เริมที่อวัยวะเพศคืออะไร?
โรคเริมที่เกิดบริเวณอวัยวะเพศ (Genital herpes) ถือเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยโรคนี้เกิดจากติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Herpes simplex viruses type 1 (HSV-1 หรือ เอชเอสวี-1) หรือ Herpes simplex viruses type 2 (HSV-2 หรือ เอชเอสวี-2) แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว เริมที่อวัยวะเพศจะเกิดจาก HSV-2 มากกว่า ส่วนการติดเชื้อ HSV-1 มักจะทำให้เกิดตุ่มน้ำใส หรือแผลที่บริเวณปากหรือริมฝีปากมากกว่าหรือเริมที่ปากนั่นเอง
ในผู้ที่ติดเชื้อเริมส่วนใหญ่อาจไม่มีอาการผิดปกติ หรือมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย ในกรณีที่มีอาการ สิ่งที่จะสังเกตได้คือ การมีตุ่มน้ำใสเกิดขึ้นที่บริเวณอวัยวะเพศหรือบริเวณทวารหนัก โดยอาจเกิดขึ้นอย่างน้อยหนึ่งตุ่มหรือมากกว่า และเมื่อตุ่มน้ำแตกก็จะเกิดเป็นแผลขึ้น อาการดังกล่าวมักจะเกิดร่วมกับอาการปวดแสบปวดร้อน ในกรณีที่เป็นโรคนี้ครั้งแรกอาการดังกล่าวอาจคงอยู่ได้นานถึง 2 – 4 สัปดาห์ หลังจากนั้นอาจมีอาการปรากฏขึ้นอีกครั้งในระยะเวลาหลายสัปดาห์หรือในหลายเดือนต่อมา แต่อาการที่ปรากฏในระยะหลังๆนี้จะมีความรุนแรงน้อยกว่า และหายเร็วกว่าที่เคยแสดงอาการในครั้งแรก
เชื้อไวรัสที่ก่อเริมนี้จะคงอยู่ในร่างกายของผู้ที่ติดเชื้อไปตลอด ถึงแม้จะไม่มีอาการใดๆเกิดขึ้นเลยก็ตาม อย่างไรก็ดี ความถี่ของการแสดงอาการของโรคจะน้อยลงเรื่อยๆเมื่อเวลาผ่านไปหลายๆปี
เริมที่อวัยวะเพศ
เริมที่อวัยวะเพศพบได้บ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ในสหรัฐอเมริกามีผู้คาดการณ์ว่า ในผู้หญิงอายุ 14 – 49 ปี จำนวน 5 คนจะมีผู้ที่เป็นเริม 1 คน ส่วนผู้ชายอายุ 14 – 49 ปี จำนวน 9 คนจะมีผู้ที่เป็นเริม 1 คน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าผู้หญิงติดโรคเริมจากผู้ชายที่เป็นเริมอยู่แล้วได้ง่ายกว่า ส่วนผู้ชายนั้นติดโรคเริมจากผู้หญิงที่เป็นเริมได้เช่นกันแต่จะติดยากกว่าในกรณีแรก
ที่ตุ่มน้ำและแผลของโรคเริมจะมีเชื้อไวรัส HSV-1 และ HSV-2 อยู่ และในบางครั้งอาจตรวจพบเชื้อในบริเวณผิวหนังที่ไม่มีแผลอีกด้วย การติดเชื้อเริม HSV-2 โดยทั่วไปเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นเริมบริเวณอวัยวะเพศ การติดต่อนี้เกิดขึ้นได้ทั้งขณะที่ผู้เป็นเริมมีตุ่มน้ำ หรือมีแผลปรากฏให้เห็นที่อวัยวะเพศหรือไม่มีก็ได้
การติดเชื้อ HSV-1 ส่วนใหญ่มักจะทำให้เกิดแผลหรือตุ่มน้ำใสที่บริเวณปากหรือริมฝีปากมากกว่าที่บริเวณอวัยวะเพศ อย่างไรก็ตามการติดเชื้อเริมชนิด HSV-1 สามารถเกิดที่อวัยวะเพศได้ โดยติดต่อขณะที่มีเพศสัมพันธ์ตามปกติ หรือการใช้ปากที่เป็นโรคสัมผัสกับอวัยวะเพศ
ผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัส HSV-2 ไม่มีโอกาสที่จะรู้ว่าตนเองติดโรคเริมจนกว่าจะมีอาการของโรค แสดงให้เห็น โดยทั่วไปอาการมักปรากฏภายหลังได้รับเชื้อประมาณสองสัปดาห์ (ระยะฟักตัวของโรค) ในผู้ที่ติดโรคเริมที่อวัยวะเพศและเกิดอาการครั้งแรก อาการที่ปรากฏมักเกิดขึ้นอย่างชัดเจนและรุนแรง และรอยโรคที่พบจะปรากฏอยู่นาน 2 – 4 สัปดาห์ โดยจะพบตุ่มน้ำใสและแผลเจ็บที่บริเวณอวัยวะเพศ นอกจากนี้ ผู้ติดโรคบางรายอาจมีไข้และมีต่อมน้ำเหลืองโตได้ โดยเฉพาะบริเวณขาหนีบ อย่างไรก็ตาม ผู้ติดเชื้อไวรัส HSV-2 ส่วนใหญ่มักจะไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อยจนกระทั่งในบางครั้งอาจไม่รู้ว่าตนเองเป็นโรค และในบางครั้งอาจเข้าใจผิดว่ารอยโรคที่เกิดขึ้นเกิดจากถูกแมลงกัดต่อยหรือเป็นโรคผิวหนังอื่นๆ
ในผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเริมครั้งแรก จะมีการกลับเป็นซ้ำของโรคอีกหลายๆครั้ง โดยส่วนใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ 4 – 5 ครั้งต่อปี และความถี่ของการเกิดเป็นซ้ำจะลดลงเรื่อยๆเมื่อเวลาผ่านไป
ในมารดาที่ตั้งครรภ์ การติดเชื้อเริมครั้งแรกสามารถทำให้ทารกในครรภ์เสียชีวิตได้โดยเฉพาะในช่วงท้ายของการตั้งครรภ์ หากมีรอยโรคของเริมที่อวัยวะเพศเกิดขึ้นขณะเจ็บครรภ์คลอด ควรคลอดบุตรโดยการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องเพื่อป้องกันการติดเชื้อไปสู่ทารก จากทารกสัมผัสเชื้อขณะคลอดผ่านอวัยวะเพศของมารดา อย่างไรก็ตาม ยังโชคดีที่ว่าการติดเชื้อไปสู่ทารกเกิดขึ้นค่อนข้างน้อย
ในผู้ที่เป็นโรคเอดส์ การที่มีรอยโรคของเริมอันได้แก่ ตุ่มหรือแผล จะส่งเสริมให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อเอดส์ได้ง่ายขึ้น ทำให้คู่นอนเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอดส์ได้ง่ายขึ้น และในผู้ที่เป็นโรคเอดส์ก็จะติดเชื้อเริมได้ง่ายเนื่องจากมีภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง และหากติดเชื้อเริมแล้วก็มักจะมีอาการของเริมเกิดขึ้นอย่างรุนแรง
อาการของการติดเชื้อ HSV-2 จะค่อนข้างแปรผันได้มากในแต่ละบุคคล ในบางครั้งแพทย์อาจวินิจฉัยโรคได้ง่ายจากการตรวจดูด้วยตาเปล่า โดยเฉพาะในกรณีรอยโรคที่พบค่อนข้างชัดเจน แต่ในบางครั้งแพทย์อาจต้องทำการตรวจเพิ่มเติมโดยการเก็บตัวอย่างจากรอยโรคที่พบและส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ส่วนการตรวจโรคโดยการตรวจเลือดของผู้ที่สงสัยเพื่อตรวจหาภูมิคุ้มกันต้านทานต่อเชื้อเริม มักไม่เป็นที่นิยมใช้ในการช่วยวินิจฉัยโรค ทั้งนี้เนื่องจากผลการตรวจอาจไม่ชัดเจน แต่ในบางครั้งก็สามารถช่วยในการวินิจฉัยโรคสำหรับผู้ป่วยบางรายได้
โรคเริมนั้นไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ การใช้ยาต้านไวรัสสามารถช่วยลดระยะเวลาที่เป็นโรคให้สั้นเข้าและยังช่วยยืดระยะเวลาในการกลับเป็นซ้ำให้ห่างออกได้อีกด้วยโดยเฉพาะในช่วงที่กำลังใช้ยา นอกจากนี้การใช้ยาต้านไวรัสทุกวันขณะยังมีแผลเริม ยังช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อเริมไปสู่คู่นอนได้อีกด้วย
ในขณะที่มีตุ่มน้ำใสหรือแผลบริเวณอวัยวะเพศ และไม่แน่ใจว่าเป็นเริมที่อวัยวะเพศหรือไม่ หรือเมื่อสงสัยเป็นโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะกรณีใดก็ตาม ควรรีบพบแพทย์เสมอ (เพราะโรคเหล่านี้ไม่สามารถรักษาให้หายด้วยตนเองได้ ถึงแม้อาการจะดีขึ้นก็ตาม มักกลายเป็นโรคเรื้อรังโดยไม่รู้ตัวเสมอ) หลังจากนั้นควรใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด
การดูแลตนเองขณะที่มีตุ่มหรือมีแผลบริเวณอวัยวะเพศทำได้ดังนี้
- ควรทำความสะอาดวันละ 2 ครั้ง โดยใช้สบู่อ่อนๆและน้ำสะอาดล้างเบาๆโดยไม่ต้องขัดหรือฟอก หลังจากนั้นซับให้แห้ง อาจทายาขี้ผึ้งปฏิชีวนะ (ยาปฏิชีวนะ) เฉพาะที่ตรงบริเวณรอยโรคเพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน
