โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นพื้นที่กรุงเทพมหานคร (Bangkok for Teen : B4T) และโครงการเลิฟแคร์ (Lovecare) โดยมูลนิธิแพธทูเฮลท์ ชวนนักศึกษา ๗ มหาวิทยาลัยทั้งรัฐและเอกชน ได้แก่ สวนดุสิต มหิดล เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เทคโนโลยีราชมงคลตะวันออกวิทยาเขตจักรพงษภูวนาถ หัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ หอการค้าไทย เอเชียอาคเนย์ และกลุ่มแกนนำเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ รวมทั้งสิ้น ๔๗ คน เข้าค่าย Lovecare Club Academy Season #1 เมื่อวันที่ ๒๑-๒๓ ตุลาคม ๒๕๖๐ ณ คุ้มพญาซอรีสอร์ท จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อเรียนรู้เรื่องเพศวิถีศึกษา เอดส์/เอชไอวี แอลกอฮอล์ และการทำงานเป็นทีม เป็นแกนนำสุขภาวะเยาวชนและป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เกิดเครือข่ายระหว่างมหาวิทยาลัย รวมพลังผลักดันนโยบายด้านสุขภาพวัยรุ่นในอนาคตอันใกล้นี้
การจัดค่ายครั้งนี้ทางโครงการฯ ได้รับการสนับสนุนจากองค์การยูนิเซฟ (unicef) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายคนทำงานเอดส์ จังหวัดราชบุรี เครือข่ายป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ สมาคมครูเพศวิถีศึกษา(ประเทศไทย) ประธานสภาเด็กและเยาวชนเขตหนองแขม และนักศึกษาแกนนำชมรมสิทธิเยาวชนเพศวิถีมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ ร่วมเป็นวิทยากรและพี่เลี้ยงจัดค่าย
นายปารเมศ คุ้มพลาย (เท็น) นักศึกษาปี ๑ คณะวิศวกรรมศาสตร์/วิศวกรรมอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า “ผมเคยมีเพื่อนที่ท้อง และเห็นว่าน้องๆ ยังมีความรู้เรื่องเพศที่น้อย ต้องการคนที่ไปช่วยให้ความรู้ มาค่ายนี้ผมเพิ่งรู้ว่าการคุมกำเนิดแบบ “หลั่งนอก” กับ “นับหน้า ๗ หลัง ๗” ไม่ถือว่าเป็นการคุมกำเนิดแล้ว รู้จักวิธีนับหน้า ๗ หลัง ๗ ว่านับยังไง เคยแต่ได้ยิน และรู้การคุมกำเนิดอีกหลายๆ อย่าง ทำให้มั่นใจมากขึ้น ดีใจที่พี่ๆ จัดกิจกรรมแบบนี้ ผมคิดว่าจะช่วยให้คำปรึกษากับเพื่อนๆ และจะสมัครเป็นกรรมการหอพักนักศึกษา รวมถึงจะสมัครเข้าร่วมองค์การนักศึกษา เพื่อเขียนโครงการเกี่ยวกับเรื่องเพศ ทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยต่อไปครับ”
นางสาวซัซวาน์ แวเจะ (วานี) นักศึกษา ปี ๒ สาขาเลขานุการทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิตกล่าวว่า “เป็นแกนนำโครงการรู้ไว้ ใส่ใจ ปลอดภัย ป้องกันเอดส์ ของมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว จึงได้มาร่วมค่ายนี้ค่ะ ทำให้เราปรับทัศนคติ แต่ก่อนคิดว่าถ้าอยู่ใกล้คนที่เป็นเอดส์ จะติดได้ แต่ค่ายนี้รู้สึกว่าคนเป็นเอดส์ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เราสามารถอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้ และมองว่าเรื่องเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องธรรมชาติ ส่วนศาสนาเป็นอีกเหตุผล เพราะตามหลักศาสนาอิสลาม ไม่ให้คุมกำเนิด ซึ่งเรายังคงปฏิบัติตามหลักศาสนา แต่จะนำความรู้ไปบอกต่อในชมรมมุสลิม และต่อยอดกับโครงการฯ ที่ทำอยู่ค่ะ”
นายชนะวงศ์ โชติธนภักดี (เบล) นักศึกษา ปี ๒ คณะบัญชี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า“ปกติเพื่อนชอบมาปรึกษาเรื่องเพศ เลยอยากมีความรู้เพิ่มมากขึ้น จะได้เอาไปตอบเพื่อน เช่น วิธีสวมถุงยางอนามัยที่ถูกต้อง การกินยาคุมกำเนิด ผมกับเพื่อนๆ คิดว่าจะจัดตั้งชมรมเพื่อให้คำปรึกษาเรื่องเพศในมหาวิทยาลัย เพราะวัยรุ่นสมัยนี้ไม่ค่อยกล้าที่จะเปิดเผยกับหมอ แต่ถ้าเป็นอายุเดียวกัน เขาอาจจะมีความมั่นใจมากกว่า อย่างน้อยขอเป็นเศษเสี้ยวเล็กๆ ให้เขาได้มาปรึกษา มาพูดคุย ได้ปล่อยปัญหาตัวเองออกมา อาจจะช่วยได้ไม่มากก็น้อย แต่จะพยายามทำให้เต็มที่ครับ อย่างน้อยช่วยลดการเสี่ยงท้องก่อนวัยอันควรก็ยังดีครับ”
นางสาวณัฐมน ศิริกุลรุ่งโรจน์ (น้ำมน) นักศึกษา ปี ๓ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า “สมัครมาร่วมค่ายเองค่ะ เห็นว่าเป็นโครงการที่น่าสนใจ รู้สึกตื่นเต้นเพราะไม่เคยเข้าค่ายอย่างนี้มาก่อนเลย เป็นครั้งแรก รู้สึกเขินๆ ค่ะ เพราะต่างก็ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนแล้วต้องมาพูดแชร์ประสบการณ์กัน ทำให้รู้มุมมองความคิดของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกันเลย รู้ว่าเอชไอวี ไม่ได้ติดต่อได้ง่ายๆ ต้องผ่าน ๓ ช่องทาง (QQR) และไม่เคยรู้ว่าฝังยาคุมที่แขน รวมถึงได้รู้จักแผ่นแปะคุมกำเนิด ซึ่งเรื่องเหล่านี้สามารถช่วยป้องกันตัวเองได้ เรื่องแบบนี้ไม่น่าอาย เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องรับรู้อยู่แล้ว คุยกันได้”
แม้ค่าย Lovecare Club Academy Season #1 จะจบลงไปเรียบร้อยแล้ว แต่รับรองว่าการเดินทางสู่สุขภาวะเยาวชนยังไม่จบแน่ๆ ใครสนใจอยากเข้ามามีส่วนร่วมแบบเพื่อนๆ เหล่านี้ โปรดติดตามการจัดค่ายครั้งถัดไป ระหว่างนี้ติดตามผลงานของพวกเขาได้ที่ www.lovecarestation.com หรือ Facebook : Lovecare station นะคะ