เจ็บปวดไม่รู้จะบอกใคร .. หากเจ็บป่วยข้างใน ให้บอกกับ “หัวใจ” ตัวเอง

ความเจ็บป่วยไม่ว่าทางกายหรือทางจิตใจ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่รบกวนการใช้ชีวิตของเราทั้งสิ้น  ไม่ว่าจะทำให้แต่ละวันของเราไม่สดใสอย่างที่เคย กิจกรรมที่สนุกกลับไม่น่าสนใจ สังคมที่แวดล้อมเป็นเรื่องที่เราพร้อมถอยหนี

แม้เป็นสิ่งที่ไม่อยากให้เกิด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ ว่าความเจ็บป่วย คือสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน การเข้าใจความเจ็บป่วยให้เป็นเรื่องตามธรรมชาติ เป็นการลดการตีตรา และนำไปสู่การบำบัดรักษาได้อย่างรวดเร็วและเหมาะสม

มีดบาดนิ้วก็ล้างแผลทำแผลหมั่นตรวจความสะอาดของบาดแผลกระทั้งร่างกายสร้างเนื้อเยื่อใหม่อาจมีความทุกข์ใจต่อความขัดข้องในความไม่สะดวกของการใช้มืออยู่บ้างมีความความทุกข์ใจจากการตำหนิความไม่ระมัดระวังของตัวเองอยู่บ้างหากแต่การมองเห็นแผลอยู่ตรงหน้ายอมรับได้ว่านี้คือความเจ็บป่วยที่ต้องรักษาคือใจความแรกที่สำคัญที่จะนำเราไปสู่ขั้นตอนอื่นต่อไป

ตรงกันข้าม หากเป็นความเจ็บป่วยด้านจิตใจ กลับไม่ได้แสดงให้เห็นความเจ็บป่วยในรูปแบบที่มองเห็นหรือสัมผัสได้ และมากไปกว่านั้นการยอมรับว่าเกิดความเจ็บป่วยขึ้นภายใน ยิ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะความเจ็บป่วยทางจิตใจ หนึ่งในปัจจัยที่อาจก่อให้ปัญหาดังกล่าว อาจเกิดจากความเจ็บปวดที่สะสมเอาไว้จนกลายเป็นความเจ็บป่วย หรือแม้กระทั่งความเจ็บป่วยบางอย่างก็ไม่มีที่มาจากปัจจัยภายนอกที่จับต้องได้ แต่มาจากสารเคมีภายในที่เกิดการเปลี่ยนแปลง

เราจะสังเกตได้อย่างไรว่าตนกำลังได้รับผลกระทบทางจิตใจ ?
อารมณ์เปลี่ยนแปลงได้ง่าย ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งทั้งโกรธ เศร้า กังวล และเกิดขึ้นหลายวันต่อเนื่อง
ขาดสมาธิกระทบกับการใช้ชีวิตเดิมๆให้ยากขึ้นมีอุปสรรคทั้งการเรียนการงานและสังคม
มักสัมผัสความคิดเชิงลบได้ทั้งกับตนเอง คนอื่น เหตุการณ์  และโลก แบบชนิดที่หยุดยั้งได้ยาก
มีพฤติกรรมประจำวันมากขึ้น หรือลดลงอย่างชัดเจนไม่ว่าจะเป็นการกินการนอนหรือแม้กระทั่งการพูดคุยสื่อสาร

เป้าหมายของการช่วยเหลือด้านจิตใจคืออะไร ?
คือการช่วยให้บุคคลมองตนเอง มองปัญหาในแบบใหม่ มีความอดทนต่อระดับของอารมณ์เชิงลบได้ และสามารถ
ปรับตัวอยู่กับบริบทในชีวิตประจำวันได้ 

แล้วอะไรคือ ภาพรวมของการช่วยเหลือด้านจิตใจ ?
ขั้นตอนแรก คือการรับรู้ต่อปัญหาภายในที่เกิดและมองปัญหานั้นอย่างปัจจุบันและเป็นกลาง
ขั้นตอนต่อไป คือการยอมรับว่าความเจ็บปวดและความเจ็บป่วยไม่ว่าทางกายหรือทางจิตใจเกิดขึ้นได้เท่าเทียมกันในคนทุกคนไม่เลือกสถานะไม่เลือกสถานที่
ต่อไปคือการ สร้างความเข้าใจ ที่มาของปัญหา ผ่านกระบวนการช่วยเหลือทางจิตใจ ทั้งจากผู้เชี่ยวชาญ และบุคคลรอบข้าง เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้แก่ความคิดและความรู้สึก ปลดปล่อยพร้อมสู่การเปลี่ยนแปลง
นำไปสู่ ขั้นของการปรับเปลี่ยนความคิด การแก้ปัญหา และรูปแบบการใช้ชีวิต ตามบริบทที่จะทำได้ โดยอาศัยความเชื่อในความแตกต่างกันและความมีพร้อมซึ่งศักยภาพภายในของมนุษย์

ดังนั้นแล้ว ผู้เชี่ยวชาญที่ดีที่สุด คือผู้เจ็บปวดที่ให้โอกาสและความร่วมมือกับตัวเอง

นรพันธ์ ทองเชื่อม
นักจิตวิทยาและที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิต เลิฟแคร์สเตชั่น