การจัดการที่ดีเพื่อให้เด็กท้องได้เรียนต่อ กรณีศึกษาโรงเรียนคลองขลุงรัชดาภิเษก จังหวัดจันทบุรี
ซึ่งมีประสบการณ์บริหารจัดการให้เด็กท้องได้เรียนต่อมามากกว่า 7 ราย
ได้จัดระบบการศึกษาให้กับเด็กท้องได้เรียนต่อดังนี้
- พูดคุยกับครู ฝ่ายบริหาร และผู้ปกครอง เพื่อทำความเข้าใจปัญหาว่า หากปล่อยให้นักเรียน ที่ตั้งครรภ์ต้องออกจากระบบการศึกษาจะทำให้เกิดปัญหาอื่นๆตามมา เช่น ปัญหาการตั้งครรภ์ที่ไม่มีคุณภาพเนื่องจากไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม และการขาดโอกาสทำงานในอนาคต
- พูดคุยกับเพื่อนนักเรียนในห้องให้เข้าใจและเห็นใจเพื่อนที่ประสบปัญหา เพื่อให้รู้จักช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทั้งด้านร่างกายและสภาพจิตใจ
- ออกแบบหลักสูตรเป็นรายบุคคล เริ่มจากให้นักเรียนเลือกอาจารย์ที่ไว้ใจเป็นที่ปรึกษา เพื่อเป็นผู้ดูแลในเรื่องการเรียนและสภาพจิตใจ รวมทั้งเปิดโอกาสให้นักเรียนเลือกรูปแบบการเรียนด้วยตัวเอง แต่ต้องเรียนให้ครบตามหลักสูตรที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด
- จัดให้มีการวัดผลการศึกษาตามปกติ แต่เปิดโอกาสให้นักเรียนเลือกวันเวลาในการมาเรียนและมาสอบเอง เช่น หากนักเรียนอายที่จะมาโรงเรียนก็สามารถมารับการบ้านหรือมาสอบนอกเวลาเรียนได้ นอกจากนี้ยังให้ความช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ เช่น อนุญาตให้ย้ายแผนการเรียนได้หากมีผลการเรียนต่ำลง ให้พักการเรียนได้หากนักเรียนต้องการ หรือให้ลาคลอดแล้วกลับมาเรียนใหม่ได้ เป็นต้น
- ให้ความรู้และเสริมสร้างความเข้าใจเรื่องเพศเพิ่มเติม เช่น เรื่องการคุมกำเนิด วิธีการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ถูกต้องกับนักเรียนทุกคนและทุกระดับชั้น โดยนำหลักสูตรการเรียนการสอน เรื่องเพศวิถีศึกษามาใช้สอน ตั้งแต่ชั้น ม.1 – ม.6 จำนวน 16 คาบต่อปี ส่งผลให้นักเรียนรู้สึกว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องใกล้ตัว กล้าที่จะพูดคุยและปรึกษาปัญหาเรื่องเพศกับครูหรือเพื่อนๆ มากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม
มีข้อวิตกกังวลจากคนรอบข้างว่า การให้โอกาสนักเรียนท้องได้เรียนต่อ อาจทำให้เกิดการเลียนแบบระหว่างนักเรียนด้วยกัน และอาจทำให้เกิดการตั้งครรภ์มากขึ้น เรื่องนี้อาจารย์ผู้รับผิดชอบกล่าวว่า ” นักเรียนจะเรียนรู้จากเพื่อนเองว่า การตั้งครรภ์นั้น ต้องเผชิญกับความยากลำบากอะไรบ้าง ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ทำให้ไม่มีใครอยากตั้งครรภ์ จึงไม่ใช่เรื่องน่ากังลแต่อย่างใด “
และหากครูเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างความรู้ความเข้าใจ เรื่องเพศอย่างถูกวิธี มีการยกตัวอย่างกรณีศึกษาประกอบ เพื่อให้นักเรียนได้รู้จักคิด วิเคราะห์ รู้จักป้องกัน และปฏิเสธ ส่งผลให้เมื่อเจอสถานการณ์จริง จะมีความรู้และความเข้มแข็งทางจิตใจมากพอ ที่จะแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้อย่างเหมาะสม ส่งผลให้ปัญหาท้องไม่พร้อมลดลงได้ในที่สุด
จากบทสัมภาษณ์
อาจารย์อัธยา บุณยรัตเศรณี หัวหน้างานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน
งานเวทีวิชาการเพศวิถีศึกษาเพื่อเยาวชนครั้งที่ 7