วันลอยกระทง วัยรุ่นไทย…ได้หรือเสียตัว?

ควัน(เสีย)หลง..ที่สังคมไม่อยากให้เกิด

          จากผลสำรวจของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เกี่ยวกับเทศกาลลอยกระทงในปี 2552 พบว่ากลุ่มตัวอย่างจำนวน 44.3 เปอร์เซ็นต์ เชื่อว่า ‘วันลอยกระทง‘ เป็นวันที่วัยรุ่นนิยมมีเพศสัมพันธ์กัน ถึงแม้ว่าตัวเลขนี้ จะเป็นเพียงความเห็นของกลุ่มตัวอย่างไม่กี่กลุ่ม แต่นั่นก็สะท้อนมุมมองของคนในสังคมไทยที่มีต่อวัยรุ่นได้ในระดับหนึ่ง

          แต่ถ้าเราเชื่อคำพังเพยโบร่ำโบราณที่ว่า ‘ไม่มีมูล หมาไม่ขี้‘ ตัวเลข 44.3 เปอร์เซ็นต์นี้ ก็นับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจยิ่ง

          และถ้าเราอยากค้นหาความจริง อะไรจะดีไปกว่า การถามไถ่เรื่องการมีเพศสัมพันธ์ในวันเทศกาล กับวัยรุ่นที่ตกเป็นจำเลย

          “คนจะมีอะไรกัน ไม่ต้องรอเทศกาลหรอกพี่ อยากจะมีเมื่อไหร่มันก็มีได้” นั่นคือคำตอบจาก เฟิร์ส-อนุสรณ์ พิริยานุพงศ์ หนุ่มหน้าเข้มจากสาขาวิชาการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่มีต่อข้อกล่าวหาว่า วัยรุ่นชอบมีอะไรกันในวันงานเทศกาล

          “จริงๆ โอกาสไหนก็ไปได้นะ แต่ว่าตอนเทศกาลนี่ ได้มาเจอกันไง ปกติมันต่างคนต่างเรียน ไม่ได้ออกมาข้างนอกเท่าไร อย่างงานลอยกระทง มันก็ลอยกันเป็นคู่ คนรักมาลอยด้วยกัน มันคล้ายกับแสดงให้เห็นว่า เรามาลอยด้วยกัน ใช้กระทงเดียวกัน เราเป็นคนรักกันแล้วนะ อะไรอย่างนั้น มันเริ่มจากกันนัดเจอกันลอยกระทง ตอนกลางคืนก็ถามกันแล้ว คืนนี้จะไปไหนกันต่อดี้”

          “มันเหมือนจะเป็นเรื่องปกติไปแล้ว เป็นวัฒนธรรมของวัยรุ่น ที่หลังจากการออกมาเจอกันตามเทศกาล ก็จะไปกินกันต่อ แล้วต่างคู่ก็ต่างแยกย้ายกันไปกันต่อ อาจจะเรียกว่าค่านิยมก็ได้”

          แต่กระนั้น การมาเจอกันในงานเทศกาล ก็ไม่ใช่โอกาสเดียว ที่จะนำพาไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ เพราะในความจริงแล้ว การหาโอกาสมาเจอกันของคนรักวัยหนุ่มสาวนั้น อาจจะไม่ต้องรอโอกาสที่เวียนมาปีละแค่ครั้งสองครั้งก็ได้

          มิพักต้องกล่าวถึงการมีอะไรกับคนรัก วัยรุ่นสมัยนี้ แม้ไม่ใช่คนรักที่รู้จักมักจี่ แต่ถ้าเกิด ต้องตาต้องใจกัน ก็อาจจะพากันไปร่วมสนุกชั่วคราวก็ได้