- ควรใส่ชุดชั้นในที่ทำจากผ้าฝ้าย เพราะระบายอากาศได้ดีกว่าจึงช่วยลดการอับชื้น
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างมีตุ่มหรือแผลเริม และอย่างน้อยสองสัปดาห์หลังจากที่แผลเริมหายดีแล้ว
- หากมีอาการปวดแสบปวดร้อนที่บริเวณรอยโรค อาจรับประทานยาแก้ปวดอะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) หรือที่เรารู้จักกันว่ายาพาราเซตามอล (Paracetamol) เพื่อบรรเทาอาการปวดที่เกิดขึ้น
การมีเพศสัมพันธ์เป็นช่องทางสำคัญในการติดโรคเริมที่อวัยวะเพศ ดังนั้นในผู้ที่ไม่มีเพศสัมพันธ์จึงไม่มีโอกาสติดโรคเริมที่อวัยวะเพศเลย
การมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนคนเดียวก็เป็นหนทางหนึ่งในการลดโอกาสในการติดเชื้อเริมที่อวัยวะเพศ
การใช้ถุงยางอนามัยชายก็สามารถช่วยลดโอกาสการติดเชื้อเริมได้ อย่างไรก็ตาม การสัมผัสบริเวณที่มีรอยโรคมีตุ่มน้ำหรือแผลที่เกิดจากเริม โดยเฉพาะตำแหน่งที่ถุงยางอนามัยไม่ได้ครอบคลุมก็อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อได้
ในผู้ที่เป็นเริมควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงที่กำลังมีรอยโรคเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ถึงแม้บางครั้งจะไม่มีรอยโรคเกิดขึ้นในผู้ที่ติดเชื้อเริม การมีเพศสัมพันธ์ในช่วงดังกล่าวก็อาจก่อการติดโรคไปยังคู่นอนได้ ดังนั้นคู่นอนของผู้ที่เป็นโรคเริมควรป้องกันโดยการใช้ถุงยางอนามัยชายทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ทั้งนี้เพื่อช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อลงได้บ้างถึงแม้จะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ตาม
บรรณานุกรม
1. Centers for Disease Control and Prevention. Sexually Transmitted Diseases Treatment Guidelines 2006. MMWR 2006; 55(no. RR-11).
2. Corey L, Wald A. Genital herpes. In: Holmes KK, Sparling PF, Mardh P et al (eds). Sexually Transmitted Disease, 3rd Edition. New York: McGraw-Hill, 1999, p. 285-312.
3. Corey L, Wald A, Patel R et al. Once-daily valacyclovir to reduce the risk of transmission of genital herpes. New England Journal of Medicine 2004; 350:11-20.
4. Wald A, Langenberg AGM, Link K, et al. Effect of condoms on reducing the transmission of herpes simplex virus type 2 from men to women. JAMA 2001;285: 3100-3106.
5. Wald A, Link K. Risk of human immunodeficiency virus infection in herpes simplex virus infection in herpes simplex virus type 2 – seropositive persons: A meta-analysis. J Infect Dis 2002; 185: 45-52.
6. Weinstock H, Berman S, Cates W. Sexually transmitted diseases among American youth: Incidence and prevalence estimates, 2000. Perspectives on Sexual and Reproductive Health 2004; 36:6-10.
7. Xu F, Sternberg M, Kottiri B, McQuillan G, Lee F, Nahmias A, Berman S, Markowitz L. National trends in herpes simplex virus type 1 and type 2 in the United States: Data from the National Health and Nutrition Examination Survey (NHANES). JAMA 2006; Vol 296: 964-973.