Girls Get Equal

กิจกรรมรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักในเรื่องสิทธิของเด็กผู้หญิง ความเสมอภาคในการเข้าถึงสิทธิต่างๆ เช่น การศึกษา สุขภาพ การปกป้องคุ้มครอง การมีส่วนร่วมพัฒนาสังคม เศรษฐกิจและการเมือง รวมถึงมีความรู้สึกปลอดภัยในการใช้ชีวิต ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม ปราศจากการตีตราและเลือกปฏิบัติ (Equal Freedom) มีอำนาจในการตัดสินใจที่เท่าเทียม (Equal Power) และมีภาพลักษณ์ที่มีคุณค่าในพื้นที่สื่อ กีฬา การทูต และการเป็นผู้นำองค์กร (Equal Representation) ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพในตัวเด็กผู้หญิง เพื่อเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงสังคมต่อไป

“Girls Get Equal” เกิดจากความร่วมมือระหว่างองค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เนื่องในวันเด็กผู้หญิงสากล (International Day of Girls) ซึ่งตรงกับวันที่ 11 ตุลาคม ของทุกปี และในวันที่ 11 ตุลาคม 2562 นี้ ก็ได้จัดกิจกรรมที่ห้องประชุมใหญ่ อาคารวิจัยและการศึกษาต่อเนื่อง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมาร มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร เพื่อเฉลิมฉลอง ซึ่งภายในงานมีสาระดีๆ มากมายทั้งนิทรรศการและวงเสวนา

ข้อมูลน่าสนใจคือ เด็กผู้หญิงมากกว่า 3 พันล้านคนต้องแต่งงานเมื่ออายุยังน้อย และ 1 ใน 3 ที่แต่งงานถูกใช้ความรุนแรงในครอบครัวรวมถึงความรุนแรงทางเพศด้วย เด็กผู้หญิงมากกว่า 200 ล้าน ต้องตั้งท้อง เพราะเข้าไม่ถึงยาคุมกำเนิด และยังมีความไม่เท่าเทียมอีกมากมายที่เกิดขึ้นกับเด็กผู้หญิงในโลกนี้

ในการเสวนาหัวข้อ “สิทธิเด็กผู้หญิงและผู้หญิง เสียงสะท้อนและแนวทางการแก้ไข” เป็นเสียงสะท้อนจากกลุ่มเด็กและเยาวชนชาติพันธุ์ กลุ่มไร้รัฐไร้สัญชาติ และกลุ่มเคลื่อนย้าย โดยน้องการ์ตูน แอน ธนกร อ้อน คำยิ่ง และนลินี ที่ได้บอกเล่าประสบการณ์การถูกเลือกปฏิบัติ เช่น การถูกล้อเลียนในความเป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศ การถูกมองว่าแปลกแยกจากคนอื่นๆ เพราะไร้สัญชาติ และไม่ใช่คนไทย ทำให้ไม่กล้าออกนอกพื้นที่แม้จะเจ็บป่วยเพราะกลัวว่าจะถูกตำรวจจับ ไม่มีโอกาสได้เรียน เพราะเป็นเด็ก G (นักเรียนไร้สัญชาติ) รวมถึงถูกล่วงละเมิดทางเพศภายในแคมป์ เด็กผู้หญิงอายุต่ำว่า 18 ปี ต้องแต่งงานทั้งที่ไม่พร้อม เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ทำให้พวกเขาขาดโอกาสที่จะพัฒนาตัวเอง ไม่มีอำนาจที่จะตัดสินใจ มองไม่เห็นศักยภาพของตัวเอง ไม่สามารถไปถึงฝั่งฝัน สิ่งที่น้องๆ ต้องการคือ “ความเท่าเทียม” ในทุกๆ ด้าน และมีคนรับฟังเสียงของเขา

เสวนาต่อมาน่าสนใจไม่แพ้กัน คือเรื่อง “คนรุ่นใหม่กับความเสมอภาคระหว่างเพศ” โดยนักกิจกรรมเยาวชนที่ขับเคลื่อนประเด็นสังคมและความเท่าเทียม ผู้ร่วมเสวนา 4 คน ได้แก่ พี่หนู (นลัทธร ไกรฤกษ์) บรรณาธิการเว็บไซต์ ThisAble.me พี่ปังปอนด์ (กฤตนัน ดิษฐบรรจง) ผู้จัดตั้งเครือข่ายเยาวชนผู้ติดเชื้อเอชไอวี (ประเทศไทย) พี่นุ่น (ธารารัตน์ ปัญญา) และพี่นิหน่า (ฐานิตา วงศ์ประเสริฐ) นักเคลื่อนไหวด้านความหลากหลายทางเพศ ทั้ง 4 คนได้แลกเปลี่ยนประเด็นที่พบเจอจากการทำงาน

