สิ่งกระตุ้นกับสิ่งปกป้องการฆ่าตัวตายของวัยรุ่น

องค์การอนามัยโลกกำหนดให้วันที่ 10 กันยายน ของทุกปี เป็น “วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก” เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหานี้ที่สามารถป้องกันได้ โดยเฉพาะการฆ่าตัวตายที่เกิดในช่วงวัยรุ่น ซึ่งเป็นการตายที่ยังไม่ถึงเวลาอันควร และสร้างความสูญเสียอย่างมาก ข้อมูลล่าสุดปี 2560 พบว่าอัตราการฆ่าตัวตายของวัยรุ่นอายุ 10-19 ปี ร้อยละ 3.53% ต่อประชากรแสนคน (กรมสุขภาพจิต) อาจด้วยวัยรุ่นต้องเผชิญกับปัญหาในชีวิตที่เพิ่มโอกาสเสี่ยงในการนำไปสู่ความคิดถึงการฆ่าตัวตาย ซึ่งก็มีสัญญาณเตือน เช่น พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงแบบฉับพลัน แต่วัยรุ่นก็พยายามที่จะจัดการตัวเองในระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นความท้าทายในชีวิต และนั่นคือความเสี่ยงในการคิดเรื่องฆ่าตัวตายก็มากขึ้นด้วย สาเหตุหนึ่งที่ทุกคนรู้กันมากที่สุดคือเกิดจากภาวะซึมเศร้า (ไม่ใช่เฉพาะวัยรุ่นเท่านั้น)

แต่ละคนอาจมีวิธีการรับมือกับปัญหาที่แตกต่างกัน รวมไปถึงความสัมพันธ์ในครอบครัวก็มีส่วนช่วยอย่างมากที่จะทำให้วัยรุ่นก้าวข้ามสิ่งที่ท้าทายในชีวิตไปได้ ดังนั้น การสังเกต เฝ้าระวัง ใส่ใจในพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของวัยรุ่นจะช่วยป้องกันการฆ่าตัวตายได้ เพราะวัยรุ่นที่พยายามฆ่าตัวตาย มีโอกาสที่จะทำซ้ำอีกมากขึ้นถึง 18 เท่า และมีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตายสำเร็จในอนาคต มากถึง 40 เท่า

มาดูกันว่า มีปัจจัยเสี่ยงอะไรกันบ้าง ที่จะทำให้เกิดความคิดฆ่าตัวตาย และปัจจัยที่จะช่วยลดพฤติกรรมการฆ่าตัวตายได้

ปัจจัยเสี่ยง

> เคยพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน

> มีประวัติใช้สารเสพติด

> ภาวะสุขภาพจิต เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล ไบโพลาร์ ภาวะเครียดหลังประสบเหตุการณ์สะเทือนใจ

> ปัญหาความสัมพันธ์ เช่น ขัดแย้งกับคนในครอบครัวหรือคนรัก

> ปัญหาทำผิดกฏหมายหรือระเบียบวินัย

> เข้าถึงสิ่งที่เป็นอันตราย เช่น ยาหรืออาวุธ

> การตายของสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนสนิทกะทันหัน

> ถูกรังแกต่อเนื่อง

> สูญเสียเพื่อนหรือคนในครอบครัวจากการฆ่าตัวตาย

> ความเจ็บป่วยทางกายหรือความพิการ

ปัจจัยป้องกัน

> สัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว รู้สึกปลอดภัย ได้รับการสนับสนุน

> มีผู้ใหญ่ (ที่ไม่ใช่คนในครอบครัว) ให้พูดคุย/ปรึกษา

> ความสนิทสนมกับเพื่อน

> ประสบความสำเร็จในการเรียน

> ความปลอดภัยในโรงเรียน

> ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน วัฒนธรรม ศาสนา หรือทีมนักกีฬา

> มีความปลอดภัยในการใช้ชีวิต

> ตระหนักและเข้าถึงบริการสุขภาพ

นอกจากนี้ ยังพบว่า กลุ่มคนและวัยรุ่นที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) เช่น เลสเบี้ยน เกย์ คนรักสองเพศ คนข้ามเพศ และคนที่ไม่ระบุเพศ คาดการณ์ว่าคนเหล่านี้จะมีความเสี่ยงที่จะคิดฆ่าตัวตายมากกว่าคนอื่นๆ แต่ไม่ใช่เพราะความเป็นเพศของเขา หากแต่เกิดจากการถูกเลือกปฏิบัติ ตีตรา ความโดดเดี่ยว ครอบครัวไม่ยอมรับ มีรายงานว่า วัยรุ่น LGBT ที่ครอบครัวมีความไม่ยอมรับสูง มีแนวโน้มพยายามจะฆ่าตัวตายถึง 8.4 เท่า มีผลการวิจัยของประเทศออสเตรียเลีย ร้อยละ 81 ของวัยรุ่นที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่เคยถูกล่วงละเมิด และ/หรือ ถูกเลือกปฏิบัติ เพราะไม่ระบุเพศของตัวเองมีความคิดเรื่องฆ่าตัวตาย และร้อยละ 37 พยายามจะฆ่าตัวตาย ซึ่งการยอมรับจากครอบครัวจะช่วยปกป้องภาวะซึมเศร้า พฤติกรรมการฆ่าตัวตาย การดื่มแอลกอฮอล์ และการใช้สารเสพติด รวมถึงการส่งเสริมความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง การสนับสนุนทางสังคม และการดูแลสุขภาพโดยรวม ล้วนเป็นปัจจัยช่วยปกป้องวัยรุ่น

ไม่ว่าจะเป็นวัยไหน หรือเป็นใคร เราคงไม่อยากเห็นหรือได้ยินเหตุการณ์เกี่ยวกับการฆ่าตัวตายเกิดขึ้นในสังคม มาร่วมด้วยช่วยกันป้องกันการฆ่าตัวตาย ตามคำขวัญปีนี้ว่า “Working together to prevent suicide” กันเถอะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก 1.Risk factors for suicide. https://healthyfamilies.beyondblue.org.au/age-13/mental-health-conditions-in-young-people/suicide/risk-factors-for-suicide

2.กรมสุขภาพจิต