รวมพลังเยาวชน เตรียมรณรงค์เอดส์ 2562

ใกล้จะถึงวันเอดส์โลกแล้ว เชื่อว่าทุกคนคงรู้จักวันนี้ดี แต่ยังมีคนจำนวนมากที่อาจจะไม่เข้าใจหรือมีความรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์มากพอ ทำให้เกิดความกลัว การรังเกียจ การตัดสินหรือตีตรา และเข้าใจผิดหลายๆ อย่าง ซึ่งแกนนำเยาวชน Lovecare Club และสภาเด็กและเยาวชนในเขต กทม.และปริมณฑล ก็ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้มาร่วมกันหารือประเด็นและรูปแบบที่จะจัดกิจกรรมเนื่องในวันเอดส์โลกปีนี้ ในการประชุมแกนนำเยาวชน Lovecare Club /สภาเด็กและเยาวชน เพื่อวางแผนการรณรงค์งานเอดส์โลก วันที่ 29 ตุลาคม 2562 ณ โรงแรมรอแยล เบญจา กรุงเทพ จำนวน 30 คน โดยมีการ update สถานการณ์เกี่ยวกับโรคเอดส์ก่อนจะวางแผนงานกัน

นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว หรือ พี่จิ๊ด ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย เล่าให้น้องๆ ฟังว่า ประเทศไทยตั้งเป้าหมายยุติปัญหาเอดส์ ในปี 2573 ครอบคลุม 3 เรื่อง 1.ลดอัตราผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ให้เหลือน้อยกว่า 1000 รายต่อปี 2.ลดการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อเอชไอวี เหลือปีละไม่เกิน 4,000 ราย และ 3.ลดการรังเกียจ การเลือกปฏิบัติจากเดิมร้อยละ 90 ซึ่งปี 2562 พบว่า มีคนตรวจเลือดหาเชื้อ HIV ปีละประมาณ 1 ล้านคน พบการติดเชื้อ 36,000 คน ซึ่งพบมากที่สุดในกลุ่มวัยทำงาน วัยรุ่น และผู้สูงอายุ (ตามลำดับ) ในประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อ HIV ที่ได้รับการรักษาตามสิทธิประมาณ 400,000 คน และยังไม่เข้าสู่ระบบการรักษาแม้จะรู้ว่าตัวเองมีเชื้อ HIV ประมาณ 1 แสนคน และมีผู้ติดเชื้อ HIV ที่เสียชีวิตเมื่อปี 2561 ประมาณ 20,000 คน เนื่องจากเข้ารับการรักษาช้า คิดว่ารักษาไม่ได้ และกังวลเรื่องผลกระทบในการใช้ชีวิต เช่น ถูกรังเกียจ ถูกบังคับให้ตรวจเลือด ให้ออกจากงาน เป็นต้น ซึ่งการเลือกปฏิบัติเหล่านี้กลายเป็นกำแพงสังคมที่ทำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีและคนใกล้ชิดอยู่ยาก จึงเป็นเรื่องของทุกคนที่ต้องช่วยกันพาสังคมให้ก้าวข้ามกำแพงนี้ไปให้ได้ เพราะความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวีสามารถเกิดขึ้นกับทุกช่วงวัย ถ้ามีเพศสัมพันธ์ไม่ได้ป้องกัน หากต้องการรู้ว่าตัวเองมีเชื้อเอชไอวีหรือไม่ สามารถตรวจเลือดเอชไอวีฟรีปีละ 2 ครั้งที่รพ.ของรัฐทุกแห่ง ถ้าหากพบว่าติดเชื้อ HIV เข้าสู่ระบบการรักษาฟรีตามสิทธิ โดยเริ่มรับยาต้านไวรัสได้ในวันเดียวกับที่ตรวจพบว่าติดเชื้อ (Same Day ART) และหากกินยาต้านเชื้อเอชไอวีอย่างถูกต้องเกิน 6 เดือนขึ้นไป และตรวจปริมาณเชื้อเอชไอวีในเลือดเหลือน้อยกว่า 40-50 ตัว (copies) ต่อหนึ่งซีซีของเลือด หรือที่เรียกกันว่า “ตรวจไม่เจอ” คนๆ นั้นจะไม่แพร่เชื้อให้ใครได้อีก นั่นคือ ที่มาของ U = U (Undetectable = Untransmittable) ไม่เจอเท่ากับไม่แพร่ เพราะฉะนั้นการตรวจเร็ว รักษาเร็ว ก็จะช่วยยุติเอดส์ได้ หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมหรือต้องการรับการปรึกษา สามารถโทรสายด่วนเอดส์และท้องไม่พร้อม 1663 เวลา 9.00-21.00 น. ทุกวัน หรือ Facebook เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์แห่งประเทศไทย

ในส่วนของเยาวชนจากเครือข่ายเยาวชนที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี ประเทศไทย ก็ได้แชร์ประสบการณ์ที่ได้มีโอกาสไปร่วมเวทีเอดส์โลก 2018 ที่อัมสเตอร์ดัม ว่า ในสหรัฐอเมริกาบางรัฐ วัยรุ่นจะถูกกีดกันไม่ให้เรียนรู้เรื่องเพศ ไม่มีการสอนเพศศึกษา ไม่สามารถหาซื้อถุงยางได้ด้วยตัวเอง และยังถูกตีตราคล้ายกับบ้านเรา เยาวชนที่ไปร่วมประชุมจึงได้ยื่นข้อเสนอต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ นายกฤตนัน ดิษฐบรรจง และพิณลดา ศรีพจน์ กล่าว

ช่วงท้ายของวัน น้องๆ ได้ร่วมระดมสมองเพื่อค้นหาประเด็นรณรงค์ที่ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญของงานเอดส์ในประเทศไทย ซึ่งต่างเห็นตรงกันว่าคือ “ทัศนคติ” ต่อโรคเอดส์/HIV ที่เป็นด้านลบ เช่น เป็นคนไม่ดี ไม่มีค่า ไม่ปกติ ฯลฯ เป็นเรื่องใหญ่เพราะส่งผลต่อสภาพจิตใจของผู้มีเชื้อเอชไอวีอย่างมาก รวมถึงควรมีการให้ความรู้ใหม่ๆ เช่น ยาต้านไวรัสก่อนสัมผัสเชื้อ HIV (PrEP) ยาต้านไวรัสหลังสัมผัสเชื้อ HIV (PEP) สิทธิการรักษา และ U = U ซึ่งจะออกมาเป็นรูปแบบไหน อย่างไร คงต้องอดใจรอดูพลังเยาวชนในวันเอดส์โลก 2562 นี้กันค่ะ