มาเปรียบเทียบวิธีการคุมกำเนิดต่าง ๆ กันเถอะ!

มาเปรียบเทียบวิธีการคุมกำเนิดต่าง ๆ กันเถอะ!

เดี๋ยวนี้การคุมกำเนิดนั้นมีอยู่หลากหลายวิธี ซึ่งแต่ละวิธีมีทั้งข้อดีและข้อเสีย การเลือกว่าวิธีคุมกำเนิดแบบไหนเหมาะสมที่สุดสำหรับเราอาจเป็นเรื่องยากในบางครั้ง เราจึงได้รวบรวมข้อมูลเพื่อมาช่วยเพื่อนๆ ให้ตัดสินใจอย่างถูกต้องและเหมาะกับตัวเอง

ถุงยางอนามัย
หลายคนคงรู้จักถุงยางและวิธีการใช้เบื้องต้น แต่รู้หรือเปล่าว่าถุงยางไม่ได้มีแค่สำหรับผู้ชายอย่างเดียว มีทั้งถุงยางอนามัยสำหรับผู้ชาย ที่สวมใส่ภายนอก และถุงอนามัยผู้หญิง ที่สวมใส่ภายใน ถุงยางเป็นวิธีคุมกำเนิดชนิดเดียวที่สามารถป้องกันทั้งโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และท้องได้ ถุงยางอนามัยอาจใช้ควบคู่กับการคุมกำเนิดแบบอื่นได้อีกด้วย


ข้อดี

  • ราคาถูก หาซื้อได้ง่าย หรือสามารถรับฟรี ตามสถานพยาบาลของรัฐ 
  • ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการตั้งครรภ์
  • บางชนิดมีสารหล่อลื่น ซึ่งสามารถลดความเสียดทานระหว่างมีเพศสัมพันธ์
  • มีหลากหลายกลิ่น รูปแบบ ให้เลือก

ข้อเสีย

  • ต้องใช้ให้ถูกวิธี หากใช้ผิดวิธี มีโอกาสที่ถุงยางจะหลุด แตก หรือรั่ว
  • คนที่แพ้ latex ไม่สามารถใช้ถุงยางทั่วไปได้ ต้องใช้ถุงยางที่ทำจากวัสดุอื่น
  • ไม่สามารถใช้พร้อมสารหล่อลื่นชนิดน้ำมัน

อัตราความสำเร็จของการคุมกำเนิด: 98% หากใช้อย่างถูกต้อง (85% ในการใช้ของคนทั่วไป)

ยาคุมกำเนิด
ยาแผงคุมกำเนิด
ยาแผงคุมกำเนิดเป็นการคุมกำเนิดแบบกินยาที่มีฮอร์โมนเข้าไป จำเป็นต้องกินทุกวัน  มีทั้งแบบที่มีทั้งฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen) กับโปรเจสโตเจน (progesterone)  และแบบที่มีโปรเจสโตรเจนอย่างเดียว ฮอร์โมนในยาจะยับยั้งการตกไข่ จึงสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ แต่มีผลข้างเคียง จึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเริ่มกินยา

ข้อดี

  • หาซื้อได้ง่าย ราคาไม่แพง
  • ง่ายต่อการใช้ เหมือนกินยาเม็ดทั่วไป
  • หลังหยุดยา สามารถตั้งครรภ์ได้เลยในเดือนถัดไป
  • ประจำเดือนมาสม่ำเสมอตามปกติ ลดอาการปวดประจำเดือนได้

ข้อเสีย

  • ต้องกินทุกวัน หากลืมกินจะมีผลต่อการคุมกำเนิด
  • อาจมีผลข้างเคียงในบางคนในระยะแรก เช่น อาการคลื่นไส้อาเจียน เจ็บเต้านม เลือดออกกะปริดกะปรอย น้ำหนักเพิ่ม เป็นสิว แต่ปัจจุบันมียาคุมกำเนิดชนิดใหม่ที่ลดปัญหาเหล่านี้แล้ว
  • หากกินพร้อมกับยาปฏิชีวนะ ยาคุมกำเนิดจะมีประสิทธิภาพลดลง

อัตราความสำเร็จของการคุมกำเนิด: 99.7% หากใช้อย่างถูกต้อง (93% หากใช้ไม่ถูกต้อง)

ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน
ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินเป็นยาที่กินหลังมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ได้ป้องกัน ควรใช้ในกรณีฉุกเฉินเท่านั้นไม่ควรใช้เป็นการคุมกำเนิดปกติเพราะมีผลกระทบต่อร่างกายค่อนข้างมาก 

ข้อดี

  • ใช้ในกรณีฉุกเฉิน มีผลทันที ภายในไม่เกิน 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ไม่ได้ป้องกัน
  • หาซื้อได้ง่าย ตามร้านขายยาทั่วไป 

