ปัญหาท้องป้องกันยังไงให้ถูกจุด

รูปภาพจาก https://women.mthai.com/women-variety/334375.html

ประเทศไทยนั้นถือเป็นประเทศอันดับต้นๆ ของโลกที่ประสบปัญหาท้องในวัยเรียน โดยเป็นผลมาจากหลายหน่วยงานขาดการเข้าถึงประชาชน ประชาชนส่วนใหญ่ก็ไม่ให้ความสำคัญต่อปัญหาการท้องในวัยรุ่น และการศึกษาที่สอนวิธีป้องกันไม่ถูกวิธี หรือขาดสื่อที่นักเรียนสามารถเข้าใจถึงวิธีป้องกันอย่างถูกต้อง ทัศนคติของคนภายในประเทศที่คิดว่าการมีเพศสัมพันธ์ เป็นเรื่อง “ไม่ดี” “ไม่ควร” หรือเป็นเรื่องที่ “น่าอาย” ต้องรอให้โตก่อนจึงค่อยสอน จึงนำไปสู่ปัญหาท้องในวัยรุ่นและปัญหาการท้องไม่พร้อม

ทุกปีมีจำนวนวัยรุ่นตั้งครรภ์ในวัย10-19 ปี โดยในปี 2560 มีจำนวน 84,578 คน ซึ่งถือเป็นจำนวนที่เยอะมาก แต่พอเรามาเทียบกับปี 2559 ซึ่งในปีนั้นมีจำนวนการท้องในวัยรุ่นถึง 94,584 คน ก็พบว่าจำนวนได้ลดลงเป็นจำนวน 10,006 คน อันเนื่องมาจาก หน่วยงานต่างๆ ทั้งของรัฐบาลและเอกชน ที่พยายามแก้ไขปัญหาเหล่านี้ คอยให้ความรู้ นำเสนอข้อมูลต่างๆ และช่วยแก้ไขหรือให้คำแนะนำกับผู้ประสบปัญหาท้องในวัยรุ่น แต่ก็ยังมีปัญหาหลายๆ ด้านในการทำงานของหน่วยงานราชการไทยจึงทำให้ปัญหายังคงอยู่

ปัญหาการท้องในวัยรุ่น หรือท้องไม่พร้อมนั้น เป็นปัญหาที่ควรแก้ เพราะเรื่องนี้มันมีผลกระทบต่อประเทศในหลายๆ ด้าน เช่น ปัญหาเยาวชนขาดความรู้และทักษะที่เพียงพอ ปัญหาความเป็นอยู่ที่ไม่ดีเท่าที่ควร ปัญหาการออกกลางคัน ปัญหาคุณภาพชีวิตของแม่วัยรุ่นและลูก เป็นต้น การที่ประชาชนในประเทศมีปัญหาเหล่านี้ ซึ่งเป็นปัญหาพื้นฐานของหลายๆ ประเทศที่ต้องเจอ แม้รัฐได้พยายามใช้วิธีต่างๆ ในการแก้ไข แต่การแก้ที่ปลายเหตุนั้นเป็นสิ่งที่ผิด เราควรกลับไปแก้ไขจากต้นเหตุเลยนั่นก็คือ การป้องกันท้องในช่วงวัยรุ่น

วัยรุ่นส่วนหนึ่งมักคิดว่าเมื่อมีความรักแล้วต้องมีเพศสัมพันธ์ เพื่อแสดงออกถึงความรัก แต่อีกหลายคนก็อาจมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ต้องรักก็ได้ เพศสัมพันธ์นั้น คืออารมณ์ทางเพศที่เกิดโดยธรรมชาติ แต่ความรักนั้นคือความเชื่อใจ การไว้ใจซึ่งกันและกัน การเป็นแฟนกันจึงไม่จำเป็นต้องมีเพศสัมพันธ์กันเสมอไป แต่ถ้าจะมี

เพศสัมพันธ์กันก็ควรที่จะรู้ถึงวิธีการป้องกันทั้งฝ่ายชายละหญิง ถ้าไม่รู้ถึงวิธีป้องกันการท้องก็อาจจะนำไปสู่ปัญหาท้องในวัยรุ่นเหมือนเดิม ดังนั้นสังคม สถานศึกษา ไปจนถึง ครอบครัวจึงควรที่จะให้ความสำคัญกับปัญหานี้

การป้องกันการท้องในวัยรุ่นอันดับแรก ต้องเกิดมาจากพ่อแม่หรือผู้ปกครองที่ให้ความรู้เรื่องการป้องกัน สอนโดยไม่มีความคิดว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องน่าอาย เด็กหรือเยาวชนจึงต้องมีพื้นฐานขั้นแรกในการใช้ชีวิต อันดับที่ 2 คือ สถานศึกษา ต้องมีการสอนอย่างเปิดเผยให้นักเรียนเข้าใจถึงเนื้อหาเพื่อนำไปใช้หรือป้องกัน วัยรุ่นเป็นวัยที่อยากรู้อยากลอง หน่วยงานรัฐจึงต้องเข้ามามีบทบาทในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องวิธีการป้องกันการท้อง

