สปสช.ชี้ผู้ป่วยโพสต์ระบายทางโซเชียลฯ มากขึ้น เลขาฯ หมอชาวบ้านแนะควรนำคนดังมารณรงค์เจาะกลุ่มวัยรุ่น ด้านตัวแทนเยาวชนรวบรวมรายชื่อยื่นขอความชัดเจนว่าเด็กต่ำกว่า 18 ปีก็รักษาได้ ขณะที่ เทรนด์ปรึกษาออนไลน์มาแรง พบจิตแพทย์ได้ง่ายๆ ผ่านแอปฯ
เมื่อวันที่ 6 ต.ค.โครงการเลิฟแคร์ มูลนิธิแพธทูเฮลท์ ได้จัดงาน “การเรียนรู้ภาคีเครือข่ายทำงานด้านสุขภาพจิต กับ platform online” ณ ห้องประชุม โรงแรมฟูราม่า สีลม โดยมีองค์กรและหน่วยงานด้านสุขภาพจิตที่มีช่องทางการทำงานออนไลน์เข้าร่วมกว่า 60 คน
นพ.รัฐพล เตรียมวิชานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่าขณะนี้เราอยู่ในโลกของอินเทอร์เน็ต ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหรือผู้ที่ประสบปัญหาด้านสุขภาพจิตมักจะขาดเพื่อนที่คอยรับฟัง จึงเลือกใช้โซเชียลมีเดียเพื่อระบายความทุกข์ใจ หลายหน่วยงานจึงให้ความสำคัญกับการให้คำปรึกษาทางออนไลน์มากขึ้น นอกจากนี้ระบบของเฟซบุ๊กยังมีการตรวจจับโพสต์ที่เข้าข่ายหรือสุ่มเสี่ยงว่าอาจเกิดการฆ่าตัวตาย แล้วให้ความช่วยเหลือทันที
ผศ.เนตรนภา ขุมทอง เลขาธิการมูลนิธิหมอชาวบ้าน เปิดเผยว่าวัยรุ่นยุคปัจจุบันสนใจหาความรู้เกี่ยวกับสุขภาพจิตมากขึ้น เพราะบุคคลที่มีชื่อเสียงที่พวกเขาชื่นชอบนั้นป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหรือโรคอารมณ์สองขั้ว (ไบโพลาร์) และต้องการสำรวจตนเองด้วยว่ามีอาการเข้าข่ายโรคดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งหากเรานำอินฟลูเอนเซอร์หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงที่ประสบปัญหาด้านสุขภาพจิตมาช่วยทำโครงการรณรงค์ในเรื่องต่างๆ ก็จะสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นวัยรุ่นได้มากขึ้น
ด้านทพ.ญ.กัญจน์ภัสสร สุริยาแสงเพ็ชร์ ผู้ก่อตั้งแอปพลิเคชั่นและเว็บไซต์ Ooca (อูก้า) กล่าวว่าแอปพลิเคชันอูก้าเกิดขึ้นเพราะตนเองอยากให้ผู้ที่ประสบปัญหาด้านสุขภาพจิตสามารถเข้าพบจิตแพทย์ได้ง่ายขึ้น โดยผู้ใช้บริการจะวิดีโอคอลพูดคุยปรึกษากับจิตแพทย์ได้แม้อยู่ที่บ้าน เป็นการลดขั้นตอนและอุปสรรคที่จะเข้าถึงการบริการ เช่น ต้องรอพบแพทย์เป็นเวลานาน หรือผู้ป่วยต้องการความเป็นส่วนตัว ปัจจุบันก่อตั้งมาแล้ว 19 เดือน มีผู้ใช้บริการราว 53,000 ราย ล่าสุดมีโครงการกำแพงพักใจ เพื่อช่วยเหลือปัญหาด้านสุขภาพจิตของนักศึกษาระดับปริญญาตรี โดยมีมหาวิทยาลัยลงนามเข้าร่วมโครงการแล้ว 4 แห่งคือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สามารถรับบริการปรึกษาผ่านระบบออนไลน์โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
เด็กหญิงปราชญา ศิริ์มหาอาริยะโพธิ์ญา ประธานสภาเด็กและเยาวชนเขตบางกะปิและแกนนำเลิฟแคร์ หนึ่งในตัวแทนเด็กและเยาวชน เล่าถึงโจทย์ใหญ่ด้านสุขภาพจิตที่เธอกำลังขับเคลื่อนอยู่ในขณะนี้คือ พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ.2551 มาตรา 21 (วรรค 3) ที่ต้องการความชัดเจนของข้อกฎหมาย เพื่อให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ได้เข้ารับการรักษาด้านสุขภาพจิตในเบื้องต้น โดยไม่ต้องมีผู้ปกครองให้การยินยอม
“มติที่ประชุมสรุปว่าในวันสุขภาพจิตโลก (10 ต.ค.) นี้ จะมีการผลักดันกรณีดังกล่าว เราจะรวบรวมรายชื่อจากเครือข่ายที่ทำงานด้านสุขภาพจิต ยื่นข้อเรียกร้องให้ทางกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการให้บริการของสถานพยาบาลทั่วประเทศ ที่บางแห่งอาจจะยังปฏิเสธการรักษาเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เพราะบุคลากรมีความเข้าใจผิดหรือกังวลว่าจะผิด พ.ร.บ. ซึ่งตามกฎหมายแล้วจิตแพทย์หรือแพทย์นั้นสามารถรักษา ให้คำแนะนำ และจ่ายยาแก่เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีได้ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง ยกเว้นว่าจะเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยใน (In Patient Department) ที่จำเป็นจะต้องแจ้งให้ผู้ปกครองทราบ”