ข้อเสีย

  • มีผลข้างเคียงมาก เช่น คลื่นไส้อาเจียน ปวดหัว ปวดท้อง ประจำเดือนมาไม่ปกติ
  • หากกินบ่อยสามารถทำให้ร่างกายขาดแคลเซียม และเสี่ยงตั้งครรภ์นอกมดลูก
  • เสี่ยงต่อการเกิดเซลล์มะเร็ง โดยไม่ควรกินเกินเดือนละ 2 ครั้ง 
  • ประสิทธิภาพต่ำกว่ายาคุมปกติ

อัตราความสำเร็จของการคุมกำเนิด: 85-98% 

ห่วงอนามัย (IUD; Intrauterine device)
ห่วงอนามัยเป็นอีกอุปกรณ์ที่สามารถนำมาใช้ในการคุมกำเนิด ลักษณะจะคล้ายตัว T และจะมีขนาดเล็กมาก ๆ เราสามารถเลือกได้ เวลาจะใช้ให้สวมใส่เข้าไปในมดลูก ห่วงอนามัยมีทั้งแบบมีและไม่มีฮอร์โมน กลไกการทำงานหลัก ๆ ของห่วงอนามัยก็คือป้องกันไม่ให้ตัวอสุจิว่ายไปหาไข่ได้ นอกจากนี้ ห่วงอนามัยที่มีฮอร์โมนด้วยสามารถทำหน้าที่ในการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนในร่างกายเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์อีกด้วย

ข้อดี

  • ใช้ได้นานแต่ไม่ถาวร จึงสามารถนำออกได้เมื่อไม่อยากคุมกำเนิดต่อ
  • ถือว่าเป็นหนึ่งในวิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพที่สุด
  • สามารถใช้ในกรณีฉุกเฉินได้
  • มีขนาดเล็กมาก แทบจะไม่รู้สึกเมื่อสอดเข้าไปแล้ว

ข้อเสีย

  • ต้องให้แพทย์เป็นคนใส่ให้
  • เมื่อใส่แล้วอาจรู้สึกปวดท้องได้ หรือมีเลือดออกกะปิดกะปรอย ประจำเดือนผิดปกติ 
  • ไม่ช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • อาจรู้สึกเจ็บตอนสอดครั้งแรก ๆ

อัตราความสำเร็จในการคุมกำเนิด: 99%

หมวกยางกั้นช่องคลอด (Diaphragm)
หมวกยางกั้นช่องคลอดเป็นอีกวิธีนึงที่เราสามารถใช้ในการคุมกำเนิด อุปกรณ์นี้มีรูปร่างคล้ายถ้วยที่ส่วนใหญ่ทำมาจากซิลิโคน วิธีการใช้ก็คือให้สวมเข้าไปในช่องคลอดเพื่อให้คลุมปากมดลูก และควรใช้ควบคู่กับยาฆ่าเชื้ออสุจิ เพราะยาตัวนี้จะช่วยฆ่าตัวอสุจิที่อาจหลุดผ่านหมวกยางเข้ามา และตัวหมวกยางสามารถช่วยให้ยาอยู่กับที่ได้

ข้อดี

  • สามารถใช้ซ้ำได้ ใส่ล่วงหน้าก่อนมีเพศสัมพันธ์ได้ประมาณ 30 นาที
  • สามารถใช้ได้ด้วยตัวเอง 
  • ราคาไม่แพงมาก
  • มีขนาดเล็ก แทบจะไม่รู้สึกถ้าสวมเข้าไปอย่างถูกต้อง
  • ไม่มีผลกระทบต่อฮอร์โมนในร่างกาย

ข้อเสีย

  • ต้องใช้ร่วมกับยาฆ่าเชื้ออสุจิด้วยทุก ๆ ครั้ง
  • ต้องทำความสะอาดและเก็บให้ดี
  • ไม่ช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • อาจจะรู้สึกยุ่งยากเล็กน้อยในการใส่ช่วงแรก
  • อาจทำให้ช่องคลอดเกิดการระคายเคืองต่อยาที่ใช้ มีอาการคัน หรือ ตกขาวได้

อัตราความสำเร็จในการคุมกำเนิด: 88%

ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะ

แผ่นแปะคุมกำเนิด เป็นวิธีคุมกำเนิดที่ค่อนข้างง่ายและมีประสิทธิภาพมากถ้าใช้อย่างถูกวิธี ตัวแผ่นแปะจะปลดปล่อยฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen) และโปรเจสติน (Progestin) ผ่านผิวหนังเพื่อไม่ให้เกิดการตั้งครรภ์ โดยกลไกการยับยั้งการตกไข่และทำให้มูกที่ปากมดลูกหนาขึ้น เพื่อไม่ให้ตัวอสุจิว่ายผ่านเข้าไปได้ ตัวแผ่นแปะนี้ส่วนใหญ่จะแปะไว้บนท้อง ต้นแขน ก้น หรือหลัง

