วัฒนธรรมการข่มขืน
วัฒนธรรมการข่มขืน (Rape culture)
วัฒนธรรมการข่มขืน (Rape culture) จะอยู่ในสังคมหรือสภาพแวดล้อมที่มีความเชื่อทางสังคม ทัศนคติ และศีลธรรมร่วมกันในการทำให้ความรุนแรงทางเพศ (Sexual violence) เป็นเรื่องปกติ ส่งเสริมให้ผู้คนเชื่อมโยงเรื่องเพศกับความรุนแรง และลดทอนความร้ายแรงของความรุนแรงทางเพศ (Wright, 2015) ในวัฒนธรรมการข่มขืน ความรุนแรงทางเพศเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ มีเหตุผล และไม่ถูกคัดค้านอย่างเพียงพอจากคนในสังคม (Field, 2004)
ในขณะที่จำนวนของผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่อัตราการลงโทษผู้ร้ายนั้นมีต่ำ และมักมีข้ออ้างในการแก้ตัวว่าทำไมถึงต้องใช้ความรุนแรงทางเพศนี้ (Field, 2004)
“We live in a society that teaches DON’T GET RAPED instead of DON’T RAPE”
อิทธิพลของสื่อหลักต่อวัฒนธรรมการข่มขืน
จากงานวิจัยของ Matthew A. Baum และ Dara Kay Cohen จาก John F. Kennedy School of Government และ Yuri M. Zhukov จาก University of Michigan วิเคราะห์ว่าหากสื่อหลักในพื้นที่นั้นๆ (การเป็นสื่อหลักแสดงถึงการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่หนึ่ง) แสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจผู้ร้าย โทษว่าเป็นความผิดของเหยื่อ แสดงโดยนัยว่าเหยื่อยินยอม และสงสัยในความน่าเชื่อถือของเหยื่อ แสดงว่าพื้นที่นั้นมีวัฒนธรรมการข่มขืนแฝงอยู่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นในสื่อหลักของประเทศไทย ตัวอย่างคดี 5 ครู 2 ศิษย์เก่า ร่วมข่มขืนนักเรียนหญิงวัย 14 ปี ที่จังหวัดมุกดาหาร แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมการข่มขืนในประเทศไทยได้อย่างชัดเจน เมื่อมีครูภายในโรงเรียนออกมาปกป้องครูผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 5 คน ดังนี้
(อ้างอิงภาพจาก https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000049147)
“ด้านคุณ อัญญากร ผิวขํา ครูในโรงเรียนที่เกิดเหตุ โพสต์เฟซบุ๊กให้กําลังใจกลุ่มครูผู้ต้องหา ระบุว่า ครูทั้งหมดเป็นครู ที่ดี ไม่เคยมีประวัติมาก่อน แต่พฤติกรรมแบบที่ถูกกล่าวหา เรื่องที่เกิดขึ้นก็ไม่มีใครรู้ ให้รอกระบวนการยุติธรรม ตัดสิน อยากให้ฟังความสองฝ่าย เหรียญยังมีสองด้าน เป็นห่วงครอบครัวครูทั้ง 5 คน เขามีลูกมีภรรยาบางคนก็ภรรยา กําลังตั้งท้อง ไม่รู้ว่าเขาจะอยู่ต่อไปในสังคมอย่างไร”
(อ้างอิงจาก https://teroasia.com/news/187246)
จากความคิดเห็นที่ถูกแสดงโดยครูร่วมโรงเรียนข้างต้น แสดงให้เห็นครบทั้ง 4 ปัจจัยที่ประกอบเป็นวัฒนธรรมการข่มขืน ดังนี้
แสดงถึงความเห็นอกเห็นใจผู้ร้าย: “เลิกด่าเขาได้แล้ว ครูเขาก็มีครอบครัวที่อยู่ข้างหลังเหมือนกัน ถ้าเขาติดคุกจริง ๆ ใครจะดูแลครอบครัวเขาละ” “เป็นห่วงครอบครัวครูทั้ง 5 คน เขามีลูกมีภรรยา บางคนก็ภรรยากำลังตั้งท้อง”
โทษว่าเป็นความผิดของเหยื่อ: “ถ้าใครไม่อยากให้ลูกหลานโดนครูข่มขืนก็สอนลูกตัวเองอยู่ที่บ้าน อย่าส่งลูกไปเรียนที่โรงเรียน เพราะครูก็มีชีวิตจิตใจ เงี่ยนเป็น ไม่ใช่พระอิฐพระปูน ที่ไม่รู้สึกรู้สาอะไร”
แสดงโดยนัยว่าเหยื่อยินยอม: “ขอบอกพวกที่ด่าครู ๆ ว่าข่มขืนเด็กนะ ว่าเด็กสมยอมหรือเปล่า”
