แพธทูเฮลท์จับมือเครือข่าย เดินหน้าแก้ปัญหาสุขภาพจิตวัยรุ่น

เยาวชนเผยควรแก้ พ.ร.บ.ให้เด็กพบจิตแพทย์ได้เอง ด้านครู-ผู้ปกครองชี้เด็กที่มีปัญหาส่วนใหญ่มีผลการเรียนดี แต่ถูกกดดันจากครอบครัว แนะไม่ควรพูดประโยคต้องห้าม “เดี๋ยวมันก็ผ่านไป” กับผู้ป่วยซึมเศร้า

เมื่อวันที่ ๑๗ ก.ย.ที่ผ่านมา โครงการเลิฟแคร์ มูลนิธิแพธทูเฮลท์ จัดการประชุมเครือข่ายสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น ครั้งที่ ๒ ขึ้นที่โรงแรมรอแยล เบญจา กรุงเทพฯ โดยการสนับสนุนจากองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย เนื่องจากการตระหนักถึงปัญหาสุขภาพจิตที่วัยรุ่นกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ซึ่งอ้างอิงจากข้อมูลสายด่วนสุขภาพจิต ๑๓๒๓ ที่ระบุว่าในช่วง ๖ เดือนแรกของปีงบประมาณ ๒๕๖๒ มีผู้โทรปรึกษาจำนวน ๔๐,๖๓๕ ครั้ง เป็นเด็กและวัยรุ่น อายุ ๑๑-๒๕ ปี จำนวน ๑๓,๖๕๘ ครั้ง และมีแนวโน้มที่จะคิดหรือพยายามฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๖๑ นับเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง การประชุมฯ ครั้งนี้จึงเป็นเวทีให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นได้มาแลกเปลี่ยนความคิด เกิดเป็นเครือข่ายทำงานร่วมกันในการดูแลและแก้ไขปัญหาต่อไป

การเสวนาภาคเช้า ในหัวข้อ “สานพลังร่วมดูแลสุขภาพจิตวัยรุ่น” นางสาวปราชญา ศิริ์มหาอาริยะโพธิ์ญา หรือญา คณะบริหารสภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพ หนึ่งในตัวแทนเด็กและเยาวชน เล่าถึงประสบการณ์ในวัยเด็กที่เธอมีเพื่อนประสบปัญหาด้านสุขภาพจิต เกิดอาการเครียดเนื่องจากพ่อแม่ไม่มีเวลาให้ และถูกดุด่าว่ากล่าว จนดื่มน้ำยาทำความสะอาดห้องน้ำเพื่อพยายามฆ่าตัวตาย เธอจึงแนะนำให้เพื่อนไปปรึกษาจิตแพทย์ แต่พ่อแม่ของเพื่อนคนนั้นกลับไม่ให้ความยินยอม เพราะเกรงว่าลูกจะมีประวัติการรักษาติดตัว ซึ่งก่อนหน้านี้เธอเคยพาเพื่อนไปพบจิตแพทย์มาก่อนแล้ว ก็พบว่าต้องได้รับการยินยอมจากพ่อแม่ของผู้ป่วยเช่นเดียวกัน จึงจะเริ่มการรักษาได้ ด้วยเหตุนี้เธอจึงตัดสินใจเรียกร้องให้แก้ไข พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ.๒๕๕๑ เพื่อให้เด็กอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี เข้ารับการรักษาด้านสุขภาพจิตในเบื้องต้น โดยไม่ต้องมีผู้ปกครองให้การยินยอม เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้พบจิตแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป

คุณลี่ ตัวแทนจากผู้ปกครองที่มีลูกป่วยด้วยโรคทางจิตเวช กล่าวว่าที่ผ่านมาตนเองก็เลี้ยงดูแบบผู้ปกครองทั่วไป ให้อิสระทางความคิดและการใช้ขีวิต ซึ่งระหว่างนั้นลูกก็เหมือนเด็กๆ ที่เรียนรู้ในการใช้ชีวิต มีดีบ้างมีปัญหาบ้าง แต่ในทุกครั้งที่เกิดความสับสน ก็มีอาการซ่อนอยู่ แต่ไม่เคยสังเกต เนื่องจากไม่รู้จักโรคทางนี้ แต่เมื่อเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ต้องไปอยู่หอ ลูกก็เริ่มเปลี่ยนไป มีพฤติกรรมคล้ายเด็กเกเร เก็บตัวอยู่ในห้อง ไม่อยากเจอผู้คน และอาการหนักขึ้นเมื่อคิดที่จะฆ่าตัวตาย จนต้องไปพบแพทย์และรับประทานยาเพื่อรักษา ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดนี้เธอเพิ่งมาทราบภายหลังเมื่อลูกอาการดีขึ้นแล้ว โชคดีที่ตอนนั้นทางมหาวิทยาลัยมีกลุ่มสำหรับรองรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต ได้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน หลังจากนั้นตนเองก็เริ่มหาความรู้เกี่ยวกับสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น เรียนรู้ที่จะดูแลตัวเอง เพื่อที่จะได้ดูแลผู้อื่น จนเข้าใจลูกมากขึ้น ต่อมาลูกก็เริ่มอธิบายความคิดและความรู้สึกให้เธอฟัง และเธอก็กลายเป็นที่ปรึกษารับฟังปัญหาจากเพื่อนๆ ของลูกอีกด้วย

อาจารย์วิภา เกตุเทพา ครูแนะแนว โรงเรียนสตรีวิทยา ๒ ในพระราชูปถัมภ์ฯ แบ่งปันประสบการณ์ที่พบจากวิชาชีพครูว่าเด็กที่มีปัญหาสุขภาพจิตมักเป็นเด็กที่มีผลการเรียนดี มีครอบครัวสมบูรณ์พร้อม แต่ถูกกดดันหรือคาดหวังจากครอบครัว จนรู้สึกว่าทางออกของปัญหาคือการหายไปจากโลกนี้ จึงนำมาสู่การฆ่าตัวตาย

“ประโยคต้องห้ามสำหรับเด็กที่เป็นโรคซึมเศร้าคือ ใจเย็นๆ เดี๋ยวมันก็ผ่านไป เพราะจะยิ่งทำให้เด็กรู้สึกแย่และผลักเขาไปสู่ความตายเร็วขึ้น สิ่งที่ครูพอจะทำได้คือการช่วยประคองให้เด็กมีชีวิตรอดต่อไปในสภาวะที่จิตใจไม่เข้มแข็ง เช่น เป็นที่ปรึกษา คอยรับฟังปัญหา หมั่นเยี่ยมบ้าน สิ่งที่อยากเสนอเพิ่มเติมคือแต่ละโรงเรียนควรมีนักจิตวิทยาเพื่อคอยให้คำปรึกษาแก่เด็ก และควรสร้างห้องเรียนสำหรับพ่อแม่เพื่อให้ความรู้เรื่องการเลี้ยงดูลูกอย่างถูกต้อง แต่ปัญหาคือยังขาดความร่วมมือจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งในแง่นโยบายและงบประมาณ” อาจารย์วิภากล่าว

ทางด้านแพทย์หญิงวิมลรัตน์ วันเพ็ญ รองผู้อำนวยการฝ่ายแพทย์ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ได้ให้มุมมองในส่วนของราชการว่าขณะนี้กรมสุขภาพจิตมีการหารือกันว่าจะนำโครงการตรวจหาเชื้อเอชไอวีในวัยรุ่น มาเป็นต้นแบบในการตรวจคัดกรองปัญหาสุขภาพจิตในเด็กและวัยรุ่น หากเด็กมีความเข้าใจทั้งข้อดีและข้อเสียของการรักษา และสามารถรับผิดชอบตัวเองได้ ทางจิตแพทย์ก็สามารถรักษาได้ แต่อย่างไรก็ตามหากมีการประเมินแล้วพบว่าเด็กมีแนวโน้มจะทำร้ายตัวเอง หรือต้องจ่ายยาเพื่อรักษา ก็จำเป็นที่จะต้องแจ้งผู้ปกครองให้ทราบ เพราะยาที่ใช้รักษาอาการทางจิตเวชบางประเภทไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้าน ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของเด็กที่เข้ารับการรักษา