ภาพจาก : https://www.dek-d.com/board/view/3050709/

วิธีการป้องกันการท้องมีหลากหลายวิธีทั้งชายและหญิง เช่น การสวมถุงยางอนามัยทั้งแบบของผู้ชายและของผู้หญิง ยาคุมแบบฝังหรือแบบกิน โดยที่ข้อมูลต่างๆ ในปัจจุบัน เราสามารถสืบค้นและหาแนวทางที่มากกว่านี้ การป้องกันก่อนมีเพศสัมพันธ์ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะสามารถป้องกันได้ทั้งการตั้งครรภ์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

แต่ถ้าหากเผชิญกับสถานการณ์ท้องไม่พร้อม ก็ไม่จำเป็นต้องทำแท้งเสมอไป ยังมีอีกหลายทางเลือก เช่น ยกให้สถานสงเคราะห์ หาครอบครัวบุญธรรม เป็นต้น ถ้าหากจะเลี้ยงเขาต่อไป โดยที่เขาต้องไม่เป็นปัญหาของสังคม สังคมต้องให้โอกาสทั้งตัวเด็กที่เกิดขึ้นมาบนโลกและตัวของแม่เด็กเอง บางอย่างคนในสังคมก็ควรมีส่วนร่วมรับผิดชอบ รัฐบาลก็ต้องพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ และเราเองต้องยอมรับในความผิดพลาดแล้วยอมรับความช่วยเหลือของผู้อื่นเพื่อก้าวต่อไป

ทั้งนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นทุกคนอาจมีส่วนทำให้เกิดปัญหาก็ได้ ทั้งครอบครัวที่ไม่ให้ความสำคัญในการให้ความรู้แก่เยาวชน ขาดการปลูกฝังทักษะ ความเข้าใจ และรู้จักวิธีป้องกัน สังคมที่ไม่ใส่ใจถึงปัญหาที่มีอยู่และ

ถ้าเกิดขึ้นกับคนในสังคมของตัวเองแทนที่จะช่วยแก้ไขกลับเป็นการซ้ำเติมแทน ทำให้ผู้ประสบปัญหาการท้องในวัยรุ่นขาดทั้งกำลังใจและเกิดความเครียดขึ้นอีกด้วย ดังนั้น สังคมควรที่จะมีส่วนในการช่วยกันป้องกันปัญหาหาและให้ความรู้แก่เยาวชนในชุมชนของตนเองด้วย ทุกคนในประเทศควรจะเปลี่ยนทัศนคติกับอคติที่ตนเองมีแล้วมาช่วยกันพัฒนาความคิดที่จะสร้างเสริมทักษะการเรียนรู้ทางด้านเพศวิถีศึกษาแก่วัยรุ่นให้มากขึ้น ให้ได้รู้จักเรียนรู้และเข้าใจมัน เพื่อลดปัญหาการท้องในวัยรุ่น ถ้าพวกเราพร้อมแล้วที่จะเปลี่ยนสังคม เราก็จะมาเปลี่ยนสังคมไปพร้อมๆ กันนะครับ

นาย สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ
โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ หอวัง นนทบุรี
รางวัลชมเชยในการประกวด “Lovecares Young Creative Contest 2018”

ข้อมูลอ้างอิง

* กระทรวงสาธารณสุข.(2560). คู่มือสถิติการคลอดของแม่วัยรุ่นในประเทศไทย.สืบค้นเมื่อ 27 ตุลาคม 2561,จาก http://rh.anamai.moph.go.th/ewt_dl_link.php?nid=147

* เลิฟแคร์สเตชั่น.(2561). ท้องต่อหรือยุติมีทางเลือก.สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2561, จาก https://www.lovecarestation.com * https://www.google.com/url?sa=i&source=images&cd=&cad=rja&uact=8&ved=2ahUKEwjfgoP0jfDfAhWYXn0KHQHPDJEQjRx6BAgBEAU&url=https%3A%2F%2Fpantip.com%2Ftopic%2F35758304&psig=AOvVaw2pkDCrHUid-hnSsXVxG_AL&ust=1547652720344633 * https://www.google.com/url?sa=i&source=images&cd=&cad=rja&uact=8&ved=2ahUKEwigzMSJjvDfAhXMWisKHXmVAnEQjRx6BAgBEAU&url=https%3A%2F%2Fwww.matichon.co.th%2Flifestyle%2Fnews_739910&psig=AOvVaw2pkDCrHUid-hnSsXVxG_AL&ust=1547652720344633