คิดบวกหน้าตาเป็นอย่างไร วิธีคิดแบบไหนที่จะช่วยให้เราอยู่กับโลกที่ไม่เป็นดังใจได้

หลายครั้งเรามักได้ยินว่าคิดบวกจะทำให้ชีวิตเราดี บ้างก็ว่าทำให้เรามีความสุข บ้างก็บอกว่าทำให้เราผ่านอุปสรรคและปรับตัวกับโลกใบนี้ได้ มิหนำซ้ำเวลาเราทุกข์ใจ ใครๆ ก็บอกให้เราคิดบวกแต่เวลาแห่งความทุกข์นั้นเชื่อว่าไม่ง่ายเลยที่เราจะคิดบวกและก้าวผ่านเรื่องร้ายไปด้วยการคิดบวก
แม้การคิดบวกอาจไม่ช่วยในสถานการณ์ที่เรากำลังประสบกับความทุกข์ใจแต่การเป็นคนคิดบวกนั้นฝึกฝนได้เพราะคนคิดบวกเป็นผลผลิตของวิธีการฝึกคิดตามความเป็นจริง เป็นความสามารถที่ฝึกฝนได้

เริ่มด้วย.. ในสถานการณ์ทั่วไป เมื่อมีเหตุการณ์หรือรับรู้ข้อมูลใดมา อย่าเพิ่งเชื่อข้อมูลนั้นทั้งหมดโดยทันที ลองค่อยๆทำความเข้าใจที่มาของเรื่องราวนั้น มองหาหลักฐานประจักษ์ เริ่มกระบวนการด้วยการตั้งสมมติฐานมากกว่าการฟันธง ค่อยๆคิดถึงที่มาและที่ไปของเรื่องราวนั้นให้เห็นความเป็นจริงและเป็นไปได้ของเรื่องราวได้อย่างยืดหยุ่น

ต่อมา.. เมื่อเกิดสถานการณ์ที่เริ่มซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับตัวเรา และส่งผลต่อความรู้สึกเชิงลบเล็กๆ กับเรา อาจเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในทุกๆ วันของชีวิต อาทิ การเดินทางในวันที่รถติด เป็นต้น ฝึกที่จะหาวิธีหลากหลายที่จะแก้ไขไปถึงเป้าหมายนั้นๆ หาข้อดีและข้อจำกัดของวิธีการต่างๆ นำมาลำดับความเป็นไปได้และตรวจสอบผลของวิธีการ และไม่ลืมที่จะลองคิดไปว่าถ้าไม่สำเร็จจะรับมือกับสถานการณ์และความรู้สึกอย่างไร

อย่างน้อยเราก็ค่อยๆ มีมุมมองต่อเรื่องนั้นๆ อย่างยืดหยุ่นและเราก็พยายามที่จะคิดหาทางออกอย่างเป็นเหตุเป็นผล

และเมื่อ  เกิดเรื่องราวที่ทำให้กระทบกับความรู้สึกและส่งผลต่อความหมายภายในตัวเองทำให้เรารู้สึกไม่ดีและหมดหวังลองค่อยๆเริ่มทบทวนตัวเองตามลำดับนี้

  • ตามหาว่ามีความคิดอะไรเกิดขึ้นก่อนหน้า หรือระหว่างที่กำลังรู้สึกไม่ดี ซึ่งเกิดขึ้นขณะหนึ่งของเสี้ยวนาทีและส่งผลต่อความรู้สึกเราไม่น้อย บางคนสามารถจับใจความเป็นประโยค บางคนเห็นเป็นภาพ แต่อย่างไรก็ตามความคิดนั้นสัมพันธ์กับความรู้สึกลบที่กำลังเกิดขึ้น และอาจมีความหมายลึกๆ ถึงมุมมองที่มีต่อตนเองและปัญหา
  • ตรวจสอบสิ่งที่คิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล และมองหาหลักฐาน” 2 ชิ้น ตามความเป็นจริง โดยชิ้นแรกเป็นหลักฐานฝั่งที่เห็นด้วยกับความคิดแวปแรกที่มีต่อตนเองและต่อปัญหา หลักฐานชิ้นนี้มักเป็นชิ้นที่ทำให้เราเป็นทุกข์ใจ และพยายามที่จะค่อยๆ หาหลักฐานชิ้นต่อมาที่เป็นหลักฐานตามความเป็นจริงในการคัดค้านความคิดช่วงแรกนั้น การหาหลักฐานชิ้นที่สองนี้อาจไม่ง่ายแต่เชื่อว่าเป็นความสามารถที่ฝึกฝนได้
  • มองหลักฐานทั้งสองด้านด้วยความยืดหยุ่นและเป็นกลางจะค่อยๆเห็นได้ว่าความคิดในช่วงแรกที่เราเคยเชื่อว่าเป็นจริงที่สุดอาจเหลือเป็นความคิดที่จริงบางส่วนและเมื่อเห็นได้แบบนั้นความรู้สึกเชิงลบจะค่อยๆถูกจัดการ
  • จากนั้นหาข้อสรุปให้กับตนเองถึงกระบวนการนี้ว่าตนเองได้เรียนรู้อะไรได้มุมมองอะไรเพิ่มกับตนเองเพราะหลายครั้งที่เรามีความรู้สึกไม่ดีความคิดอีกด้านหรือมุมมองที่ดีต่อตนเองมักไม่เป็นสิ่งแรกๆที่เรานึกถึงให้เวลาตัวเองได้ลองทบทวนเรื่องราวนั้นผ่านการรับรู้ตามความเป็นจริง

ดังนั้นแล้ว ถ้าจะปรับตนเองสู่การเป็นคนคิดบวกได้นั้น ต้องอาศัยการเรียนรู้ที่จะมองตนเองและเรื่องราวตาม ความเป็นจริง อย่างยืดหยุ่น และเป็นกลาง กระบวนการในการทบทวนละเรียนรู้ในแต่ละครั้งนั้นจะสะสมเป็นธรรมชาติ และช่วยให้เรามีอาวุธในการเข้าใจความคิดได้อย่างมีตรรกะมากขึ้น

นรพันธ์ ทองเชื่อม
นักจิตวิทยาและที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิต เลิฟแคร์สเตชั่น