เรื่องเล่าจากลุงหมอ – ซื้อยาจากเว็บไซต์อันตรายไหม? (ตอนที่ 2)

เรื่องเล่าลุงหมอ 11
ซื้อยาจากเว็บไซต์อันตรายไหม? (ตอนที่ 2)

ลุงหมอได้เล่าไว้ในตอนก่อนว่า การเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือตั้งแต่เนิ่นๆ ส่งผลกระทบให้ผู้ที่ประสบปัญหาท้องไม่พร้อม ท้องโตจนสายเกินกว่าที่จะยุติการตั้งครรภ์ หรือเข้าสู่บริการไม่ปลอดภัยจนต้องตกเลือด จนมีบางรายถึงกับเสียชีวิต…

มีเรื่องจริงอีกเรื่องคือ หญิงสาวอายุ 24 ปี มีลูก 1 คนอายุ 2 ขวบ สามีเธอไปติดพันผู้หญิงอื่นที่รู้จักกันทางเฟซ พอเธอจับได้และบอกให้เขาเลือกคนใดคนหนึ่ง ปรากฏว่าสามีเลือกผู้หญิงคนนั้นและจากไปโดยไม่สามารถติดต่อเขาได้  ส่วนลูกสามีก็ไม่สนใจ แต่หลังจากที่สามีจากไปไม่นานเธอก็พบว่าตัวเองตั้งครรภ์กับเขา เธอจำวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้ายไม่ได้แต่พบว่าขาดประจำเดือน ตรวจปัสสาวะพบว่าตั้งครรภ์ เธอคุมกำเนิดด้วยยาคุมแผงรายเดือน แต่ก็ลืมกินบ้าง กินไม่ต่อเนื่อง เธอเครียดมาก ปรึกษาแม่ แม่บอกว่าคงไม่สามารถท้องต่อได้เพราะพ่อเด็กในท้องก็หนีจากไปแล้ว เธอจึงค้นหาแหล่งที่จะช่วยทำแท้งจากอินเทอร์เน็ต พบเว็บไซต์ที่ให้สั่งยาทางโทรศัพท์และส่งยาทำแท้งทางไปรษณีย์ได้ ชื่อ คลินิกสวท.com โดยอ้างว่าเป็นเว็บไซต์ของสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย

ซึ่งความจริง สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย มีเว็บไซต์อย่างเป็นทางการคือ www.ppat.or.th
สมาคมฯ มีกิจกรรมงานที่หลากหลาย รวมทั้งมีคลินิกวางแผนครอบครัวและบริการที่ปลอดภัย แต่ไม่มีการขายยาทำแท้งแต่อย่างใด

เมื่อเธอโทรไปตามเบอร์ของเว็บไซต์ที่แอบอ้างนั้น ผู้ขายถามว่าเธอท้องกี่เดือนและแจ้งว่าราคายา 3,260 บาทรวมค่าส่ง เธอกำลังจะโอนเงินเพื่อซื้อยา แต่เพื่อนแนะนำให้มาพบแพทย์ดีกว่า เมื่อมาพบแพทย์ตรวจอัลตร้าซาวนด์พบว่าตั้งครรภ์ 7 สัปดาห์ 4 วัน หลังจากนั้นเธอได้รับบริการที่ปลอดภัย และมีชีวิตอยู่เพื่อดูแลลูกน้อยได้ต่อไป

ลุงหมอเห็นว่า สิ่งที่อันตรายคือ เว็บไซต์ส่วนใหญ่จะขายยาในปริมาณที่มากขึ้นตามอายุครรภ์ หรือไม่ก็บอกว่า ตั้งครรภ์ 1-7 เดือนใช้ยาเท่ากัน ซึ่งอันตรายมาก อีกทั้งยังมีข้อสงสัยในเรื่องยาว่าปลอมหรือไม่ หรือประสิทธิภาพของยาเป็นอย่างไร เพราะ…

ตามแนวทางการรักษาองค์การอนามัยโลกเรื่องการใช้ยาเพื่อยุติการตั้งครรภ์นั้น
ต้องมีการดูแลคนไข้อย่างใกล้ชิดให้ปลอดภัยใน 3 ระยะคือ

1) ระยะก่อนแท้ง
คนไข้จะได้รับการซักประวัติเรื่องประจำเดือน โรคประจำตัว การแพ้ยา การกินยาอื่นๆ การตรวจร่างกาย การตรวจอายุครรภ์ด้วยอัลตร้าซาวน์ว่าเป็นครรภ์ในมดลูกไม่ใช่นอกมดลูก   ได้รับคำปรึกษาอย่างรอบด้านให้เข้าใจและตัดสินใจว่าจะทำแท้งหรือไม่ เลือกวิธีไหน แต่ละวิธีมีกระบวนการทำอย่างไร  มีความเสี่ยงปลอดภัยแค่ไหน โอกาสแท้งสมบูรณ์มีกี่เปอร์เซนต์ ทำในอายุครรภ์เท่าไหร่จึงจะปลอดภัย และ ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลหรือไม่ รวมทั้งมีข้อห้ามการใช้ยาไหม มีโรคอะไร เช่นโรคหัวใจ ซีดไหมใช้ยาอะไรอยู่ มีแผลผ่าตัดที่มดลูกไหม