          “คนเที่ยวกลางคืนบ่อยๆ ก็น่าจะคล้ายๆ กันนะ เพราะได้มาเจอกันตอนกลางคืน ตอนเมาๆ มันเป็นไปได้พอๆ กัน สาวบางคนมากินเหล้าคนเดียว แต่ขากลับก็มีคนไปส่งซะอย่างนั้น ผมว่ามันได้เกี่ยวกับเทศกาลหรอก มันเป็นเรื่องโอกาสในการมาเจอกันมากกว่า”

          และเมื่อลองเลียบๆ เคียงๆ ถามหนุ่มเฟิร์ส ถึงอิทธิพลของพระจันทร์เต็มดวง ที่พวกฝรั่งเขาว่ากันว่า มันจะทำให้คนเราขาดความยั้งคิดเป็นพิเศษ เฟิร์สก็ถึงกับหัวเราะ และยืนยันว่า พระจันทร์เต็มดวงหรือไม่ก็ไม่น่าจะเกี่ยวกัน

          “แหม! คนจะทำอะไรกันต้องดูพระจันทร์ด้วย  เหรอ ไม่น่าจะเกี่ยวนะ คนมีอะไรกัน ก็น่าจะเพราะว่าอยากมีมากกว่า ผมว่าเหตุผลหลักๆ อีกอันเลยก็เพราะว่ามากินเหล้ากันนั่นแหละ แอลกอฮอล์ อาจทำให้คนหื่นขึ้น ครองสติไม่อยู่มากขึ้น ไอ้คนที่ทำอะไรแปลกๆ ไม่ใช่พระจันทร์หรอก แต่เพราะเมานั่นแหละ

          “อีกอย่าง คนที่มาอยู่หอ อยู่ไกลบ้านนี่มันมีโอกาสมากกว่านะ สมมติว่าพ่อแม่โทร.มาตอนที่อยู่กับเพศตรงข้าม ก็บอกเขาไปว่าอ่านหนังสืออยู่ที่หอก็มี พอมันไกลหูไกลตา ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง แล้วมันก็ขึ้นอยู่กับรูปแบบการเลี้ยงดูที่บ้านด้วย บางบ้านเขาก็ปล่อย ออกนอกบ้านไปไหนก็ได้ เด็กมันก็ไม่ได้อยากทำอะไรแหกกฎ แต่บางบ้านที่เขาเข้มงวด จะได้ออกก็แต่ตอนเทศกาล พอได้ออกมาทีก็อยากทำนู่นทำนี่ ลองทำในสิ่งไม่เคยทำ เพราะนานๆ ได้ออกมาที”

          เฟิร์ส บอกกับเราว่า เรื่องการมีเพศสัมพันธ์ ในวันเทศกาลนั้น อาจจะเรียกได้ว่าเป็นค่านิยม (ในทางที่ผิด) ของวัยรุ่นยุคนี้ไปเสียแล้ว เราก็เลยย้อนถามเฟิร์สว่า ตัวเฟิร์สเอง เคยลองทำตามค่านิยมนี้บ้างรึเปล่า

          “เคยไหม? (หัวเราะ) ผมบอกแล้วว่ามันเป็นค่านิยมของวัยรุ่น จะว่าไปก็ขึ้นอยู่กับโอกาสมากกว่า คนจะได้เสียกัน มันวันไหนก็ได้ เพียงแต่พวกงานเทศกาลนี่มันมีโอกาสให้ได้ไปด้วยกันตอนกลางคืนไง” หนุ่มน้อยหน้าเข้มสรุปให้เราฟังโดยที่ไม่ยอมตอบคำถาม

          หลังจากฟังความคิดเห็นของวัยรุ่นชายเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปแล้ว คงไม่เป็นการยุติธรรม ถ้าเราจะไม่เปิดโอกาสให้แก่วัยรุ่นหญิงออกมาแสดงทรรศนะเรื่องนี้บ้าง

