โรคไบโพลาห์กำลังเป็นที่พูดถึงอย่างมาก แต่ก็ยังมีอีกหลายๆคนที่ยังไม่รู้ และอาจจะยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคนี้ ถ้างั้น! เลิฟแคร์ขอเอาข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับไบโพลาห์มาให้อ่านกันอีกทีนะ
1.เด็กเล็กก็เป็นโรคไบโพลาร์ได้
โดยปกติโรคไบโพลาร์จะได้รับการวินิจฉัยในกลุ่มเด็กวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ตอนต้น แต่ก็มีรายงานว่าผู้คนจำนวนไม่น้อยมีอาการตั้งแต่ยังเด็ก โรคนี้ค่อนข้างวินิจฉัยยากในกลุ่มเด็กเล็กเนื่องจากอาการต่างๆจะคล้ายคลึงกับปัญหาสุขภาพจิตของเด็กเล็ก เช่น โรควิตกกังวลและโรคสมาธิสั้น
2.อาการจะไม่สลับกันอย่างรวดเร็วระหว่างอารมณ์ซึมเศร้ากับอารมณ์ดี
ในความเป็นจริงวงจรของโรคไบโพลาร์มักจะเกิดขึ้นติดต่อกันนานเป็นเดือนไม่ใช่แค่ประเดี๋ยวประด๋าว
3.โรคไบโพลาร์อาจเกิดจากกรรมพันธุ์
ผู้ที่มีญาติลำดับที่ 1 เป็นโรคไบโพลาร์จะมีแนวโน้มในการเป็นโรคนี้เพิ่มขึ้น หากพ่อแม่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นโรคไบโพลาร์ลูกๆก็มีโอกาสเป็นมากขึ้นประมาณร้อยละ 10
4.มักได้รับการวินิจฉัยผิด
การวินิจฉัยผิดเป็นเรื่องที่พบได้บ่อยมากสำหรับผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ เช่น เมื่อผู้ป่วยอยู่ในระยะเมเนียหรืออารมณ์ดีมากกว่าปกติก็อาจได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมาธิสั้นเนื่องจากมีอาการกังวลหรือคิดมาก กระสับกระส่าย และเสียสมาธิได้ง่าย เป็นต้น
5.อาการจะแย่ลงในระหว่างตั้งครรภ์
อาการของผู้หญิงจำนวนมากจะแย่ลงเมื่อตั้งครรภ์ ผู้หญิงที่เป็นโรคไบโพลาร์ประมาณร้อยละ 45 จะมีอาการทรุดลงทั้งในช่วงอารมณ์ซึมเศร้าและอารมณ์ดีมากกว่าปกติขณะที่ตั้งครรภ์
6.จุดสังเกตของโรคไบโพลาร์คือระยะเมเนีย
แม้ว่าผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ส่วนใหญ่จะมีอารมณ์แปรปรวนและฉุนเฉียวง่าย แต่อาการเหล่านี้ก็สามารถเห็นได้บ่อยจากปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆได้เช่นกันอย่างโรคซึมเศร้า ดังนั้นจุดสังเกตของโรคไบโพลาร์คือระยะเมเนียหรือช่วงอารมณ์ดีมากกว่าปกตินั่นเอง ผู้ป่วยจะมีอาการบ้าพลัง สำคัญตัวเองสูงเกินไป (คุยโวโอ้อวด) คิดมาก ความต้องการในการนอนน้อยลง มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายหรือสำส่อน พูดเร็วกว่าปกติ (พูดมากและพูดเร็วจนหาจังหวะแทรกไม่ได้) และพฤติกรรมที่ดำเนินไปสู่เป้าประสงค์
7.การรักษาโรคไบโพลาร์ด้วยยารักษาอาการซึมเศร้าเพียงอย่างเดียวค่อนข้างอันตราย
การรักษาโรคไบโพลาร์ด้วยยารักษาอาการซึมเศร้าเพียงอย่างเดียวอาจยิ่งกระตุ้นให้เกิดระยะเมเนียขึ้นมาอีก ยาควบคุมอารมณ์จึงเป็นแกนนำการรักษาสำหรับโรคนี้แล้วจึงค่อยเสริมยาชนิดอื่นๆเข้าไป
8.บ่อยครั้งที่โรคไบโพลาร์มักจะถูกวินิจฉัยผิดว่าเป็นโรคซึมเศร้า
มีงานวิจัยบอกว่าระยะเวลาที่ผู้ป่วยโรคไบโพลาร์จะได้รับการวินิจฉัยอย่างถูกต้องนั้นเฉลี่ยอยู่ที่ 8 ปี เนื่องจากในช่วงแรกผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ส่วนใหญ่มักจะถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า จากนั้นพวกเขาก็จะได้รับยารักษาอาการซึมเศร้าซึ่งทำให้อาการต่างๆแย่ลงไปอีก
9.มีกลุ่มช่วยเหลือสำหรับผู้ป่วยโรคไบโพลาร์
หากคุณหรือคนรักป่วยเป็นโรคไบโพลาร์ก็จงตระหนักไว้ว่าคุณไม่ได้อยู่เพียงลำพัง หนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการบรรเทาทุกข์จากปัญหาสุขภาพจิตคือการขอความช่วยเหลือและการสนับสนุนจากผู้ที่อยู่รอบตัวคุณ เช่น กลุ่ม Depression and Bipolar Support Alliance และกลุ่ม Emotions Anonymous เป็นต้น
ขอบคุณเนื้อหาจาก issue247.com/health/things-you-probably-did-not-know-about-bipolar-disorder/