เมื่อปลาต้องปีนต้นไม้ เมื่อเหยี่ยวต้องว่ายน้ำ

เมื่อปลาต้องปีนต้นไม้ เมื่อเหยี่ยวต้องว่ายน้ำ

ผมมีโอกาสไม่น้อยที่ได้ทำงานร่วมกับผู้ปกครอง ที่กังวลเรื่องของเด็กๆ โดยเฉพาะเรื่อง “ผลการเรียน” นักจิตวิทยาอย่างผมต้องเอะใจและไม่รอช้าที่ต้องขอข้อมูลพฤติกรรมการเรียน และผลการเรียนของเด็กๆ ในช่วงเวลาที่ผ่านจากคุณครู เพื่อทำความเข้าใจนักเรียนและทราบความคิดเห็นจากมุมมองคุณครู ก่อนที่จะพูดคุยกับผู้ปกครอง

สำหรับนักเรียนคนดังกล่าว พบเพียง บันทึกจากครูแจ้งว่า นักเรียนมีพฤติกรรมยุกยิกเล็กน้อย ส่งงาน 8 ใน 10 ชิ้น โดยอีก 2 ชิ้น เป็นการลืมส่ง เด็กดูโต้ตอบต่อครูผู้สอนในระดับพอใช้ อาจน้อยกว่าตอนช่วงเปิดเทอมใหม่ๆ ลายมือไม่สวย มีความสะเพร่าในการที่ต้องอาศัยความละเอียดรอบคอบ

ในขณะที่แม่ให้ความเห็นว่า “ลูกดิฉันขี้เกียจ อยากให้เค้ามีเป้าหมายมากกว่านี้” ผมจึงขอข้อมูลอื่นๆ เพิ่มเติม พบว่า เด็กไม่ชอบการเรียนมากนัก แต่สามารถทำกิจกรรมอื่นๆ อย่างร่วมมือ อาทิ บาสเก็ตบอล ว่ายน้ำ และกอล์ฟ เด็กใส่ใจในการทำงานกลุ่มมากกว่างานเดี่ยวโดยให้เหตุผลว่า “เกรงใจเพื่อน”

เมื่อเล่าถึงตรงนี้ แม่เปลี่ยนสีหน้าและบอกกับผมว่า “แม่ก็เลยถามค้าไปเลยค่ะ ว่า ทำไมเวลางานกลุ่มแล้วรับผิดชอบได้ จะรับผิดชอบงานตัวเองเพิ่มขึ้นได้อีกมั้ย”

ผมรับฟัง ยิ้มตอบ แล้วถามแม่ว่า “แม่พูดไปแล้วน้องดูเป็นยังไงครับ”

แม่น้ำตาลคลอ แล้วบอกว่า “เดี๋ยวนี้นะคะ แต่ละคำของเค้าเฉือดเฉือนแม่มาก” “เค้าบอกแม่ว่า เค้าจะรับผิดชอบงานกลุ่มให้น้อยลงแม่จะได้ไม่ว่าเค้าอีก” “แม่ว่าเค้าตรงไหนคะ แม่กำลังชื่นชม และชวนให้เค้ารับผิดชอบมากขึ้นด้วยซ้ำ”

หลังจากผมแสดงท่าทีรับฟัง แม่ดูสงบลง ผมจึงชวนให้เห็นวิธีในการชื่นชมลูกอย่างระมัดระวังในที่จะไม่กระทบกับความรู้สึกมีตัวตนของเด็กๆ แม่หัวเราะแล้วตอบกลับว่า “รู้มั้ยคะคุณต้น แม่เรียนมาหมดแล้ว แต่เวลาใช้จริงๆ มันทำไม่ได้เลย” ผมจึงไม่รอช้าชวนแม่มองหาข้อดีและจุดแข็งของลูก ซึ่งมีมากอยู่เลยทีเดียว แต่อาจไม่ใช่เรื่องที่ตรงกับใจแม่เท่าไหร่นัก

ต่อจากบทสนทนานี้ แม่เปิดเผยว่าตนเป็นคุณครู และชีวิตการทำงานที่ผ่านมา ตนมักได้รับโอกาสในการทำหน้าที่อธิบายผู้ปกครองเมื่อเด็กต้องได้รับความช่วยเหลือ และสนับสนุนให้เด็กๆ ที่มีข้อจำกัดบางประการเข้ารับการช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ “แต่เด็กคนอื่นเค้าฟังแม่นะคะ ลูกแม่เนี่ยยากที่สุดแล้วคะ” พูดไปพลาง น้ำตาของความปรารถนาดีคลอล้นตา ต่อด้วยการไล่เรียงคุยเรื่องพัฒนาการตามวัย ราวกับงานสัมมนา

…..

