๔๐ ปีของเพศวิถีศึกษา มีอะไรเปลี่ยนบ้าง?
ในศตวรรษที่ ๒๐ เพศวิถีแบบอนุรักษ์นิยม ถูกจัดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อปัญหาวิกฤตด้านสุขภาพและวัฒนธรรม เพศวิถีแบบเดิมจัดเพื่อให้คนหลีกเลี่ยงกามโรคและคงไว้ซึ่งความบริสุทธิ์ของศีลธรรม พฤติกรรมทางเพศของคนทั่วไปจึงไม่เกี่ยวข้องกับคนนอกสมรส และกฏ กติกาที่กำกับความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างชายหญิงที่มีร่างกายและจิตใจตรงกันเท่านั้น
ในจุดเริ่มต้นของเพศวิถีศึกษา จึงถูกจัดเพื่อให้คนหนุ่มสาวหลีกเลี่ยงความเจ็บป่วยทางกาย และความเจ็บป่วยของสังคม มันไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อส่งเสริมพัฒนาการสุขภาวะที่ดีและการดำเนินวิถีชีวิตในเชิงบวก ซึ่งประเด็นนี้สำคัญมากต่อเพศวิถีศึกษาที่พูดถึงกันในปัจจุบัน โดยโรงเรียนทั่วไปยังคงสอนเพศวิถีแบบเดิม ที่มุ่งเน้นการป้องกันการตั้งครรภ์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือมีจุดเริ่มต้นของการสอนจากจุดนี้ ทำให้เป็นเรื่องยากและท้าทายมากที่จะสอนเพศวิถีให้เป็นวิถีชีวิตในเชิงบวก ในขณะที่มีปัจจัยทางวัฒนธรรมครอบงำอยู่
สิ่งแปลกใหม่ที่เกิดขึ้น : คนหนุ่มสาวมีบทบาทในฐานะผู้สนับสนุนเพศวิถีศึกษา
ผู้ใหญ่หลายคนยังคงวิตกกังวลไม่แน่ใจต่อการสอนเรื่องเพศให้กับเยาวชน และบางกลุ่มถึงกับลุกขึ้นมาต่อต้าน แต่สิ่งที่น่าตื่นเต้นกว่านั้นคือ กลุ่มเยาวชนเองที่เป็นผู้สนับสนุนให้มีการสอนเพศวิถี เพราะมันเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญกับพวกเขา และต้องการเรียนรู้ให้มากไปกว่าเรื่องอวัยวะหรือส่วนต่างๆ ของร่างกาย การตั้งครรภ์ การป้องกันโรค แต่ไปให้ถึงเรื่องพื้นฐานความเป็นตัวตน อัตลักษณ์บุคคล การเรียกร้องให้มีบทเรียนเรื่องการตกลงยินยอมในความสัมพันธ์ของคู่ รวมถึงการมีมุมมองที่ท้าทายต่อวัฒนธรรมชายใหญ่ การเหมารวมทางเพศ ที่มักพบเห็นในรูปแบบ “ผู้ชายยังไงก็เป็นผู้ชาย” (boys will be boys) พลังเสียงของคนหนุ่มสาวเหล่านี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญต่อการจัดเพศวิถีในระบบการศึกษาทั้งโรงเรียน วิทยาลัย และในชุมชนต่างๆ
เทคโนโลยี : ข่าวดีและร้าย
การแพร่ขยายของอินเตอร์เนตในช่วงปี ๑๙๙๐ ทำให้ผู้คนเข้าถึงข้อมูลเรื่องเพศที่ตนต้องการรู้มากกว่าแต่ก่อน รวมทั้งเยาวชนที่ไม่ได้เรียนรู้เรื่องเพศจากในโรงเรียน หรือมักถูกห้ามไม่ให้เกี่ยวข้องกับ
เพศสัมพันธ์มาตลอดก็เช่นเดียวกัน การเข้าถึงข้อมูลที่ต้องการเป็นการยกระดับชีวิตของพวกเขา รวมถึงการมีข้อมูลความปลอดภัยต่างๆ ด้วย (life enhancing/ life saving) และการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตของกลุ่มคนที่เคยเป็นคนชายขอบ เช่น LGBT หรือเยาวชนที่อยู่ในพื้นที่ชนบทห่างไกล ต่างมีช่องทางในการเชื่อมต่อและสนับสนุนกันและกันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงข้อมูลที่เปิดกว้างก็มีอุปสรรคท้าทายคือ ข้อมูลที่ได้รับนั้นไม่ถูกต้อง หรือมาจากแหล่งข้อมูลที่ไม่ได้รับการเทรนที่ดี หรือไม่มีที่มา และการเข้าถึงเวบโป๊ออนไลน์ที่สะดวกขึ้น ทำให้เยาวชนเห็นภาพที่ทำขึ้นเพื่อตอบสนองจินตนาการทางเพศของผู้ใหญ่ได้อย่างชัดแจ้ง ซึ่งพวกเขาอาจคิดว่า มันคือภาพของพฤติกรรมและสัมพันธภาพที่เป็นจริง ดังนั้นสิ่งที่เรียกว่า เพศศึกษา จากเวบไซต์เหล่านี้จึงชัดเจนกว่าสิ่งที่กำลังเรียนรู้ในห้องเรียน แต่พวกเขากำลังได้รับข้อมูลที่ผิด แฝงอคติทางวัฒนธรรม มีการเหมารวม การด่วนตัดสินว่าใครควรมี/ไม่มี พลังหรือสิทธิพิเศษในเรื่องเพศ และอื่นๆ ..นอกจากอินเทอร์เนต ยังมีเทคโนโลยีทางการศึกษารูปแบบอื่นๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้นอย่างกว้างขวาง เพื่อใช้ในการสอนเพศวิถี สิ่งเหล่านี้ทำให้นักการศึกษายิ่งห่างจากผู้เรียนและบรรยากาศการเรียนรู้ที่มีความหมาย และนี่เป็นข้อสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้คนหนุ่มสาวมีบทบาทเป็นผู้นำในการเรียนรู้เพศวิถี เพราะเยาวชนมีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีมากกว่านักการศึกษาหลายๆ คน ดังนั้น นักการศึกษาหรือนักวิชาการเพศวิถีจำเป็นต้องผสมผสานความรู้ด้านเทคโนโลยีของเยาวชนให้เข้ากับการเรียนรู้เพศวิถี เพื่อออกแบบการเรียนรู้ที่ดีให้เกิดขึ้น
นักวิชาการเพศวิถีศึกษาต้องทำต่อไปอย่างไร?
