ใกล้ช่วงเวลาปีใหม่ ใครหลายคน หลายครอบครัว มักคิดถึงการมอบของขวัญและสิ่งดีๆให้แก่กัน ทั้งเพื่อเป็นการขอบคุณที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขมาตลอดปี และเพื่อเป็นการทักทายปีใหม่ด้วยของขวัญและวันแห่งความสุข
เวลาคุณภาพ เป็นคำที่เราได้ยินมานาน แต่คำๆ นี้คงมีนิยามตามบริบทของแต่ละคน แต่ละบ้าน แต่ละประสบการณ์ “เวลาคุณภาพ” กลับไม่ใช่เพียงจำนวนของเวลา ไม่ใช่เพียงโอกาสสำคัญ ไม่ใช่สถานที่ที่เป็นความสำคัญ หากแต่ใจความสำคัญของเวลาคุณภาพคือ “ความรู้สึกร่วมกัน” ของคนที่อยู่ในสถานที่ โอกาส ความสนใจที่สอดคล้องกัน”
ผมขออนุญาตชวนให้เห็นมุมมองของความสมดุลสามประการ เพื่อการสร้างเวลาคุณภาพ ความรู้สึกร่วมกัน และเพื่อประสิทธิภาพในการรักษาเวลาคุณภาพให้ยืนยาว ได้แก่
เวลาคุณภาพแก่ตนเอง
เวลาคุณภาพกับงานหลักในชีวิต
และเวลาคุณภาพในความสัมพันธ์กับคนรอบตัว
ซึ่งสมดุลที่กล่าวถึง ไม่จำเป็นที่ต้องเท่าเทียมและสมบูรณ์ แต่การระลึกรู้ถึงความสมดุล จะช่วยให้การมีเวลาคุณภาพเป็นไปได้และมีแนวโน้มที่จะยืนยาว
ตัวอย่างเช่น หากเราใช้เวลาทั้งหมดในการทำงานหรือเรียน การดูแลตัวเองแทบเป็นศูนย์ เกิดความเจ็บป่วยทางกายไม่สบายทางใจ ก็อาจส่งผลให้เวลาคุณภาพในการสัมพันธ์กับคนอื่นน้อยลง อีกนัยหนึ่ง หากใช้เวลาส่วนใหญ่ในชีวิตสร้างความสัมพันธ์กับคนรอบตัวโดยลืมที่จะดูแลตัวเองและไม่สม่ำเสมอกับงานหลัก ปัญหาสุขภาพและความมั่นคงก็ตามมาและย้อนกลับมากระทบกับความสัมพันธ์ในไม่ช้า
ดังนั้น การรู้เท่าทันเพื่อการสมดุล จึงเป็นสิ่งเริ่มต้นในการสะสมและสร้างสรรค์เวลาคุณภาพ
จะทำยังไงให้ความรู้สึกเรามาร่วมกัน ในขณะที่เราอยู่บนโลกใบใหญ่ และมีโลกส่วนตัวเล็กๆ อยู่ในใจ ความสำคัญก็คงเริ่มต้นด้วยความพยายามเข้าใจ โลกอีกใบของแต่ละคนว่าต่างกันอย่างไร สนุกและน่าสนใจตรงไหน และมีอะไรที่เราจะมีส่วนร่วมทำด้วยกันได้บ้าง
โดยเริ่มจากการทบทวนความต้องการของตนเอง ค่อยๆ ทำความเข้าใจความสนใจและความต้องการของผู้อื่น ลดความต้องการบางส่วนของตนเองลง สื่อสารเชิงบวกเพื่อให้สมาชิกในครอบครัวแต่ละคนได้ใช้ความสนใจภายใต้เวลา โอกาส และสถานที่เดียวกัน
ซึ่งแนวคิดเรื่อง “เวลาคุณภาพ” สามารถนำเข้าไปสอดแทรกได้ในทุกๆ จังหวะของการใช้ชีวิต เป็นไปได้ทั้ง..
ในกิจวัตรประจำวัน อาทิ การหาช่วงเวลาในการคิดเมนูของมื้อเย็น จ่ายตลาด ทำอาหาร และรับประทานร่วมกัน ภายใต้ความถนัดและข้อจำกัดของแต่ละคน ลูกเล็กล้างผัก ลูกวัยรุ่นเริ่มฝึกหั่น แม่คุมเตาไฟในกระทะผัด พ่อดูแลน้ำเดือดในกระทะทอด สุดท้ายอาหารในจานคือ อาหารแห่งเวลาคุณภาพของคนในบ้าน
ช่วงเวลาแห่งความสุข อาทิ ช่วงเวลาที่สมาชิกรู้สึกสำคัญ ซึ่งอาจไม่ใช่ความสำคัญในแบบสากล ในแบบเทศกาลปีใหม่ แต่ช่วงเวลาแห่งความสุขอาจเป็นช่วงเวลาหลังจากพ่อสามารถปิดยอดในไตรมาสได้ แม่พูดคุยให้คุณยายกล้าที่จะไปหาหมอเพื่อตรวจสุขภาพ ลูกสอบผ่านวิชาที่รู้สึกยากมาตลอดภาคการศึกษา สีหน้าท่าทาง การสะท้อนความรู้สึก และคำพูดชมเชย ที่ตอบสนองหลังจากสมาชิกได้ผ่านเรื่องยากมาได้นั้น คือ ช่วงเวลาคุณภาพที่สำคัญ และในบางครั้งอาจมีค่ามากกว่าสิ่งของเป็นชิ้นเป็นอันที่จับต้องได้
และเวลาคุณภาพในช่วงที่เป็นทุกข์ อาทิ การบ้านที่เป็นยาขมของเด็กหลายคน เมื่อเริ่มมีความท้อแท้หรืองอแง กลับได้รับการตอบสนองจากผู้ใหญ่ว่า “เดี๋ยวเวลาทำงานมันยากกว่านี้นะ” “แค่เรียนเองทำไปเถอะ” “เรียนอย่างเดียวไม่เห็นจะมีอะไรยาก” ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างกัน หากความทุกข์นั้นได้รับการแสดงออกด้วยท่าทีที่รับฟัง เข้าใจและเห็นใจ นับเป็นอีกช่วงเวลาสำคัญที่เรียกได้เต็มปากว่า “เวลาคุณภาพ”
ไม่เพียงผู้ใหญ่เท่านั้น ที่ต้องรับฟังและเข้าใจเด็กๆ ในขณะที่ผู้ใหญ่ในบ้านไปเจอเรื่องเหนื่อยหนักของชีวิต ท่าทีรับฟังและเข้าอกเข้าใจจากเด็กๆ ในบ้าน ก็เป็น “ยาใจ” ให้ผู้ใหญ่ได้มีกำลังในการสร้าง “เวลาคุณภาพ” กับงานหลักในชีวิตต่อไป
นรพันธ์ ทองเชื่อม : นักจิตวิทยาและที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิต เลิฟแคร์สเตชั่น