หากใครถามผมว่าช่วงชีวิตวัยไหนสนุกที่สุด ผมคงตอบว่าช่วง “วัยรุ่น” ที่คาบเกี่ยวไว้ตั้งแต่มัธยมจนกระทั่งช่วงต้นของมหาวิทยาลัย ซึ่งช่วงเวลานั้นโลกใบเดิมเปลี่ยนแปลงไป และโลกใบใหม่เกิดขึ้นตามมาอีกมากมาย
ขณะเดียวกัน หากใครถามผมว่า ช่วยชีวิตวัยไหนน่าหวาดหวั่นที่สุด ผมก็คงตอบช่วงอายุเดียวกัน เพราะในโลกใบเดียวกันนั้น มีหลายสิ่งที่ต้องใช้พลังมหาศาลไปกับความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ และขุมพลังสำหรับเรี่ยวแรงภายในเพื่อที่จะใช้จัดการกับอารมณ์
เกิดอะไรขึ้นกับเรา ที่ทำให้ช่วงวัยเดียวกัน ถึงมีสองอารมณ์ตรงกันข้ามเกิดขึ้นพร้อมๆกัน ..
ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากธรรมชาติของพัฒนาการและสมองเพราะร่างกายพร้อมที่เคลื่อนไหวไปกระทบกับโลกใบนี้ขณะที่สมองของวัยรุ่นกำลังเข้าสู่ช่วงที่สามารถเรียนรู้ได้ดีที่สุดแต่ก็ยังยับยั้งตัวเองได้น้อยกว่าที่ศักยภาพของสมองจะทำได้เต็มที่ถ้าจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพมากขึ้นนั้นช่วงวัยรุ่นก็เหมือนรถยุโรปที่ตัวถังแข็งแรงเครื่องยนต์ดีแต่ระบบเบรคยังไม่พัฒนาเต็มที่
ทำให้หลายครั้งวัยรุ่นก็นำตัวเองเข้าปะทะโลกอย่างสนุกสนาน และหลายครั้งการปะทะนั้นก็ก่อให้เกิดปัญหา แม้แต่การที่วัยรุ่นพยายามจะห้ามปรามตัวเองจากภายใน ก็ต้องใช้พลังมากมาย ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องเหนื่อยกับตัวเองอยู่พอสมควร
“ในการวิจัยของ Dr. Luna ได้ทำการทดสอบโดยให้วัยรุ่นมองตรงๆ และถ้าเห็นแสงไฟอะไรแวบขึ้นมาข้างๆ ก็อย่าสนใจให้มองตรงๆ ต่อไป ในการทดลองนี้แท้จริงแล้ว วัยรุ่นก็ทำได้ดีพอๆ กับผู้ใหญ่ในการที่จะไม่มองแสง กล่าวคือ วัยรุ่นนั้นพยายามเป็นอย่างมากที่จะควบคุมพฤติกรรมตามคำสั่ง
แต่การตรวจสมองขณะที่ทำการทดสอบนี้พบว่าวัยรุ่นต้องใช้พลังกับสมองมากกว่าแสดงให้เห็นว่ามีการใช้สมองส่วนหน้าทั้งหมดซึ่งเป็นส่วนที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการควบคุมการวางแผนและการตัดสินใจในขณะที่สมองผู้ใหญ่ไม่ได้ทำงานหนักขนาดนี้
ฉะนั้นแล้วสมองวัยรุ่นในการทำงานกับสภาวะปกติ ใช้พลังเหมือนสมองผู้ใหญ่ที่ต้องทำงานหนักมาก”
นอกจากสภาพตามธรรมชาติทางกายภาพแล้วยังสามารถอ้างได้ถึงธรรมชาติของวัยรุ่นตามพัฒนาการทางสังคมมีความต้องการการค้นหาตัวเองต้องการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นและต้องการการยอมรับเมื่อส่วนนี้ผนวกเข้ากับธรรมชาติสมองของวัยรุ่นยิ่งทำให้เกิดภาวะทางอารมณ์ทั้งร่าเริงสนุกสนานหรือเครียดกังวลใจและผิดหวังไปพร้อมๆกัน
ทำให้พบได้ว่า ช่วงของวัยรุ่นเป็นช่วงที่พบความเจ็บป่วยทางจิตใจ อันเกิดจากการสะสมของความเจ็บปวดภายในได้ไม่น้อย
หลายครั้งเมื่อวัยรุ่นประสบกับปัญหาทางอารมณ์ มักจะกระทบไปเป็นลูกโซ่ถึงการแสดงออกทางพฤติกรรมและความสามารถ แต่ไม่ได้หมายความว่าความสามารถของเขานั้นได้หายไปตลอด แต่เป็นเพียงแค่ช่วงเวลาที่สมองนั้นกำลังใช้พลังงานอย่างหนักไปกับการจัดการอารมณ์ กระทั่งส่วนคิดและส่วนพฤติกรรมไม่สามารถแสดงศักยภาพได้เต็มที่อย่างที่เคยเป็น
หากปัญหาทางอารมณ์นั้นถูกจัดการให้คลี่คลายลงอย่างเป็นระบบจะทำให้ศักยภาพของความคิดและการกระทำสามารถกลับคืนมาปกติได้จากประสบการณ์ในการทำงานกับวัยรุ่นพบว่าเมื่อวัยรุ่นนั้นมีบุคคลที่เขาไว้ใจหรือมีพื้นที่ที่เขานั้นรู้สึกปลอดภัยให้เขาได้ระบายหรือจัดการกับอารมณ์ที่ขุ่นมัวเขาเหล่านั้นจะกลับมาเป็นวัยรุ่นที่สดใสในไม่ช้าและมีพลังพร้อมที่จะออกไปปะทะกับโลกใบใหญ่และอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่พร้อมไปเติมเต็มพื้นที่แห่งการรับฟังแก่วัยรุ่นคนอื่นๆต่อไป
นรพันธ์ ทองเชื่อม
นักจิตวิทยาและที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิต เลิฟแคร์สเตชั่น