สงสัยถึงความน่าเชื่อถือของเหยื่อ: “ครูทั้งหมดเป็นครูที่ดี ไม่เคยมีประวัติมาก่อน แต่พฤติกรรมแบบที่ถูกกล่าวหา เรื่องที่เกิดขึ้นก็ไม่มีใครรู้”
วัฒนธรรมการข่มขืนกับละครไทย (Thai soap operas)
คนรุ่นปัจจุบันส่วนใหญ่เติบโตมากับการรับชมละครหน้าโทรทัศน์ ซึ่งบทละครที่เรียกกระแสเรทติ้งได้มากที่สุดคงไม่พ้นแนวตบจูบหรือแนวชิงรักหักสวาท พวกเราเสพสื่อเหล่านี้โดยไม่ได้คำนึงถึงหรืออาจจะไม่ทันได้คิดว่าเรากำลังถูกปลูกฝังวัฒนธรรมการข่มขืนในสังคมให้ลึกลงไปอีก เนื่องจากละครเหล่านี้มักถูกฉายในช่องฟรีทีวี (Free TV) ซึ่งหมายความว่าคนทุกเพศทุกวัยสามารถเข้าถึงได้ง่าย ๆ สิ่งเหล่านี้ถูกซึมซับลงไปโดยผู้รับสื่อ โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงที่ถูกปลูกฝังแนวความคิดว่า ‘สุดท้ายเพศหญิงย่อมพ่ายแพ้แก่ความรุนแรงทางเพศ’
ในภาษาไทยแปลคำว่า ‘rape’ ออกเป็น 2 คำ คือ ‘ปล้ำ’ ตามราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายว่า ใช้แขนกอดรัดจับกุมเพื่อจะให้อีกฝ่ายหนึ่งล้ม หรือให้อยู่ในอำนาจที่จะทำได้ตามใจตน, โดยปริยายหมายความว่า พยายามทำกิจการอย่างเต็มกำลัง, ปลุกปลํ้า ก็ว่า และ ‘ข่มขืน’ ตามราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายว่า บังคับ, ขืนใจ, ขู่เข็ญ จากความหมายข้างต้น คำว่า ‘ปล้ำ’ เป็นคำที่ทำให้ความหมายของการข่มขืนอ่อนลง ผู้คนใช้คำนี้ในทำนองที่ว่าการข่มขืนสามารถเกิดขึ้นได้หากมีจุดประสงค์หรือ ‘ความรัก’ เข้ามาเกี่ยวข้อง กลายเป็นว่าเรากำลังทำให้คำว่า ‘ปล้ำ’ ดูเป็นคำปกติธรรมดา (Normalization) ลดทอนความร้ายแรงของ ‘rape’ อย่างชัดเจน
เราสามารถแบ่งแยก หญิงดีหรือหญิงเลว ในละครไทยได้ผ่านการสนับสนุนวัฒนธรรมการข่มขืนของละครไทยเอง หากตัวละครนั้นเป็น ‘หญิงดี’ หลังจากการถูกข่มขืน (หรือบางคนพยายามลดทอนอาชญากรรมนี้โดยใช้คำว่า ปล้ำ แทน) โดยตัวละครเพศชายซึ่งมักจะเป็นพระเอกของเรื่องหรือตัวละครที่ถูกเขียนบทออกมาให้คู่กับเธอ พวกเธอมักได้รับการดูแลและสุดท้ายเธอก็จะได้ลงเอยกับเขา เป็น Happy ending สุขนิยมแบบที่คนไทยโปรดปราน แต่ถ้าหากเธอเป็น ‘หญิงเลว’ การข่มขืนจะมาในรูปแบบของการลงโทษที่เธอสมควรได้รับ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถูกฉายให้ผู้รับสื่อเห็นซ้ำ ๆ จนทำให้หลายคนมีความคิดและเชื่อว่านี่คือเรื่องปกติและอาจนำไปสู่ความรุนแรงในครอบครัว (Domestic violence)
ละครไทยที่นำเสนอ rape culture อย่างชัดเจน เช่น จำเลยรัก เกมร้ายเกมรัก สวรรค์เบี่ยง และอีกมากมาย
(อ้างอิงจาก https://www.sanook.com/movie/61529/)
ในเมื่อสื่อเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อความคิดและทัศนคติของผู้รับสื่อ ดังนั้นผู้ผลิตสื่อควรตระหนักถึงการผลิตสื่อที่ไม่คัดกรองเนื้อหา ส่งต่อภาพจำของการข่มขืนว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ หรือเลวร้ายกว่านั้นคือ มองว่าการข่มขืนนำมาซึ่งความรักและความเข้าใจ ตามบทละครที่เห็นมามากมาย ซึ่งส่งผล กระทบต่อสังคมในระยะยาว โดยสิ่งเหล่านี้อาจถูกแก้ไขโดยการผลิตภาพยนตร์หรือละครที่ไม่มีฉากข่มขืนเลย หรือมีฉากข่มขืน แต่ต้องแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการข่มขืนเป็นอาชญากรรม ผู้กระทำต้องได้รับบทลงโทษ และอาชญากรรมนี้ไม่ใช่ความผิดของเหยื่อ
แล้วเราจะทำอย่างไรให้วัฒนธรรมการข่มขืนหมดไป?
