บิวตี้ พรีวิลเลจ (beauty privilege) คืออะไร?
คือรูปแบบของความลำเอียงในสังคม ที่ทำให้คนที่รูปร่าง หน้าตา ตรงตามมาตรฐานความงาม (beauty standards) ได้รับสิทธิพิเศษ และโอกาสมากกว่าคนทั่วไป ซึ่งเป็นปัจจัยที่อยู่คู่กับสังคมมานาน ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปมากเท่าใด
บิวตี้ พรีวิลเลจในสังคมไทย
ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าหนึ่งในปัญหาหลักของสังคมไทยคือการเลือกปฎิบัติเพียงเพราะรูปลักษณ์ภายนอก ซึ่งสามารถเห็นได้ชัดเจนในระดับการทำงาน รวมถึงในสถานศึกษา ไม่ว่าจะเป็นในระดับโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัย
สมัยเรียนมัธยม งานกีฬาสีคงเป็นงานที่หลายๆ คนรอคอย และแน่นอนว่าจุดเด่นของงานกีฬาสีนั้น นอกจากการแข่งกีฬาระหว่างสีแล้ว ก็คงไม่พ้นการเดินพาเรด การแสดงของดรัมเมเยอร์ เชียร์ลีดเดอร์ ฯลฯ ซึ่งหลายครั้ง คนที่ได้รับคัดเลือกมาทำหน้าที่ในตำแหน่งนี้ ก็ถือเป็นคนที่รูปร่างหน้าตาตรงตาม beauty standards และสำหรับคนที่ไม่ผ่านข้อนี้ โอกาสของพวกเขาคงลดลงไปไม่น้อย
การประกวดดาวเดือนในมหาวิทยาลัย ถือเป็นหนึ่งในไฮไลท์ของชีวิตปีหนึ่ง แต่แท้ที่จริงแล้ว การที่มีคนใดคนหนึ่งได้รับชื่อว่าเป็น “คนที่ดูดีที่สุดในคณะ” ถือเป็นตัวอย่างของ บิวตี้ พรีวิลเลจ เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริม beauty standards และทำให้คนที่ได้รับตำแหน่งได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ ทั้งนี้ สถาบันการศึกษาหลายๆ แห่งคำนึงถึงปัญหาเหล่านี้ และเริ่มมีการรณรงค์ให้เปลี่ยนคุณสมบัติเป็น “คนที่มีความสามารถ” หรือ “คนที่มีบุคลิกน่าสนใจ” ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าไปสู่การยกเลิก บิวตี้ พริวิเลจ และ beauty standards ในสังคมไทย
ในความเป็นจริงแล้ว คนที่รูปลักษณ์ภายนอกไม่ตรงตาม beauty standards ไม่เพียงแต่เสียโอกาสในหลายๆ ด้านเท่านั้น แต่หลายครั้งกลุ่มคนเหล่านี้ถูกรังแก (bully) ไม่ว่าจะในชีวิตจริงหรือในโลกออนไลน์
ความชอบรายบุคคล
เนื่องจากทุกคนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และมีความชอบส่วนตัว มันไม่ใช่เรื่องผิดที่จะรู้สึกว่าคนบางคนดูดีกว่าคนอื่น การยกเลิก บิวตี้ พรีวิเลจ ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนไม่มีสิทธิ์ที่จะชื่นชมความสวยงามของใครบางคน แต่เป็นเพียงการรณรงค์ไม่ให้สังคมให้ค่ากับรูปลักษณ์ภายนอกมากเกินไป และให้ความสำคัญกับความแตกต่างอันงดงามของทุกคน
ความแตกต่างอันงดงาม
ถ้าหากทุกคนมีรูปร่าง หน้าตาเหมือนกันหมด โลกใบนี้คงจะน่าเบื่อไม่น้อย ยกตัวอย่างง่ายๆ เลยคือ ถ้าหากมองไปทางไหนก็เห็นแต่ใบหน้าของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นพนักงานร้านสะดวกซื้อ ดารา หรือกระทั่งคนที่เดินสวนไปมาในถนน ในโลกใบนั้น มนุษย์คงไม่ต่างอะไรกับหุ่นยนต์ เพราะเหมือนกันไปเสียทุกอย่าง รู้เช่นนี้แล้ว จึงอยากรณรงค์ให้ทุกคนยกเลิก “บิวตี้ พรีวิเลจ” และหันมาชื่นชมความหลากหลาย และเอกลักษณ์ความงามเฉพาะตัวของแต่ละคน เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในการยอมรับจากสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนควรได้รับอย่างแท้จริง
“When you embrace your difference, your DNA, your look or heritage or religion or your unusual name, that’s when you start to shine.” – Bethenny Frankel
“เมื่อใดก็ตามที่คุณยอมรับความแตกต่างของตัวอย่าง ไม่ว่าจะเป็น DNA รูปลักษณ์ภายนอก เชื้อชาติ ศาสนา หรือแม้กระทั่งชื่อของคุณที่อาจจะผิดแปลกไปบ้าง เมื่อนั้นแหละ คุณจะดูโดดเด่นขึ้นมา” – เบทานี่ แฟรงค์เคิล
References:
Mohammed, Sagal. “Is ‘Pretty Privilege’ Actually a Thing?” My Imperfect Life, My Imperfect Life, 18 Aug. 2021, www.myimperfectlife.com/features/pretty-privilege.
หงส์ลดารมภ์ กานต์ธิดา. “การหยั่งรากลึก ของ Beauty Privileges ในสังคมไทย.” มติชนออนไลน์, 30 Sept. 2020, www.matichon.co.th/article/news_2373051
Christie, Lacey-Jade. “From Instagram to the Bachelor: We Need to Talk about ‘Pretty Privilege.”.” Mamamia, Mamamia, 26 Nov. 2020, www.mamamia.com.au/pretty-privilege/.
Fard, Saeid. “The Greatest Privilege We Hardly Talk about: Beauty.” Medium, Medium, 13 July 2020, medium.com/@sfard/the-greatest-privilege-we-hardly-talk-about-beauty-7db3f70c1116.
“(641 Quotes).” Goodreads, Goodreads, www.goodreads.com/quotes/tag/unique.
จัดทำโดย
สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย (IFMSA-Thailand)
-Content Creator
- นางสาวธามม์ ลิมวัฒนานนท์ นิสิตเเพทย์ชั้นปีที่ 2 คณะเเพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
-Artwork
- นายภูดิศ บูรณะชัยทวี นิสิตเเพทย์ชั้นปีที่ 2 คณะเเพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
-Editor
- นางสาวสุพิชฌาย์ อนุวงศ์วรเวทย์ นิสิตเเพทย์ชั้นปีที่ 2 คณะเเพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์