สาเหตุที่ทำให้เด็กและพ่อแม่ผู้ปกครองสื่อสารกันไม่เข้าใจ เกิดจาก “ช่องว่างระหว่างวัย” (Generation Gap) คือ ช่องว่างระหว่างผู้ใหญ่และเด็ก ทั้งมุมมองทางด้านการเมือง ความยุติธรรม สังคม อัตลักษณ์ทางเพศ และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งแบ่งได้เป็น 7 เหตุผล ดังนี้
- เด็กรู้สึกแปลกใจและไม่เข้าใจ ลามไปถึงรู้สึกผิดหวังในตัวพ่อแม่ ที่ยอมปล่อยให้เกิดความไม่ยุติธรรม การคอรัปชั่น และการกระทำผิดเกิดขึ้นซ้ำซาก แล้วไม่ยอมแก้ไข ปล่อยให้เรื้อรังมาจนถึงรุ่นของพวกเขา สิ่งที่เกิดขึ้นพวกนี้คนรุ่นเก่ารุ่นพ่อแม่อาจจะยอม แต่เด็กเขาไม่ยอมอีกต่อไปไม่อย่างนั้นคงไม่มี #ให้มันจบที่รุ่นเรา
- ผู้ใหญ่เอาแต่บ่นถึงคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี การเอารัดเอาเปรียบ การขาดคุณธรรม จริยธรรม แต่ไม่ลุกขึ้นทำอะไร บางครั้งในมุมมองของเด็กกลับมองว่า ผู้ใหญ่นี่แหละคือส่วนหนึ่งของปัญหา เพราะเป็นคนที่ส่งเสริม ให้เรื่องเหล่านี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
- การชุมนุมหลายครั้งที่ผ่านมา มีพ่อแม่อุ้มลูกจูงหลานที่ยังเล็กๆ ไปเข้าร่วมการชุมนุม แต่พอเวลาผ่านไป เด็กสามารถเลือกไปชุมนุมได้เอง โดยไม่ต้องมีผู้ปกครองไปด้วย เพื่อเรียกร้องสิ่งที่พวกเขาเชื่อในเรื่อง เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ กลับถูกพ่อแม่ห้ามไม่ให้ไปประท้วง การที่เห็นว่าผู้ใหญ่รุ่นพ่อแม่ทำได้ แต่พวกเขา กลับทำไม่ได้ นอกจากจะขัดกับหลักการสามข้อที่พวกเขา เชื่อมั่นและพยายามเรียกร้องแล้ว ยังช่วยย้ำเรื่อง ที่พวกเขาคิดว่าคนรุ่นเก่าไม่เข้าใจพวกเขานั่นเป็นความจริง
- เด็กที่โตมาในยุคดิจิทัลพร้อมกับสมาร์ทโฟนจะมีความเข้าใจในเรื่องเหตุและผลมากกว่าอารมณ์ความรู้สึก ดังนั้น เวลาที่พวกเขาเห็นเรื่องตรรกะวิบัติ เช่น การที่พ่อแม่พร่ำบ่นในเรื่องความการหลีกเลี่ยงกฎหมาย การโกงชาติบ้านเมือง ความชั่วร้ายของทุนนิยม วัตถุนิยม แต่พอมีโอกาส กลับปฏิบัติตัวในทางตรงข้ามเอง ทั้งการฝ่าฝืนกฎหมายในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ขับรถฝ่าไฟแดง จอดรถในที่ห้ามจอด ทิ้งขยะไม่เป็นที่ แซงคิวซื้อของ
การที่ผู้ปกครองปากว่าตาขยิบ ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง และไม่สามารถทำตัวเป็นตัวอย่างให้ลูกได้นั้น ทำให้เด็กๆ ไม่อยากเชื่อคำสอนของพ่อแม่อีกต่อไป - “ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ” สุภาษิตโบราณที่คนรุ่นพ่อแม่ไม่เคยเรียนรู้ว่า เวลาเลี่ยงตอบคำถามต้องห้ามกับเด็กๆ หรือโต้ตอบการตั้งคำถาม ด้วยความบริสุทธิ์ใจของเด็กๆ ด้วยการว่าเป็นคนก้าวร้าว ถูกล้างสมองนั้น จะเป็นการผลักให้เด็กๆ ไปให้คำตอบด้วยตัวเองจากอินเทอร์เน็ต ที่เปิดกว้างให้เข้าถึงได้โดยไม่จำกัดช่วงวัย
- ตอนนี้คนสองวัยต่างมีความเชื่อที่ตรงกันข้ามกันในเรื่อง “คนเท่ากัน” ผู้ใหญ่ซึ่งอาบน้ำร้อนมาก่อน คิดว่ามีประสบการณ์ผ่านโลกมามาก จึงพยายามขีดกรอบให้เด็กเดินตาม ทั้งการเป็นเด็กดี ต้องเรียนให้เก่ง ต้องเคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่ ต้องขอโทษผู้ใหญ่ แต่เด็กกลับคิดความหวังดีที่มากำหนดเส้นทางชีวิตนั้น หลายอย่างขัดกับความคิด ความเชื่อของตัวเอง ขัดความต้องการในสิ่งที่พวกเขาอยากเป็น และที่สำคัญ ขัดกับแนวคิดที่พวกเขาเชื่อว่า คนเราทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน สามารภกำหนดชีวิตของตัวเองได้
- เด็กเป็นช่วงวัยที่ต้องการเปลี่ยนโลกให้เป็นอย่างที่เขาอยากให้เป็น และอยากชักชวนคนอื่นให้เข้ามามีส่วนร่วมในโลกใหม่นี้ด้วยกัน ซึ่งเจตนาที่อยากให้คนอื่นนอกจากตัวเองมีความสุขนั้น ดูแล้วก็ไม่ต่างจากผู้ปกครองที่อยากให้ลูกๆ ของตัวเองมีชีวิตที่ดีมีความสุขเช่นกัน