ทุกวันนี้มีหลักสูตร บทเรียน ผลงานวิชาการมากมายทั่วไป รวมทั้งแบบเผยแพร่ออนไลน์ นักวิชาการเพศวิถีจำเป็นต้องเท่าทันข้อมูลและทันสมัยอยู่ตลอดเสมอ ทั้งด้านข่าวสาร ข้อมูล นโยบาย หรือเทรนด์/ความนิยมในกระแสปัจจุบัน การสมัครเป็นสมาชิกของเครือข่ายองค์กรต่างๆ เป็นวิธีการที่ง่ายที่สุดที่จะเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ที่จำเป็นต่อการพัฒนาออกแบบโปรแกรมการเรียนรู้ นอกจากนี้ ยังควรเข้าร่วมเวทีเสวนาระดับท้องถิ่น ชาติ ที่จะมีการแบ่งปัน แชร์ และสร้างเครือข่ายนักวิชาการเพศวิถีเพื่อติดตามสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศผ่านสื่อ การส่งสารด้านวัฒนธรรม ข้อโต้แย้งถกเถียงในสังคมวงกว้าง งานวิจัยใหม่ๆ การติดตามกระแสความนิยมในหมู่วัยรุ่น และนักวิชาการเพศวิถีก็ต้องทำงานร่วมกับผู้ให้การปรึกษา เพื่อเรียนรู้มากยิ่งขึ้นในเรื่องเพศวิถีศึกษา
คาดการณ์ในอนาคต
มีงานวิจัยมากมายที่บ่งบอกว่า อะไรที่มีประสิทธิภาพต่อการสอนเพศวิถีศึกษา ซึ่งเราควรเรียนรู้และนำลงสู่การปฏิบัติจริง ตัวอย่างเช่น เรารู้ว่า ลักษณะโปรแกรมการเรียนที่ดีต้องมีระยะเวลาที่เหมาะสม มีการเทรน/ฝึกฝนผู้นำที่มีความเชื่อเดียวกันอย่างเหมาะสม การระบุอิทธิพลของเพื่อน การสอนทักษะการสื่อสาร และสอนเพศวิถีอย่างรอบด้าน ครอบคลุมผู้เรียนที่มีความแตกต่างกัน และสอดคล้องกับวิถีทางเพศหรือเรื่องเพศของมนุษย์ในทุกแง่มุม ในขณะเดียวกันเพศวิถีศึกษายังถูกแวดล้อมด้วยบริบทด้านสังคมและวัฒนธรรม แม้จะมีข้อมูลบ่งชี้ว่า มีพ่อแม่จำนวนมากที่สนับสนุนการสอนเพศวิถี แต่โรงเรียนยังไม่สอนเพศวิถีในแบบอื่นๆ และยังคงมุ่งเน้นการสอนแบบห้ามมีเพศสัมพันธ์แบบเดิม ทั้งนี้กระแสขึ้นลงในเรื่องการสอนเพศวิถีก็ยังขึ้นอยู่กับนโยบายชาติด้วยเช่นกัน
นักวิชาการเพศวิถีศึกษาจึงไม่สามารถทำงานได้เพียงลำพัง เราต้องร่วมมือกับโรงเรียน ชุมชน และเครือข่ายองค์กรที่มีความเชื่อมั่นร่วมกัน เพื่อจัดการเรียนรู้เรื่องนี้ให้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเยาวชนในเชิงบวก เราต้องทำงานกับพ่อแม่ ผู้ปกครอง และผู้ดูแลเด็กและเยาวชนให้รู้ว่า ควรสอนอะไรให้เด็กในโรงเรียนและในชุมชน และเราไม่ควรหยุดฟังเสียงเรียกร้องจากเยาวชนเพื่อให้พวกเขารู้สึกมีภาคภูมิใจ มีความเชื่อมั่นในตนเอง และมีคุณค่า
แปลจาก 40 Years of Sexuality Education: What’s Changed?
By Clint Bruess, EdD, CHES, and Elizabeth Schroeder, EdD, MSW | October 16, 2018
Dean Emeritus, University of Alabama at Birmingham (CB) and Sexuality Educator, Trainer and Consultant, Elizabeth Schroeder Consulting (ES)