เรื่องเล่าลุงหมอ ตอนที่ 26
ท้องที่เสี่ยงต่อสุขภาพและชีวิต สามารถเลือกทำแท้งได้
“หมอคะ เพื่อนหนูน่ะเพิ่งตายเดือนก่อน หลังคลอดลูกได้ 4 เดือน
หนูบอกแล้วอย่าท้อง ให้ทำแท้งดีกว่า เสียดายและคิดถึงเพื่อนรักจริงๆ”
ผู้หญิงวัย 40 ปี มาฉีดยาคุมที่คลินิกเมื่อต้นมีนาคมที่ผ่านมา เอ่ยเรื่องนี้กับลุงหมอว่า
เพื่อนเธอเป็นโรคมะเร็งเต้านมก่อนท้องและได้ทำการรักษาฉีดยาคีโม จนอาการดีขึ้นแล้ว
เพื่อนมีลูกแล้วคนหนึ่งแล้ว ก็อยากมีลูกอีก และหลังได้ยาคีโมครบถ้วนแล้ว
เธอตั้งท้อง แต่ปรากฏว่าเธอตรวจพบว่าเป็นมะเร็งเต้านมอีกเมื่อท้องได้ 4 เดือน
แต่ก็ตัดสินใจท้องต่อ พอตอนใกล้คลอดก็เกิดโรคแทรกซ้อนครรภ์เป็นพิษ
จนเกือบเอาชีวิตไม่รอด… แต่หลังคลอด อาการโรคมะเร็งเต้านมดำเนินต่อไป
..จนกระทั่งเสียชีวิต
การตัดสินใจท้องต่อจนคลอด ผู้หญิงอาจต้องเผชิญความลำบาก
อันตรายจากโรคที่กำลังเป็นอยู่ หรือโรคที่อาจเกิดร่วมกับการตั้งครรภ์
เช่น ความดันโลหิตสูง การตัดสินใจว่าจะท้องต่อไป หรือ จะยุติการตั้งครรภ์
เป็นการตัดสินใจที่สำคัญต่อสุขภาพและชีวิต
ผู้หญิงจึงจำเป็นต้องไตร่ตรองให้รอบคอบด้วยการหาคำตอบว่า
1) ท้องนี้จะมีอันตรายหรืออาการข้างเคียงต่างๆ มากกว่าการทำแท้งไหม
2) การท้องต่อจะกระทบต่อชีวิตทั้งร่างกายและจิตใจไหม?
ถ้าหาคำตอบด้วยตนเองไม่กระจ่างชัด ก็ควรมาปรึกษาแพทย์หรือพยาบาล
ผู้ให้บริการปรึกษาทางเลือกอาสา RSA หรือโทร 1663
ดังเช่นข่าวเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2560
ผู้หญิงแอบคลอดลูกที่บ้านที่อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช
เป็นท้องที่ 3 โดยเธอมีลูก 2 คนกับสามีที่แยกทางกัน ท้องนี้เธอไม่ยอมบอกใคร
และไม่ได้ไปฝากท้อง พอเจ็บท้องคลอดก็อยู่บ้านคนเดียว หลังคลอดมีการเสียเลือดมาก
เมื่อคนมาพบเพราะได้ยินเสียงทารกร้อง เธอก็ได้สิ้นใจแล้ว…
ไม่ว่าจะเป็นเพราะสาเหตุอะไร แต่ถ้าเธอได้ปรึกษาเปิดใจได้กับใครไม่ว่าเพื่อน
หรือแพทย์พยาบาลที่สามารถสร้างความไว้ใจให้เธอได้ เยียวยาจิตใจ
ให้มีสภาพที่ดีขึ้น สถานการณ์น่าจะดีกว่านี้มาก ชีวิตทุกคนมีคุณค่าครับ
ก่อนหน้านั้นมีข่าววันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2560
ข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส มีหญิงวัยรุ่นอายุ 17 ปี ยุติการตั้งครรภ์เมื่อท้องได้ 8 เดือน
และนำซากตัวอ่อนไปทิ้งถังขยะ มีอาการตกเลือดเข้าโรงพยาบาล
แฟนเธอติดคุกคดียาเสพติด แม่ของเธอช่วยเลี้ยงลูกเธออีกคน
เธอต้องมีเหตุผลที่กล้าทำกล้าเสี่ยง ไม่มีใครตั้งใจท้องเพื่อมาทำแท้ง
เพียงแต่มีอะไรเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องตัดสินใจช่วงที่สามีติดคุก สุดท้ายต้องถูก
พ่อแฟนประนาม ถูกตำรวจจับ แต่สภาพจิตใจของเธอละ ต้องย่ำแย่แน่นอน
สังคมควรรับฟังให้สิทธิเธอได้แก้ต่างตัวเองได้เพราะเธอเป็นคนที่ต้องเลี้ยงลูก
ฉะนั้นเธอจึงเลือกทางออกแบบนี้ นั่นเพราะเธอคงไม่สามารถจะเลี้ยงได้
และรู้ดีว่าต้องมีปัญหาตามมาอีกมากมาย ขอได้ช่วยกันเยียวยาเธอด้วยนะครับ
ชีวิตเธอยังเป็นที่รัก มีคุณค่าสำหรับแม่และลูกของเธอ
