ถุงยางรั่ว : เกิดจากอะไรและเราจะรู้ได้อย่างไร?
อย่างที่เราๆ รู้กันว่าการใส่ถุงยางนั้นสามารถป้องกันปัญหาอันไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ได้ ไม่ว่าจะเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น HIV โรคหนองใน หรือจะเป็นการตั้งครรภ์อันไม่พึงประสงค์ แต่อย่างไรก็ตาม ถุงยางสามารถเกิดรอยฉีกขาดทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กที่เราไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้ ซึ่งรอยเหล่านี้จะไปลดประสิทธิภาพการป้องกันของถุงยางลง โดยสาเหตุที่เกิดขึ้นอาจมาจากความผิดพลาดของกระบวนการผลิตเองก็ได้ แต่โอกาสที่เกิดขึ้นนั้นมีน้อยมาก ส่วนใหญ่แล้วรอยฉีกขาดจะมักเกิดจากข้อผิดพลาดของตัวเราเอง
ถุงยางรั่วเกิดจากอะไร?
- การเก็บถุงยางไว้ในที่ไม่ปลอดภัย
เช่น การใช้ถุงยางที่สัมผัสกับความชื้น แสงแดดโดยตรง หรือการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิที่มากๆ มาก่อน หรือแม้แต่การเก็บไว้ในที่ที่เสี่ยงต่อการฉีกขาด เช่น กระเป๋าสตางค์ ซึ่งการเก็บถุงยางที่เหมาะสมนั้น ควรเก็บในที่แห้งและเย็น และไกลจากของแหลมคม
- การเปิดซองถุงยางด้วยฟัน กรรไกร มีด หรือดินสอ
สิ่งที่มีลักษณะแหลมคมเหล่านี้อาจไปเกี่ยวหรือทำให้ถุงยางที่อยู่ในซองฉีกขาดโดยไม่รู้ตัวได้ ซึ่งการเปิดซองถุงยางที่ถูกต้องนั้น ควรฉีกบริเวณขอบหรือริมๆ ของซองอย่างระมัดระวัง
- สวมใส่ถุงยางที่มีขนาดเล็กหรือใหญ่เกินไป
หากใส่ถุงยางแล้วรู้สึกแน่น หลวม หรือไม่สบายตัว เราก็ควรเปลี่ยนถุงยางใหม่ให้มีขนาดที่เหมาะสมกับอวัยวะเพศของเรา
- มีอากาศหรือน้ำอยู่บริเวณปลายกะเปาะของถุงยาง
โดยก่อนใช้งาน เราควรบีบไล่อากาศหรือน้ำก่อน เพราะบริเวณปลายถุงยางที่ว่างนั้น มีไว้สำหรับน้ำอสุจิที่จะหลั่งระหว่างการมีเพศสัมพันธ์
- คลี่ถุงยางออกเต็มความยาวก่อนสวมใส่
โดยวิธีที่ถูกต้องคือ สวมถุงยางอนามัยในขณะที่อวัยวะเพศชายแข็งตัวเต็มที่เท่านั้น โดยใช้นิ้วชี้และนิ้วโป้งบีบที่ปลายกะเปาะ แล้วค่อยๆ รูดม้วนถุงยางลงมาจนถึงโคนอวัยวะเพศ
- การใช้ถุงยางอันเดิมซ้ำ
ไม่ว่าจะเป็นการมีเพศสัมพันธ์หลายครั้งหรือการเปลี่ยนลักษณะเช่น จากช่องคลอดมาเป็นทวารหนัก เราก็ควรเปลี่ยนถุงยางใหม่ก่อนทุกครั้ง ทั้งเพื่อความสะอาด และเพื่อป้องกันการที่ถุงยางจะแห้งและแตกได้
- การใส่ถุงยางซ้อนกัน
การใส่ถุงยางเพียงชั้นเดียวนั้นเป็นวิธีที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพที่สุดอยู่แล้ว การใส่ถุงยางซ้อนกันไม่ได้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของมันแต่อย่างใด อีกทั้งยังไปเพิ่มโอกาสการเสียดสีกันเอง ทำให้ถุงยางแตกหรือรั่วซึมได้
- การมีเพศสัมพันธ์เป็นระยะเวลานาน
การมีเพศสัมพันธ์เป็นเวลานานอาจทำให้ถุงยางที่สวมใส่อยู่นั้นแห้งจนทำให้ เกิดความรู้สึกแน่น และแตกในที่สุด เพราะฉะนั้นถ้าเราต้องการมีเพศสัมพันธ์เป็นเวลานานๆ ให้เปลี่ยนถุงยางระหว่างการมีเพศสัมพันธ์แบบต่างๆ (เช่น ทางปาก ช่องคลอด ทวารหนัก)
- การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก
การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักอาจเพิ่มโอกาสของการรั่วหรือแตกของถุงยาง หากไม่ใช้สารหล่อลื่นระหว่างมีเพศสัมพันธ์
- ใช้ถุงยางหมดอายุ หรือผลิตมาแล้วเกิน 5 ปี
ถุงยางก็เหมือนของอื่นๆ ที่มีวันหมดอายุเหมือนกัน เพราะเช่นนั้นแล้วการใช้ของที่ประสิทธิภาพลดลงก็อาจก่อให้เกิดปัญหาเช่น การฉีกขาด ตามมาได้
- ใช้ถุงยางโดยไม่ใช้สารหล่อลื่น หรือการใช้สารหล่อลื่นผิดประเภท