พี่หนูเล่าว่า คนพิการมักถูกมองข้ามในการเรียนรู้เรื่องเพศของตัวเอง ซึ่งปกติก็คุยกันยากอยู่แล้ว ยิ่งเป็นเรื่องเพศของคนพิการยิ่งไม่มีการพูดถึง ทั้งที่เป็นเรื่องธรรมชาติของทุกคนรวมทั้งคนพิการด้วย อีกทั้งยังถูกบังคับให้คุมกำเนิดหรือทำหมันตั้งแต่มีประจำเดือนครั้งแรก เพราะความหวังดีของหมอที่ไม่อยากให้ลูกเกิดมาพิการเหมือนกัน และยังได้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมในการใช้ชีวิตของคนพิการอีกหลายอย่าง เช่น การเรียนในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อ การเดินทางที่ไม่สะดวก ในฐานะคนพิการคนหนึ่งที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม พี่หนูจึงลุกขึ้นมาทำเว็บไซต์ ThisAble.me เพื่อเป็นพื้นที่ในการบอกเล่าเรื่องราวของคนพิการ ที่ไม่ใช่มุมมองเดิมๆ แบบที่คนทั่วไปรับรู้ เพราะคนพิการก็คือคนธรรมดาคนหนึ่ง ไม่ได้อยากเป็นคนพิเศษ

ส่วนพี่ปังปอนด์ ก็แชร์เรื่องราวของผู้ติดเชื้อ HIV ที่ถูกเลือกปฏิบัติ เช่น บังคับให้ฝังยาคุมเพราะไม่อยากให้มีลูก ทั้งที่ไม่เคยถามความสมัครใจ บังคับให้ตรวจเลือดก่อนสมัครงาน เมื่อพบว่าติดเชื้อ HIV กลับถูกปฏิเสธหรือให้ออกจากงาน นักเรียนที่มีเชื้อ HIV บางรายถูกบังคับให้ลาออก หรือนั่งเรียนหลังห้องคนเดียวแยกจากคนอื่น แม้จะมีกฎระเบียบให้โรงเรียนต้องดูแลเท่าเทียมกับนักเรียนคนอื่นๆ ก็ตาม

ด้านพี่นุ่น แชร์ประสบการณ์ที่ต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องความยุติธรรมให้ตัวเองจากการถูกคุกคามทางเพศในมหาวิทยาลัย เพราะไม่มีหน่วยงานช่วยเหลือที่ชัดเจน ต้องวิ่งหาความช่วยเหลือและเขียนบันทึกเล่าเรื่องราวด้วยตัวเองแทนที่จะมีนักจิตวิทยาหรือนักกฎหมายยื่นมือเข้ามาช่วย กลับต้องพยายามพิสูจน์ตัวเองให้คนรอบข้างเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ท่ามกลางบรรยากาศทางสังคมที่มักโทษหรือตำหนิผู้หญิงมากกว่าผู้ชายที่เป็นคนกระทำ เช่น ทำไมไม่ดูแลตัวเอง ทำไมให้เขาข่มขืนได้ล่ะ เป็นต้น ปิดท้ายด้วยประเด็นความเสมอภาคทางการสมรสของพี่นิหน่า ในการพยายามแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1448 ที่อนุญาตให้ผู้ชายและผู้หญิงแต่งงานกันได้เท่านั้น ซึ่งเป็นการกีดกันคนที่มีความหลากหลายทางเพศ รวมไปถึงสิทธิในเรื่องอื่นๆ ที่จะได้รับจากการจดทะเบียนด้วย

ทั้ง 4 คนคือตัวอย่างของนักกิจกรรมที่เริ่มสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม โดยเริ่มต้นจากตัวเราเอง จากสิ่งที่สนใจ (ไม่ต้องยิ่งใหญ่) จากปัญหาที่เจอ และจากการลงมือทำ เพราะทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้

ช่วงบ่ายของงานเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ใน 3 หัวข้อ คือ 1) folkcharm โมเดลกิจการเพื่อสังคม 2)การเขียนโครงการเพื่อขอรับทุน แบบง่ายๆ และ 3) การณรงค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมผ่านสื่อออนไลน์ จากเว็บไซต์ ThisAble.me

ถือว่าเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมดีๆ ที่ทำให้สังคมตระหนักถึงสิทธิของเด็กผู้หญิงมากขึ้น แต่คงไม่ใช่เฉพาะวันนี้เท่านั้น เพราะในทุกๆ วัน ทุกคนคือพลังสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้าง “พลังของเด็กผู้หญิง” ไปด้วยกัน

พี่เลิฟแคร์

# Girls Get Equal