการทำแท้งเถื่อนขึ้นในประเทศของเราครับ เพราะการตายของใครสักคนด้วยเรื่องง่ายๆแบบนี้ มันน่าสะท้อนใจเหลือเกิน ลองคิดดูนะครับ มีคนๆหนึ่งเสียชีวิต ใครจะได้รับผลกระทบจากการจากไปของเขาบ้าง ผมเชื่อว่า อย่างน้อยเขาก็มีพ่อแม่ที่รักเขาอย่างสุดหัวใจ บางคนมีลูกตัวเล็กๆ บางคนเป็นกำลังหลักของการดูแลครอบครัว การจากไปของเขาก่อให้เกิดผลกระทบแน่ๆครับ

ปัจจุบัน เมื่อเกิดกรณีทิ้งทารก สังคมมักจะยกปัญหาและความผิดไปให้ผู้หญิงเสียจนเป็นเรื่องปกติเสียแล้ว ข่าวแม่ใจยักษ์ แม่ใจมาร ที่ทอดทิ้งลูก ทำร้ายทารกแรกเกิดมีให้เห็นอยู่บ่อยๆ แต่ข่าวที่ประนามผู้ชายที่ทำให้เกิดการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์กลับไม่มี ผมคิดว่า มันถึงเวลาแล้ว ที่สังคมควรจะกลับมาพิจารณาถึงความจำเป็น ที่จะทำความเข้าใจกับเรื่องของการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ อย่างประเทศอื่นๆที่พัฒนาแล้ว และให้บริการเขาอย่างมีศักดิ์ศรีเฉกเช่นเพื่อนมนุษย์ด้วยกันครับ

ผศ.นพ.ธนพันธ์ ชูบุญ

โรงพยาบาลสงขลานครินทร์

บทสัมภาษณ์ของอาจารย์ จะส่งในเว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ในสัปดาห์หน้านะคะ

ขอบพระคุณอาจารย์มากๆ นะคะ

ที่มา : https://www.gotoknow.org/posts/579350