ระหว่างการสนทนาผมอดนึกถึงนิทาน “The animal school” ไม่ได้

จากนิทานเรื่องนี้กล่าวถึงโรงเรียนที่มีสัตว์หลากหลากชนิดอยู่รวมกัน หากแต่โรงเรียนใช้วิธีการในการตัดสินสัตว์เดียวกัน กับสัตว์ที่มีที่มาที่ไปและความสามารถที่หลากหลาย และใช้การลงโทษเมื่อสัตว์บางชนิดแสดงบางทักษะไม่ได้ จนเกิดการประท้วงของสัตว์นานาชนิด

แม้ในโลกจริง ปรัชญาการศึกษาพยายามชี้ชวนให้แต่ละสถานศึกษาให้ความสำคัญกับประเด็นความแตกต่างระหว่างบุคคล และการส่งเสริมการเรียนรู้ที่มีความเฉพาะบุคคลมากขึ้น แต่ด้วยข้อจำกัดหลายประการปรัชญาการศึกษานี้ก็ยังไม่บรรลุให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม

และไม่เพียงแต่สถานศึกษาเท่านั้น ความคาดหวังของพ่อแม่ แรงกระตุ้นทางสังคม สภาพเศรษฐกิจ และการมีท่าที และทัศนคติแข่งขันของเด็กๆ วัยเรียน ล้วนแต่เป็นปัจจัยที่สั่นคลอนให้หลายครั้ง การเรียนและการสอบ ส่งผลต่อปัญหาอารมณ์ การปรับตัวกับเพื่อน และสัมพันธภาพภายในครอบครัว

….

จากการสนทนา ผมสังเกตได้ถึงความคาดหวังที่แม่มีต่อลูก โดยในหลายครั้งแม่มีท่าทีตำหนิ และใช้การเปรียบเทียบ “เมื่อก่อนตอนประถมแม่ก็ไม่ตั้งใจเรียน แต่พอมัธยมแม่ก็รู้เลยนะว่าแม่อยากเป็นอะไร ลูกก็ต้องทำได้สิ” นอกจากท่าทีที่เข้มงวดแล้วในทางตรงข้ามหลายสถานการณ์แม่ก็ยอมตาม โดยมีสาเหตุจากความคิดของแม่ที่เกิดความไม่แน่ใจว่าท่าทีของตนที่ดูเข้มงวดนั้นจะส่งผลต่อจิตใจลูกหรือไม่ เกิดพฤติกรมและความคิดนี้สลับไปมาบ่อยครั้ง สะสมเป็นความกังวลต่อบทบาทแม่ของตนเอง

แม่ถามผมซ้ำๆ “แม่ทำมากไป หรือยังไม่พอคะ”

ผมถามแม่กลับอีกครั้งว่า “ถ้าให้แม่จำลองเรื่องการเลี้ยงดูเป็นอะไรได้บ้าง”

แม่ตอบว่า “เหมือนการวาดรูปและลงสี เราต้องหาเทคนิคที่ดีเพื่อให้ภาพนั้นออกมามีคุณภาพ”

ผมถามแม่กลับ “แม่คิดว่าถ้าคนร้อยคนผ่านมาเห็นภาพนี้ แต่ละคนจะประเมินราคาภาพเท่ากันมั้ย”

แม่ตอบกลับ “ไม่ค่ะ ไม่มีทางที่แต่ละคนจะเห็นภาพนี้ในมุมมองเหมือนกัน”

ผมถามต่อ “ใครจะรู้จักภาพนี้ดีที่สุด”

แม่ตอบ “คนวาดค่ะ”

ผมถามต่อเนื่อง “แล้วที่ผ่านมา แม่คิดว่าเป็นยังไงครับ”

“แม่ทำเต็มที่แล้ว และจะทำต่อไป”

ผมชื่นชมความตั้งใจและนัดหมายต่อในการทำงานกับแม่

นรพันธ์ ทองเชื่อม : นักจิตวิทยาและที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิต เลิฟแคร์สเตชั่น