2) ระยะการแท้ง ลุงหมอขอแบ่งตามอายุครรภ์เป็น 3 กลุ่มนะครับ

กลุ่มที่หนึ่ง อายุครรภ์ไม่เกิน 9 สัปดาห์ สามารถใช้ยาที่บ้านได้ปลอดภัย แต่ต้องอยู่ภายใต้การติดตามดูแล มีปัญหาอะไรคนไข้ต้องปรึกษาได้ตลอด ทั้งเรื่องวิธีการใข้ยา อาการข้างเคียง ถ้าไม่สำเร็จแพทย์ต้องแก้ไขให้โดยวิธีการดูด (MVA) ภายใน 1 สัปดาห์

กลุ่มที่สอง อายุครรภ์ที่เกิน 12 สัปดาห์จนถึง 24 สัปดาห์ อายุครรภ์นี้ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลเพื่อป้องกันเฝ้าระวังการตกเลือดรุนแรง รกค้าง ติดเชื้อรุนแรง  มดลูกแตก  ปริมาณยาที่ปลอดภัยและได้ผลนั้น
จะใช้สูตรยาที่ได้วิจัยและตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกที่กำหนด วิธีการใช้และปริมาณยา เวลาที่ห่างกันของการใช้ยา ซึ่งแนวทางการใช้ยาในแต่ละอายุครรภ์ก็จะต่างกันไป

กลุ่มที่สาม อายุครรภ์เกินจากกว่า 24 สัปดาห์ ไม่ควรทำแท้ง เพราะเสี่ยงอันตรายต่อการเสียชีวิต
ของผู้หญิง และตัวอ่อนในท้องมีโอกาสคลอดออกมามีชีวิตเป็นทารก

3) ระยะหลังแท้ง
คนไข้ต้องได้รับการตรวจดูว่าการแท้งสมบูรณ์หรือไม่ ถ้าไม่สมบูรณ์จำเป็นต้องดูดออก ติดตามว่าเลือดออกนานกี่วัน โดยทั่วไปการใช้ยาทำแท้งช่วงอายุครรภ์ไม่เกิน 9 สัปดาห์จะมีเลือดออกนานกว่าวิธีการดูด แต่มักไม่เกิน 14 วัน  ต้องสังเกตุเฝ้าระวังอาการปวดท้อง มีไข้ ที่เป็นอาการแสดงหลักของการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน
ซึ่งต้องได้รับการวินิจฉัยและรักษาโดยทันที เพราะการติดเชื้อรุนแรงอาจถึงขั้นช็อค และเสียชีวิตได้

นอกจากนี้ คนไข้ที่ใช้ยาทุกคน ต้องได้รับการยืนยันว่าแท้งหรือไม่ ออกหมดหรือตกค้างไหม ด้วยการตรวจภายในหรืออัลตร้าซาวนด์ ขณะเดียวกันถ้ายังปวดท้องมากต้องดูว่า เป็นการท้องมดลูกหรือไม่ บางรายมีทั้งท้องในและนอกมดลูกพร้อมกัน มีผู้หญิงที่ซื้อยาจากเว็บไซต์โดยไม่รู้ว่าตนเองตั้งท้องนอกมดลูกทำให้เสียชีวิตได้เช่นกัน กรณีที่ใช้ยาแล้วไม่แท้งลูกก็มีโอกาสที่ทารกที่คลอดออกมาอาจจะพิการได้ หรือที่เรียกว่าไซเรนโนมีเลีย (sirenomelia)

เว็บไซต์ที่มุ่งขายยาทั้งหลาย ส่วนใหญ่ไม่มีการดูแลใน 3 ระยะที่ลุงหมอได้เล่ามาแล้ว คือการซักประวัติออนไลน์อย่างละเอียดก่อนจ่ายยา จ่ายยาที่อายุครรภ์ไม่เกิน 9 สัปดาห์ และมีการปรึกษาออนไลน์ หรือ ทางโทรศัพท์ ในระยะแท้งและหลังแท้งได้ตลอด ส่วนเว็บไซต์ที่มีองค์ประกอบพร้อม เปิดหาดูได้ใน lovecarestation.com เป็นทางเลือกหนึ่งนะครับ

แต่ลุงหมอขอแนะนำว่า ถ้าพบว่าเมนส์ไม่มา หรือสงสัยกังวลว่าจะตั้งครรภ์ ให้โทรปรึกษาสายด่วนท้องไม่พร้อม 1663 ซึ่งเป็นสายด่วนที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุข เพื่อหาทางออกที่ปลอดภัยแต่เนิ่นๆ จะดีกว่านะครับ

ลุงหมอเรืองกิตติ์