โรควิตกกังวลในวัยรุ่น

วัยรุ่นมักมีความกลัวและความกังวลเกี่ยวกับเรื่องรูปร่างหน้าตา ภาพลักษณ์ การเข้าสังคม การยอมรับจากเพื่อน อนาคต ความปลอดภัย และภัยธรรมชาติ ซึ่งพบได้บ่อย ถ้าอยู่ในระดับที่เหมาะสมจะเป็นประโยชน์ในการปรับตัวและรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ดี แต่ถ้ามีมากเกินไปจนไม่สามารถห้ามความคิดความรู้สึกเหล่านี้ได้ อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตได้ มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้า การใช้ยาหรือสารเสพติด ปัญหาการเรียน หรือการเข้าสังคมในระยะยาว

เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็กและวัยรุ่น ร้อยละ 7.6-34.9 และมักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย แต่มักไม่ค่อยได้รับการวินิจฉัยและรักษาเพราะผู้ป่วยมักมาด้วยอาการทางกาย อาจทำให้ถูกมองข้ามโรคนี้ไป

อาการ
* ทางกาย เช่น ปวดหัว ปวดท้อง ใจสั่น แน่นหน้าอก มือสั่น ตัวสั่น หายใจไม่อิ่ม คลืนไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว รู้สึกตื้อๆ เหมือนจะเป็นลม เหนื่อยง่าย ไม่มีแรง ชาตามตัว มือเท้าเย็น เป็นต้น
* ความคิด เช่น เครียด กังวล ไม่สบายใจ กลุ้มใจ คิดฟุ้งซ่าน กระวนกระวาย ตื่นตระหนก ไม่มีสมาธิ หลงลืม
* พฤติกรรม เช่น หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ หรือทำพฤติกรรมบางอย่างซ้ำๆ ติดผู้ใหญ่มากขึ้นหรือพึ่งพิงคนอื่นมากขึ้น
* อารมณ์ เช่น รู้สึกกลัว กังวล อาย อึดอัดใจ หงุดหงิดหรือโมโหฉุนเฉียวร่วมด้วย

การรักษา
* การทำจิตบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (CBT) หรือ พฤติกรรมบำบัด เช่น ฝึกเผชิญกับสิ่งที่กลัวหรือกังวล ฝึกการผ่อนคลาย ฝึกทักษะการแก้ปัญหา เป็นต้น
* ให้การปรึกษากับครอบครัวหรือทำครอบครัวบำบัด
* การรักษาด้วยยา ในกรณีที่มีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันมาก

เรียบเรียงข้อมูลจาก ตำราเวชศาสตร์วัยรุ่น (2559)