เส้นทางสู่การทำแท้งที่ปลอดภัย หนทางที่ยากลำบาก ?
การทำแท้งเป็นเรื่องอ่อนไหวมากในสังคม มีทัศนคติต่างมุมมองมากที่สัมพันธ์กับสุขภาพ ศีลธรรม ศาสนา วัฒนธรรม ครอบครัว สังคม และเศรษฐกิจ คำถามที่ว่าเห็นด้วยไหมกับการทำแท้ง? ก็ที่จะได้รับคำตอบที่แตกต่างกันไป
- ผู้ที่ไม่เห็นด้วย จะให้คุณค่าต่อชีวิตทารกในครรภ์ที่มีสิทธิ์จะเกิด
- ผู้เห็นด้วย จะให้คุณค่ากับชีวิตของผู้หญิงมากกว่าทารก คือเป็นสิทธิของผู้หญิงที่จะตัดสินใจว่าควรท้องต่อหรือไม่
- ผู้ไม่เห็นด้วย บอกว่าการทำแท้งไม่ใช่คำตอบนะ ควรเลือกชีวิตทารกมากกว่า
- ผู้เห็นด้วย แย้งว่าการทำแท้งไม่ใช่การทำลายชีวิต ขอให้เอากฏหมายห้ามทำแท้งออกไป ผู้หญิงเป็นเจ้าของร่างกายย่อมมีสิทธิเลือกเองได้ และขอให้การทำแท้งปลอดภัย
ลองมาฟังเหตุผลจริงๆ ของผู้หญิงท้องไม่พร้อม ที่คุณจอยส์ อาเธอร์ ผู้อำนวยการสหพันธ์เพื่อสิทธิการทำแท้ง ประเทศแคนาดา ซึ่งเป็นประเทศที่การทำแท้งสามารถทำได้เมื่อผู้หญิงต้องการ โดยอธิบายว่าผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม มีสิทธิที่จะปกป้องตัวเองด้วยการทำแท้งเพราะ..
- สิทธิของผู้หญิงที่จะทำแท้งย่อมเหนือกว่า และสำคัญกว่าสิทธิของตัวอ่อนในครรภ์
2. การต้องท้องต่อทั้งๆ ที่ไม่พร้อม จะมีอันตรายต่อสุขภาพกายและใจ โดยมีความเสี่ยงสูงกว่าการทำแท้งที่ปลอดภัย
3. การคลอดทารกที่มาจากความไม่พร้อม ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของผู้หญิงตลอดทั้งชีวิต
4. ผู้หญิงไม่มีเจตนาทำลายตัวอ่อนในครรภ์ แต่จำต้องเลือกเพราะการตั้งครรภ์นั้นเป็นอันตรายที่ส่งผลต่อสุขภาพและชีวิต
5. ไม่มีกฏหมายใดบังคับให้ใครต้องบริจาคไตหรือเลือดเพื่อรักษาชีวิตคนอื่น ดังนั้น ผู้หญิงท้องไม่พร้อมจึงไม่ควรถูกบังคับให้รักษาชีวิตตัวอ่อนในท้องถึง 9 เดือน
6. ตามหลักสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ เพศสัมพันธ์ไม่ใช่เพื่อการตั้งครรภ์หรือคลอดบุตร ผู้หญิงมีสิทธิ์ที่จะได้รับการคุ้มครองสิทธิด้วยการคุมกำเนิดเพื่อป้องกันท้อง และการยุติการตั้งครรภ์เมื่อไม่พร้อม
ในปี 2556 นายจวล อีเมนเดซ ผู้ตรวจการพิเศษขององค์การสหประชาชาติ ได้เสนอรายงานต่อที่ประชุมองค์การสหประชาชาติที่ว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการปฏิบัติ หรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี โดยสรุปว่า “การเพิกเฉยต่อการให้บริการทำแท้งตามกฏหมาย มีค่าเท่ากับการทารุณกรรมหรือทำร้ายผู้หญิง” โดยคณะกรรมการฯ ยังได้ย้ำว่า “การจำกัดการเข้าถึงการทำแท้ง การห้าม หรือคว่ำบาตร ถือว่าฝ่าฝืนข้อห้ามดังกล่าว ดังนั้น การปฏิเสธการให้บริการทำแท้ง จึงเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่ยุติธรรมซึ่งทำให้ภาระหนักตกอยู่ที่ผู้หญิง เพราะการทำแท้งถือเป็นการรักษาทางการแพทย์เพื่อช่วยชีวิตและมีความเป็นความจำเป็น
การศึกษาที่กรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก (ประเทศเชกโกสโลวาเกียในขณะนั้น) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 ได้ติดตามกลุ่มเด็กจำนวน 220 คนที่เกิดจากแม่ท้องไม่พร้อมที่ไม่ได้รับบริการยุติการตั้งครรภ์ โดยการจับคู่ศึกษาเปรียบเทียบกับเด็กที่เกิดจากแม่ตั้งครรภ์พร้อม พบว่า เด็กกลุ่มที่เกิดจากแม่ท้องไม่พร้อม มีความผิดปกติตั้งแต่การเรียนชั้นเกรด 3 ผลการเรียนต่ำกว่าเกณฑ์ พัฒนาการทางจิตใจที่ผิดปกติ ส่งผลให้วัยเด็กตอนต้นมีปัญหาพัฒนาการทางสติปัญญา การพูด การทำงานของกล้ามเนื้อ วุฒิภาวะทางสังคม และบุคลิกภาพ เหตุจากการที่เด็กเหล่านี้ไม่ได้รับการตอบสนองความต้องการอารมณ์พื้นฐาน ส่งผลให้ต้องเข้ารับบริการปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญและแพทย์อย่างต่อเนื่องจนเติบโตเป็นหนุ่มสาว
การศึกษาที่สหรัฐอเมริกา พบว่า ทางเลือกหลังคลอดบุตรที่ไม่พร้อมด้วยการยกบุตรบุญธรรม พบว่ายังมีจำนวนน้อย ก่อนปี พ.ศ. 2516 ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมที่ยังไม่แต่งงาน มีการยกมอบบุตรบุญธรรมเพียง 9% และลดเหลือเพียง 1% ในปี พ.ศ. 2532 – 2538 หลังจากนั้น การยกมอบก็มีเพียง 1-2 % เท่านั้น สาเหตุหลักของการยกมอบน้อยทั้งๆ ที่ไม่มีความพร้อมในการเลี้ยงดู คือ 95% ของผู้หญิงที่ยกมอบบุตร มีความรู้สึกสูญเสีย โศรกเศร้า โดยพบว่า ผู้หญิงถึง 2 ใน 3 มีความรู้สึกนี้ยาวนานถึง 15 ปี
ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ผู้หญิงที่สิ้นหวังจำนวนมาก ยังคงหาทางที่จะยุติการตั้งครรภ์ไม่ว่าจะเป็นวิธีที่อันตรายต่อชีวิต โดยปราศจากการช่วยเหลือแนะนำของบุคลากรสุขภาพ แม้ว่าจะต้องเดินทางไกลมากไปตามหาแหล่งบริการเพื่อให้ได้รับการช่วยเหลือจากแพทย์ ผู้หญิงก็ยอม การห้ามหรือจำกัดการทำแท้งที่ถูกกฏหมายและปลอดภัย จะเกิดผลทางลบต่อแม่และลูก ดังนั้น จึงควรให้ผู้หญิงเลือกที่จะเป็นแม่เมื่อเธอพร้อมจะดีกว่า
ลุงหมอเรืองกิตติ์ ♥