          “มันเป็นเรื่องของโอกาสมากกว่า เมื่อมีงานรื่นเริง เด็กก็ออกไปเที่ยวกัน มีโอกาสไปต่อ ไปอะไรได้มาก นิสัยคนไทย ก็ชอบงานรื่นเริงอยู่แล้ว แต่จริงๆ มันก็ไม่ได้มีมากขนาดนั้นนะ แต่ข่าวทุกช่องพูดกัน แรกๆ วัยรุ่นอาจจะไม่ได้คิดอะไรมาก แต่พอได้ยินข่าวมากๆ เข้า ก็เลยเริ่มคิดที่จะตั้งหน้าตั้งตามีอะไรกันทันที มันเป็นอิทธิพลที่ส่งมานะ” ขวัญ-สุภัสสร ซึงถาวร นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ทรรศนะว่า การประโคมข่าวของสื่อในเรื่องนี้ อาจจะเป็นการชี้โพรงให้กระรอกไปในที

          “แต่มันก็ไม่เสมอไปนะ ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นทุกคน อย่างขวัญเองไม่ใช่คนที่ออกเที่ยว ตกเย็นมาเราก็ไม่ได้ไปไหน อย่างมากก็ไปชมรม แต่บางคน ตกกลางคืนก็ต้องออกเที่ยว มันไม่จำกัดว่าต้องมีงานเทศกาลอะไรด้วย ไม่ต้องรอให้ถึงเทศกาล

          “สภาพแวดล้อมคืออีกสิ่งที่สำคัญ เพราะถ้าเราอยู่บ้าน เราก็จะติดบ้าน แต่ถ้าออกมาอยู่หอ อยู่ไกลบ้านก็จะติดเพื่อน บางทีก็อาจจะเหงา และเที่ยวหนักขึ้น ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงมากขึ้น แต่ทั้งหมด สุดท้ายมันก็แล้วแต่คนอยู่ดี”

          แต่สิ่งที่ขวัญมองว่าเป็นประเด็นสำคัญนั้น กลับไม่ใช่เรื่องของจำนวนคนที่มามีอะไรกันในวันเทศกาล หากแต่ เธอเป็นห่วง เรื่องของความรู้ด้านเพศศึกษา ที่วัยรุ่นไทย คิดว่าตัวเองรู้ดี แต่แท้ที่จริงแล้วกลับไม่รู้อะไรเลย

          “การมีเพศสัมพันธ์ของคู่รักวัยรุ่น อาจจะเป็นสิ่งที่ห้ามกันไม่ได้ แต่ความรู้เรื่องของการป้องกันต่างๆ กลับไม่เป็นเรื่องที่พูดกันในวงกว้าง ความรู้เรื่องเพศสัมพันธ์ของเด็กวัยรุ่นสมัยนี้ เหมือนจะมีมาก แต่ความจริงแล้ว มันไม่มากอย่างที่คิดนะ การป้องกันที่ถูกต้องอาจจะไม่เกิดขึ้น อย่างเรื่องของยาคุมฉุกเฉินก็มีหลายคนที่ไม่รู้จัก บางทีก็อาจจะอายเภสัชกรไม่กล้าไปซื้อ คือบ้านเราอาจจะยังไม่เปิดในเรื่องนี้ และมีความเข้าใจผิดกันอยู่มาก ถ้าสมมติว่าเกิดพลาดพลั้งขึ้นมา ก็ไม่รู้จะหันหน้าไปหาใคร”

          สุดท้ายแล้ว การมีเพศสัมพันธ์ในวันไหน และมีจำนวนมากเท่าใด ก็อาจจะกลายมาเป็นเรื่องรอง ที่เอามาพูดกันและเดากันไปต่างๆ นานา ทว่า เรื่องหลักที่ควรจะสนใจกันจริงๆ กลับเป็นความรู้เกี่ยวกับการป้องกันหลังจากการมีเพศสัมพันธ์ของวัยรุ่นต่างหาก ที่สังคมบ้านเราควรจะพูดกันให้มากกว่านี้
มันมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้างจากปี 52-58 แอดมินฝากทุกคนเช็คที….
ขอบคุณข้อมูลต้นฉบับจาก : สสส​ (www.thaihealth.or.th )