ความหมายของการ “อยู่” ความเป็นไปของความ “ตาย”

การฆ่าตัวตายและการทำร้ายตัวเอง พบเห็นได้บ่อยขึ้นตามสื่อ เกิดขึ้นได้กับคนทุกระดับ ไม่จำกัดอายุ และอาชีพ เป็นปัญหาทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว และสังคม ในทุกปีจะมีคนเกือบล้านคนที่ตายด้วยการ ฆ่าตัวตาย โดยอัตราการฆ่าตัวตายของประชากรโลก ในทุกกลุ่มอายุ เป็น 16 ต่อแสนประชากร หรือมีคน ฆ่าตัวตาย 1 ราย ในทุก 40 วินาที การฆ่าตัวตายเป็น สาเหตุลำดับที่ 2 ของการตายในประชากรอายุ 15-29 ปี รองจากอุบัติเหตุจากการจราจร

หลายครั้งจากประสบการณ์ทำงานกับผู้ป่วยที่มีความคิดฆ่าตัวตายมักมีมุมมองที่แตกต่างจากผู้ดูแล เนื่องจากการฆ่าตัวตายนั้นเป็นเรื่องที่ซับซ้อน มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความคิดฆ่าตัวตายมากมาย แต่ไม่น้อยที่มักได้ยินผู้ดูแลและบุคคลรอบข้างพร้อมจะเข้าใจเพียงว่า การฆ่าตัวตายเป็นการเรียกร้องความต้องการหรือความสนใจอะไรบางอย่าง

ในขณะที่ผู้ป่วยที่มีความคิดฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตัวเองหลายคน บอกกับผมในฐานะผู้บำบัดรักษา และบอกกับผู้ที่ตนไว้ใจถึงความหมายของการพยายามฆ่าตัวตายไว้อย่างหลากหลายว่าไม่ไหวแล้ว” “เหนื่อยมากกับการเป็นตัวเองความตายคือหนทางเดียวที่จะช่วยให้เขาหลุดพ้นหรือแม้กระทั้งผมหยุดคิดเรื่องความตายไม่ได้แม้สักนาทีเดียว

การพยายามฆ่าตัวตายจึงมีหลายที่มา และหลายความหมาย ผมได้สรุปเอาปัจจัยที่มีต่อการฆ่าตัวตาย เพื่อชวนให้เห็นที่มาที่ไปได้ชัดเจนยิ่งขึ้นจากรายงานปัจจัยเสี่ยงและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตายในวัยรุ่น : การทบทวนวรรณกรรมเชิงลึกที่ตีพิมพ์ในวารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2560 ได้ชี้ให้เห็นว่า

  • การศึกษาเรื่องการฆ่าตัวตายในประเทศเกาหลีใต้พบว่าความความโกรธและความไม่พอใจชีวิตในโรงเรียนกระตุ้นให้เกิดการฆ่าตัวตายได้
  • การมีอาการซึมเศร้าที่รุนแรง (severe depressive symptom) เกิดความเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย 8.78 เท่า
  • วัยรุ่นที่เคยมีประวัติ ฆ่าตัวตายมาก่อนมีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย 20.13 เท่า
  • ความรู้สึกสิ้นหวัง (hopelessness) เป็นปัจจัย ที่มีความสำคัญในการพยากรณ์การพยามฆ่าตัวตายและการฆ่าตัวตายสำเร็จของบุคคล
  • ผู้ที่เสพสุราและสารเสพติด มีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายสูงกว่าคนที่ ไม่เสพ 5.09 เท่า
  • วัยรุ่นที่ถูกทารุณกรรมทางเพศ อย่างน้อย 1 ครั้ง พบว่า  ร้อยละ 3.8 ที่มีการพยายามการฆ่าตัวตายอย่างน้อย 2-5 ครั้ง
  • วัยรุ่นเติบโตในครอบครัวที่ครอบครัวเลี้ยงดูไม่เหมาะสมดุด่ารุนแรงควบคุมมากเกินไปมีแนวโน้มมีความคิดฆ่าตัวตายได้มากกว่าครอบครัวที่สนับสนุนและเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นและความรู้สึก
  • วัยรุ่นที่มีเพื่อนพยายามฆ่าตัวตาย มีแนวโน้มจะมีความคิดฆ่าตัวตายได้
  • การเลียนแบบจากบุคคลที่ตนชื่นชอบและสื่อมีผลทำให้วัยรุ่นเกิดการเลียนแบบพฤติกรรมการฆ่าตัวตายในเรื่องวิธีการและการที่สื่อแสดงให้เห็นว่าวัยรุ่นที่ฆ่าตัวตายได้สำเร็จมีชื่อเสียงเป็นวัยรุ่นที่ได้รับความสนใจให้ความสำคัญทำให้วัยรุ่นอยากฆ่าตัวตายเพื่อการมีชื่อเสียงของตนด้วย