วิธีที่ถูกต้องคือ ใช้สารหล่อลื่นประเภทที่มีน้ำหรือซิลิโคนเป็นส่วนประกอบหลัก หลีกเลี่ยงสารหล่อลื่นประเภทน้ำมัน เช่น วาสลีน โลชั่น หรือน้ำมันมะพร้าว
- ใส่ถุงยางกลับด้าน
เพราะด้านนอกของถุงยางนั้นได้ฉาบสารหล่อลื่นเอาไว้ การใส่กลับด้านจะไปเพิ่มโอกาสให้ถุงยางลื่นออกระหว่างมีเพศสัมพันธ์ได้ แต่หากเผลอใส่กลับด้านไปแล้ว ให้ทิ้งถุงยางนั้นและเปิดใช้อันใหม่เลย อย่านำกลับมาใช้ซ้ำอีก
- การถอดถุงยางออกผิดวิธี
โดยวิธีที่ถูกต้องให้จับที่ขอบของถุงยาง และดึงออกขณะที่อวัยวะเพศยังแข็งตัวอยู่ โดยระวังไม่ให้น้ำอสุจิสัมผัสกับอวัยวะเพศของคู่นอนของเรา - การที่อวัยวะเพศหดตัว
เราควรระมัดระวังว่า เมื่ออวัยวะเพศหดตัว ถุงยางอาจหลื่นหลุดจากอวัยวะเพศ ทำให้เกิดการรั่วไหลของน้ำอสุจิได้
จะรู้ได้อย่างไรว่าถุงยางรั่ว?
ความรู้สึกที่เปลี่ยนไป
เราเองจะสามารถรับรู้ได้ถึงความรู้สึกที่เปลี่ยนแปลงไปได้ แต่น้องของเราอาจจะไม่รู้สึก เพราะฉะนั้นเราก็ควรจะตรวจสอบและให้ความสนใจกับถุงยางระหว่างการมีเพศสัมพันธ์อยู่ตลอดเวลา
สัมผัสว่าถุงยางยังอยู่หรือไม่
ทั้งคู่นอนและเราเองสามารถเช็คด้วยวิธีนี้ทั้งคู่ โดยระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ให้ลองสัมผัสอยู่เรื่อยๆ ว่าถุงยางนั้นยังคงอยู่มั้ย
สังเกตด้วยตา
นอกจากการลองสัมผัสแล้ว ระหว่างที่เปลี่ยนอิริยาบถระหว่างมีเพศสัมพันธ์ก็สามารถเช็คได้ด้วยตาเช่นกัน
สรุปก็คือ เราสามารถลดความเสี่ยงของการฉีกขาดของถุงยางได้โดย ใช้ถุงยางที่มีขนาดพอดี ตรวจสอบวันหมดอายุก่อนใช้งาน เปิดซองถุงยางด้วยความระมัดระวัง สวมใส่ถุงยางอย่างถูกวิธี ไม่สวมถุงยางซ้อนกัน ใช้สารหล่อลื่นประเภทน้ำหรือซิลิโคน และเก็บรักษาถุงยางในที่แห้งและเย็น เพียงเท่านี้ เราก็สามารถใช้ถุงยางได้อย่างสบายใจแล้ว
อ้างอิง
- Spruyt A, Steiner MJ, Joanis C, Glover LH, Piedrahita C, Alvarado G, Ramos R, Maglaya C, Cordero M. Identifying condom users at risk for breakage and slippage: findings from three international sites. Am J Public Health [internet]. 1998 [cited 2021 Apr 20]. Available from: https://www.researchgate.net/publication/13740697_Identifying_condom_users_at_risk_for_breakage_and_slippage_Findings_from_three_international_sites
- Sanders SA, Yarber WL, Kaufman EL, Crosby RA, Graham CA, Milhausen RR. Condom use errors and problems: a global view. Sex Health [internet]. 2012 [cited 2021 Apr 20]. Available from: https://www.researchgate.net/publication/221846017_Condom_use_errors_and_problems_A_global_view
- Minnesota department of health [internet]. 2017 [cited 2021 Apr 20]. Available from: https://www.health.state.mn.us/diseases/hiv/partners/Maleinstructeng.pdf
- Can you tell when a condom rips or breaks during sex? [Internet]. Planned Parenthood. 2012 [cited 2021Apr19]. Available from: https://www.plannedparenthood.org/learn/teens/ask-experts/can-you-tell-when-a-condom-rips-or-breaks-during-sex
จัดทำโดย
สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย (IFMSA-Thailand)
Content creator and Infographic
นางสาว สุพิชญา ศิริอนันต์ไพบูลย์ นิสิตเเพทย์ชั้นปีที่ 1 คณะเเพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นาย ปัณณวัชร์ ศรีวรสุวัฒน์ นิสิตเเพทย์ชั้นปีที่ 1 คณะเเพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Editor
นางสาว มินนี่ ผดุงเกียรติสกุล คณะแพทยศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล