จากพัฒนาการตามวัยของวัยรุ่น จะเห็นได้ว่าบุคคลที่วัยรุ่นไว้ใจและมีแนวโน้มเปิดเผยข้อมูลให้ฟังคือ “เพื่อน” มากกว่าคนในครอบครัวหรือครู
ข้อมูลจากโครงการวิจัยการแกล้งกันของนักเรียนชั้นมัธยม พบว่า วัยรุ่นมักเก็บความรู้สึกเศร้า เสียใจ โกรธ ไว้กับตัวเอง มีเพียง 34 % ที่จะเล่าความรู้สึกเจ็บปวดนี้ให้คนอื่นได้รับรู้ และในจำนวนที่เล่าให้คนอื่นฟัง ร้อยละ 64.4 เด็กวัยรุ่นมักเริ่มต้นที่จะเล่าความรู้สึกเจ็บปวดนั้นให้เพื่อนฟัง ก่อนตัดสินใจเล่าให้พี่น้อง ครูประจำชั้น และพ่อแม่ตามลำดับ
วัยรุ่นด้วยกัน จึงเป็นประตูด่านแรกของการรับเรื่องน่าหวาดหวั่นและไม่สบายใจ จากใจเพื่อน สู่เพื่อน
ตะหนกคือความรู้สึกแรกเพราะด้วยความสัมพันธ์ที่มีต่อกันความเป็นเป็นห่วงและความรู้สึกร่วมต่อปัญหาของเพื่อนๆย่อมสั่นคลอนความมั่นคงของวัยรุ่นได้ไม่น้อยการค่อยๆทำความเข้าใจกับความคิดและอารมณ์ของตนเองจึงเป็นสิ่งแรกที่อยากให้วัยรุ่นผู้รับฟังค่อยๆเริ่มทำไปพร้อมๆกับการรับฟัง
ทำอย่างไร ในวันที่เรากลายเป็นคนที่เพื่อนเข้ามาเล่าเรื่อง “ทุกข์”
- ไม่ไปไหน แสดงท่าทีและคำพูดให้เขารู้ ว่าเราอยู่ตรงนี้ เราให้เวลาและให้โอกาสเขาได้มีพื้นที่ปลอดภัยได้เล่าเรื่องทุกข์ใจ เท่าที่เราพอจะรับไหว และช่วยเหลือบางอย่างได้ โดยค่อยๆ ชวนให้เพื่อนได้เลือกปัญหาที่กระทบกับเขามากที่สุดเพื่อลำดับปัญหา และแก้ไขทีละประเด็นอย่างเป็นขั้นตอน กระตุ้นให้เห็นศักยภาพตนเองที่มีต่อการแก้ปัญหา
- ปลายเปิด ใช้ คำถามปลายเปิด (WH?) โดยเฉพาะคำที่ยังมีความหมายไม่ชัดเจนเพื่อช่วยให้เกิดความกระจ่างของปัญหาไปพร้อมๆกันกับเพื่อนอีกทั้งยังช่วยให้ผู้รับบริการมีความสามารถในปัญหาของตนด้วยมุมมองใหม่ไม่รีบด่วนตัดสินถึงสิ่งที่ควรทำหรือไม่ควรทำในเวลาที่เพื่อนต้องการใครสักคนฟังความรู้สึกที่เอ่อล้นของเขา
- ปกปิด ยืนยัน และพยายามอย่างมากที่จะรักษาทุกอย่างเป็นความลับ เพราะการจะเล่าความรู้สึกแย่ๆ ให้ใครสักคนเข้าใจไม่ใช่เรื่องง่าย การที่เราเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่เพื่อตัดสินฝากความรู้สึกไว้ เพื่อเองก็คาดหวังที่จะฝากความไว้ใจให้เราปกปิดข้อมูลทุกประการไม่ให้ใครนอกจากเราสองคนได้รับรู้ เว้นแต่หากพบได้ว่าเขามีแนวโน้มที่จะทำร้ายตนเองหรือคนอื่น เราจะใช้ท่าทีที่สุภาพขออนุญาตเขา ให้เราหาตัวช่วยที่มีวุฒิภาวะมากกว่า มาช่วย “พวกเรา” ในสถานการณ์นี้
- ปกติ การมีอารมณ์ด้านลบเกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ เป็นปัญหาที่สามารถเกิดขึ้นกับคนทุกคน สามารถเกิดขึ้นและสามารถคลี่คลายไปได้ในสักวันหนึ่ง เพื่อนคนนั้นที่เข้ามาเล่าเรื่องราวกับเราคงเพียงคาดหวังการรับฟังมากกว่าการช่วยเหลือจากเราที่มากเกินไป มากไปกว่าปกติประจำวันที่เพื่อนจะกระทำต่อกันจนภายในของเขารู้สึกว่า “เขาเป็นภาระ”
- เป็นธรรมชาติ หลังสามารถเข้าใจปัญหาของเพื่อนได้แล้ว และเข้าใจได้ว่าปัญหาอารมณ์เกิดขึ้นกับทุกคน ภาวะตระหนกของอารมณ์จะค่อยๆ ลดระดับมาสู่ความตระหนักถึงความคิดและความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเราเองและของเพื่อน และนำไปสู่การพูดคุยกับเพื่อนได้อย่างเป็นธรรมชาติ
หากแต่มีเหตุบางอย่างที่บอกได้ว่าเพื่อนอาจมีความต้องการมากกว่าเพียงการระบายอารมณ์เราสามารถขออนุญาตเพื่อนที่จะให้ข้อมูลตัวช่วยอื่นๆที่เรารู้หรือส่งต่อความช่วยเหลือให้กับบุคคลที่มีความรอบรู้ในการจัดการกับปัญหานี้มากกว่าพวกเรา
นรพันธ์ ทองเชื่อม
นักจิตวิทยาและที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิต เลิฟแคร์สเตชั่น