ลุงหมอขอส่งกำลังใจให้เธอด้วยนะครับ
มีผู้หญิงอายุ 37 ปี พอประจำเดือนขาดไป 7 วันก็ตรวจปัสสาวะ ระหว่างรอลุ้นผล
เธอเล่าให้หมอฟังว่า “หนูรู้สึกกลัว มือสั่น ลุ้นว่าจะขึ้น 2 ขีดหรือขีดเดียว”
พอขึ้น 2 ขีดก็ตกใจทำอะไรไม่ถูก คิดถึงแต่ลูก เพราะลูกคนแรกเพิ่งได้ 9 เดือน
ไม่เพียงเท่านั้น ตอนท้องแรกเมื่ออายุครรภ์ได้ 2 เดือนเศษ
เธอพบว่าตัวเองตรวจพบเป็นมะเร็งเต้านมข้างขวา
แพทย์ผ่าตัดเต้านมออกและให้ยาคีโม(chemotherapy) ตั้งแต่ท้อง 3 เดือน
ซึ่งเธอได้ท้องต่อและต้องได้รับคีโมรวม 8 ครั้ง แต่เมื่ออายุครรภ์ 35สัปดาห์
ได้คีโมไปแล้ว 6 ครั้ง แพทย์หยุดให้คีโมเพื่อให้เตรียมคลอด
และได้คลอดด้วยการผ่าท้องคลอด เมื่อมาตรวจหลังคลอด
เธอบอกคุณหมอไปว่ากำลังจะให้ยาคีโมต่อให้ครบ
หมอจึงไม่ได้ให้เธอคุมกำเนิดชนิดใดๆ เหตุผลที่เธอไม่คุมกำเนิด
เพราะกลัวยามีผลต่อมะเร็ง อีกทั้งร่างกายก็ยังไม่ปกติ
เธอให้ลูกกินนมแม่เพียง 1 เดือนก็ต้องหยุด
เพราะต้องเริ่มเข้าคีโมครั้งที่ 7 และ 8 เธอพยายามบีบนม
เก็บน้ำนมแช่แข็งไว้ในตู้เย็น แต่ไม่มีน้ำนม
แต่เธอพลาดที่ไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัย บางครั้งกินยาคุมฉุกเฉิน
เมื่อพบว่าตั้งครรภ์….
ก็รู้สึกผิดว่าพลาดเองที่ไม่ป้องกัน ท้องนี้เธออัลตร้าซาวด์ได้ 5 สัปดาห์
ที่เธอคิดคืออยากดูแลเรื่องมะเร็งเต้านมต่อให้ดีก่อน
หมอนัดตรวจแมมโมแกรมทุก 3 เดือน ซึ่งถ้าท้องอยู่ก็ต้องงดตรวจ
ก่อนหน้านี้เต้านมข้างซ้ายก็พบก้อนเล็กๆ คุณหมอบอกว่ามีโอกาสเสี่ยง
ที่จะเป็นมะเร็งเต้านมอีกข้าง เธอจึงคิดถึงการยุติการตั้งครรภ์
เพราะเธอต้องการให้ลูกโตสัก 3 ขวบจึงจะมีอีกคน
เธอมีเหตุผลและความจำเป็นยังไม่พร้อมจะตั้งครรภ์ในตอนนี้….
จากรายงาน “Is Abortion links to breast cancer?” พบสัดส่วนการเป็นมะเร็งระหว่างตั้งท้องถึง 1 ต่อ 1000 และพบมะเร็งเต้านม 1 ต่อ 3000 โดยคนท้องที่เป็นมะเร็งเต้านมสามารถรักษาด้วยคีโมแบบประคับประคอง จนถึงอายุครรภ์เฉลี่ย 38 สัปดาห์จึงจะคลอดได้ ทั้งนี้ ต้องไม่มีโรคแทรกซ้อนระหว่างการคลอด
รายงานจากการศึกษาในประเทศแคนาดาพบคนไข้ท้อง 119 ราย
มีมะเร็งเต้านมร่วมด้วย ในจำนวนนี้ 22 ราย ได้รับการช่วยยุติการตั้งครรภ์ 12 ราย
แท้งเอง มี 85 รายคลอดโดยมี 2 ราย ที่ทารกตายตอนคลอด
ทารกทั้งหมดที่คลอดมีน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์เฉลี่ย
คำแนะนำจากการวิจัยนี้คือ ภายหลังการวินิฉัยมะเร็ง
ผู้หญิงควรชะลอการท้องไป 2-3 ปีเพราะมีโอกาสเกิดมะเร็งซ้ำขึ้นอีกภายใน 2 ปี
และที่สำคัญแม่อาจไม่มีชีวิตอยู่นานพอที่จะเลี้ยงลูกได้
ดังนั้นการตัดสินใจว่าจะท้องหลังการวินิจฉัยมะเร็งเต้านม
ต้องเป็นเรื่องเฉพาะตัวของคนไข้แต่ละคน
ความเจ็บป่วย โรคร้ายต่างๆ มีผลคุกคามต่อชีวิตและสุขภาพผู้หญิงเช่นเดียวกับเหตุผลด้านสุขภาพจิต ปัญหาเศรษฐกิจ ครอบครัว และสังคม ทำให้ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ต้องเลือกทางออกที่จะต้องปกป้องตัวเอง ซึ่งไม่เสียชีวิตแน่ เพียงแต่ขอให้ปรึกษาทีมช่วยเหลือมืออาชีพ
ลุงหมอเรืองกิตติ์