ข้อดี

  • มีประสิทธิภาพสูง
  • ใช้ง่าย
  • ไม่ต้องคอยเปลี่ยนทุกวัน

ข้อเสีย

  • ราคาสูง 
  • ผลข้างเคียง เช่น ปวดหัว คลื่นไส้อาเจียน เจ็บเต้านม
  • ไม่ช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • จะมีผลเมื่อใช้อย่างถูกวิธีเท่านั้น เช่น ต้องคอยเปลี่ยนเป็นประจำ และควรติดตามจำนวนอาทิตย์ที่ใช้
  • อาจเกิดอาการคันหรือแดงตรงบริเวณที่ติดแผ่นแปะไว้
  • อาจเกิดอารมณ์แปรปรวน และประจำเดือนมาไม่ตรงเวลา

อัตราความสำเร็จในการคุมกำเนิด: 91%

ยาคุมกำเนิดแบบฝัง
ยาฝังคุมกำเนิด เป็นยาฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่บรรจุในหลอดยายาว 40 มิลลิเมตร ฝังอยู่ใต้ผิวหนัง ฮอร์โมนในหลอดจะค่อย ๆ ถูกปล่อยออกมาสู่กระแสเลือดในระยะเวลา 3-5 ปี แล้วแต่ชนิดของหลอดยา ต้องให้แพทย์ฝังยาให้ โดยมีการฉีดยาชาและใช้เวลาฝัง 1-2 นาที วัยรุ่นอายุไม่เกิน 20 ปี ฝังฟรี

ข้อดี

  • สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ยาวนาน (3-5 ปี)
  • เมื่อฝังแล้ว ไม่ต้องทำอะไรต่อ ดังนั้นไม่มีการผิดพลาดจากการใช้ผิด
  • สามารถใช้สำหรับคนที่ไม่อยากใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน
  • อาจลดปริมาณและความเจ็บปวดของประจำเดือน

ข้อเสีย

  • ต้องให้แพทย์ฝังยาคุมเท่านั้น
  • อาจมีผลข้างเคียงในระยะแรก เช่น คลื่นไส้อาเจียน ปวดหัว ปวดเต้านม อารมณ์แปรปรวน มีสิว ประจำเดือนอาจมาผิดปกติ เลือดออกกะปริดกะปรอย หรือประจำเดือนหยุด
  • การกินยาต้านปฏิชีวนะ ยาต้าน HIV ยาสำหรับโรคลมชัก ยาสำหรับวัณโรค หรือยา St. John’s Wort จะลดประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด
  • เสี่ยงต่อการติดเชื้อบริเวณที่ฝังยา
  • ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

 อัตราความสำเร็จในการคุมกำเนิด: 99.8%

ยาคุมกำเนิดแบบฉีด

ยาคุมกำเนิดชนิดฉีดเป็นยาฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (progesterone) หรือโปรเจสเตอโรนผสมกับเอสโตรเจน (estrogen) โดยแพทย์จะฉีดฮอร์โมนเข้าไปในกระแสเลือดตามระยะเวลา ทุก 1 หรือ 2 หรือ 3 เดือน ยาที่นิยมใช้ในประเทศไทยส่วนใหญ่จะเป็นยากลุ่มโปรเจสเตอโรน ในการฉีด สามารถฉีด 7 วันก่อนกำหนดหากเป็นแบบ 1 เดือน หรือ 2 สัปดาห์ก่อนกำหนดหากเป็น 2 หรือ 3 เดือน

ข้อดี

  • มีระยะเวลาการป้องกันการตั้งครรภ์ที่นาน
  • อาจลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งบางชนิด
  • อาจช่วยลดการปวดประจำเดือน
  • ไม่เกิดความผิดพลาดจากการใช้งานผิด

ข้อเสีย

  • อาจมีผลข้างเคียงเช่น ประจำเดือนมาผิดปกติ น้ำหนักเพิ่ม ปวดศีรษะ ปวดท้อง ปวดเต้านม อารมณ์แปรปรวน
  • เจ็บจากการฉีดยา
  • ต้องมาตามนัด มีโอกาสลืมได้ 
  • ยาออกฤทธิ์นาน หากมีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ต้องรอจนยาหมดฤทธิ์ก่อน

อัตราความสำเร็จในการคุมกำเนิด: 99.7-99.8%

SCORA x Lovecarestation

แหล่งข้อมูล

https://my.clevelandclinic.org/health/drugs/9404-condoms

https://www.plannedparenthood.org/learn/birth-control/condom/how-effective-are-condoms

https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/640

https://med.mahidol.ac.th/poisoncenter/th/knowledge_general_population/29jun2016-1021-th

https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/928658/

https://www.plannedparenthood.org/learn/birth-control/iud 

https://www.chicagoobgyn.com/blog/pros-and-cons-of-an-iud

https://www.plannedparenthood.org/learn/birth-control/diaphragm

https://americanpregnancy.org/unplanned-pregnancy/birth-control-pills-patches-and-devices/what-is-a-diaphragm-5011/

https://www.webmd.com/sex/birth-control/diaphragm-birth-control#3 

https://www.plannedparenthood.org/learn/birth-control/birth-control-patch

https://www.your-life.com/en/contraception-methods/short-acting-contraception/contraceptive-patch/ 

https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=329

https://www.nhs.uk/conditions/contraception/contraceptive-implant/

https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/ยาคุมกำเนิดชนิดฉีด/