-การปลูกฝังให้คนในสังคมเข้าใจถึง ‘consent’ (การยินยอม) ทั้ง 2 ฝ่ายต้องตกลงยินยอมและถ้าหากในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์เมื่อมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องการหยุด อีกฝ่ายต้องหยุด
-หยุดการกล่าวโทษเหยื่อ (Victim blaming)
-ตระหนักถึงต้นตอของปัญหาที่มาจากการมองว่า ความเป็น ‘ชาย’ หรือ masculinity นั้นต้องมาคู่กับความแข็งแกร่งและมีอำนาจเหนือกว่า และเราสามารถทำอย่างไรได้บ้างเพื่อที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้ toxic masculinity หายไปจากสังคมไทย?
-ไม่มองผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ
-มุกตลกข่มขืนไม่ใช่สิ่งน่าหัวเราะ ไม่ควรนำมาพูดเล่นไม่ว่าในสถานการณ์ใดก็ตาม เพราะการข่มขืนไม่เคยเป็นเรื่องตลกขำขัน
ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็สามารถตกเป็นเหยื่อของวัฒนธรรมข่มขืนได้ ถึงเวลาแล้วที่เราจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่สังคมไทย
“No Does Not Mean “Convince Me””
อ้างอิง :
-Prevention Education. (2563). What Is Rape Culture?. สืบค้น 25 สิงหาคม 2564, จาก https://rpe.co.nz/what-is-rape-culture/
-วีรวัฒน์ อัจจุตมานัส. (2564). “ข่มขืน” การผลิตซ้ำความรุนแรงในวัฒนธรรมบันเทิงแบบไทยๆ. สืบค้น 25 สิงหาคม 2564, จาก rape-scene-in-thai-tv-series
-อดิเทพ พันธ์ทอง. (2563). วัฒนธรรมข่มขืนความรุนแรงทางสังคมที่ไม่ได้ขึ้นต้นและจบลงแค่การข่มขืน. สืบค้น 25 สิงหาคม 2564, จาก https://thepeople.co/rape-culture-social-violence-not-limited-just-sexual-assault/
-The Columnist. (2563). รู้จัก Rape Culture วัฒนธรรมการข่มขืน ที่สนับสนุนการข่มขืน. สืบค้น 25 สิงหาคม 2564, จาก https://www.blockdit.com/posts/5eb7da078cf6960ca18f3e02
-Under the Ropes. (2559). RAPE CULTURE IN THAILAND. สืบค้น 25 สิงหาคม 2564, จาก https://undertheropes.com/2016/04/01/rape-culture-in-thailand/
-UN women. (2562). 16 ways you can stand against rape culture. สืบค้น 13 กันยายน 2564, จาก https://un-women.medium.com/16-ways-you-can-stand-against-rape-culture-88bf12638f12
จัดทำโดย
สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย (IFMSA-Thailand)
-Content Creator
- นางสาว กณิศา เหล่าธิติพงศ์ ผู้เขียน นักศึกษาเเพทย์ชั้นปีที่ 2 คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
-Artwork
- นางสาว ประภัสสร แจ่มประเสริฐ นักศึกษาเเพทย์ชั้นปีที่ 2 คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
-Editor
- นางสาวสุพิชฌาย์ อนุวงศ์วรเวทย์ นิสิตเเพทย์ชั้นปีที่ 2 คณะเเพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์