การประชุมในภาคบ่าย เป็นบรรยากาศของวงคุยวิเคราะห์ 8 กรณีศึกษาของวัยรุ่นที่มีปัญหาสุขภาพจิต ผู้เข้าร่วมการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ความรู้ และประสบการณ์กันอย่างเต็มที่ ซึ่งแทบทุกกรณีศึกษาพบปัญหาคล้ายกันคือผู้ป่วยยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการรักษาได้เท่าที่ควร รวมถึงคนรอบข้างที่ไม่ได้ให้การดูแลช่วยเหลือ และขาดความเข้าใจต่อปัญหาสุขภาพจิต

แพทย์หญิงสมสิริ สกลสัตยาทร ที่ปรึกษากรรมการอำนวยการ สมาคมแพทย์สตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ กล่าวว่าสังคมแรกของเด็กก็คือพ่อแม่ ต่อมาคือญาติพี่น้อง และโรงเรียน ทุกส่วนสามารถช่วยเหลือดูแลเด็กให้ห่างไกลจากปัญหาสุขภาพจิตได้

“โลกทุกวันนี้เปลี่ยนไปแล้ว เพราะฉะนั้นเด็กจะถูกเลี้ยงดูแบบเดิมไม่ได้ สิ่งที่น่ากลัวในตอนนี้ก็คือการเลี้ยงลูกด้วยมือถือหรือไอแพด มันทำให้เด็กไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย ไม่ได้ออกไปไหน นี่คือปัญหาที่เราต้องช่วยกันแก้ไข โจทย์ใหม่ที่น่าสนใจคือการนั่งสมาธิ ซึ่งจะช่วยให้เด็กจิตใจสงบและอ่อนโยน เป็นวิถีที่ฝรั่งเริ่มนิยมนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะการนั่งสมาธิไม่ได้ผูกติดแค่กับศาสนาพุทธเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของการยกระดับจิตใจ ดังนั้นไม่ว่าใครก็สามารถทำได้” แพทย์หญิงสมสิริกล่าว

อาจารย์วิภา เกตุเทพา เสนอแนะแนวทางปิดท้ายเพิ่มเติมว่าวิธีการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นที่ดีที่สุดคือการเข้าใจกระบวนการทางจิตวิทยา ซึ่งเป็นหลักสากลที่เข้าใจตรงกันทั้งโลก ว่าด้วยการเข้าใจมนุษย์ ๓ สิ่งคือเข้าใจความคิด เข้าใจความรู้สึก และเข้าใจพฤติกรรม ประกอบกับทักษะการให้คำปรึกษาที่ดี ซึ่งเชื่อว่าทุกคนที่เกี่ยวข้องกับวงการสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นต่างมีความสามารถกันอยู่แล้ว เพียงแต่คนรอบตัวของผู้ที่ประสบปัญหานั้นอาจจะยังขาดความรู้และความเข้าใจในเรื่องนี้ หน้าที่ของทุกคนก็คือการถ่ายทอดและส่งต่อความรู้ไปในวงกว้าง เปรียบเหมือนการจุดเทียนคนละเล่มแล้วส่งต่อไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็จะช่วยกันพาผู้ที่ประสบปัญหาออกจากที่มืดไปสู่ที่ที่มีแสงสว่างได้

ดวงใจ ตั้งสายัณห์