Curra (1994) ยังได้แบ่งประเภทของการฆ่าตัวตายไว้ 4 ประเภท

1. การฆ่าตัวตายที่มีการวางแผนไว้ล่วงหน้ามีการเตรียมสถานที่อุปกรณ์ต่างๆให้พร้อมสำหรับการฆ่าตัวตายส่วนใหญ่พบในเพศชายโดยใช้วิธีการที่มั่นใจว่าได้ผล

2. การฆ่าตัวตายแบบสองจิตสองใจมีความลังเลระหว่างการมีชีวิตอยู่และตาย ส่วนใหญ่พบในวัยรุ่น และมักใช้วิธีการไม่รุนแรง เช่น การเชือดข้อมือ การรับประทานยาเกินขนาด เพื่อเรียกร้องความสนใจจากบุคคลใกล้ชิด

3. การฆ่าตัวตายเพื่อทำร้ายผู้อื่นเป็นการฆ่าตัวตายโดยมีเจตนาให้ผลของการฆ่าตัวตายไปทำร้ายจิตใจผู้อื่นมักมีการเขียนจดหมายลาตายบอกให้บุคคลใกล้ชิดรับรู้ถึงสาเหตุของการกระทำเพื่อให้บุคคลที่ถูกอ้างถึงรู้สึกผิดหรือมีส่วนรับผิดชอบต่อการตายของตน

4. การฆ่าตัวตายแบบไม่ตั้งใจตายผู้กระทำไม่ต้องการให้ตัวเองถึงแก่ความตายการตายที่เกิดขึ้นมักเป็นผลจากอุบัติเหตุผู้กระทำส่วนใหญ่จึงใช้วิธีการที่ไม่รุนแรงเช่นการรับประทานยาจำนวนไม่มากแต่ส่งผลต่อร่างกายอย่างรุนแรง

เห็นได้ว่าการเรียกร้องความต้องการหรือความสนใจ เป็นหนึ่งจากหลายปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดความคิดหรือความพยายามในการฆ่าตัวตาย และเป็นเพียงหนึ่งในพฤติกรรมจากหลายรูปแบบพฤติกรรมของผู้ที่มีความคิดฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตนเอง

ดังนั้นผู้ดูแลหรือบุคคลแวดล้อมผู้ที่มีความคิดหรือพฤติกรรมที่มีแนวโน้มจะทำร้ายตนเอง ไม่ควรเริ่มต้นตัดสินการทำร้ายตัวเองว่ามาจากการเรียกร้องความสนใจเพียงอย่างเดียว การให้เวลาได้รับฟัง เปิดโอกาสให้ผู้ที่กำลังรู้สึกเจ็บปวดภายในได้ระบาย และแสดงออกความคิดความรู้สึกที่ล้นออกมาอย่างเหมาะสมมากขึ้น นำไปสู่การมีทางเลือกอื่นนอกเหนือจากการฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตนเอง หรือเพียงการแสดงท่าทีให้เขารู้ว่า แม้เราจะช่วยแก้ความรู้สึกหรือปัญหาทั้งหมดที่มีอยู่ออกไปทันทีทันใดไม่ได้ แต่เราพร้อมที่จะอยู่ข้างๆ อย่างไม่ตัดสินถูกผิดหรือไม่พยายามที่จะบอกและแนะนำสิ่งที่เหมาะที่ควรทำมากกว่าการทำร้ายตนเอง

และมีไม่น้อย ที่ผู้ดูแลเองผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายก็อาจได้รับผลกระทบด้านจิตใจ การใช้ชีวิตประจำวัน และอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ ตามมา ดังนั้นนอกเหนือจากการรับฟัง ให้เขาคนนั้นได้ระบายความรู้สึกเจ็บปวดออกมา การส่งต่อไปยังวิชาชีพที่ชำนาญก็เป็นหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยเยียวยาผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายไปพร้อมๆ กับการช่วยเหลือผู้ดูแล

นรพันธ์ ทองเชื่อม
นักจิตวิทยาและที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิต เลิฟแคร์สเตชั่น

ภาพจาก Image by Goran Horvat from Pixabay