เนื่องจาก ทุกวันที่ 20 กันยายน ประเทศไทยประกาศให้เป็น “วันเยาวชนแห่งชาติ” ให้ความสำคัญกับอนาคตของชาติ วันที่ 20 กันยายนของทุกปี ประเทศไทยได้ประกาศให้เป็นวันเยาวชนแห่งชาติ โดยคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. ทาง Lovecare Station มีบทความดีดีมานำเสนอ

ความผิดฐานพรากเด็กหรือพรากผู้เยาว์ หมายถึง การพาหรือแยกเด็กหรือผู้เยาว์ออกไปจากอำนาจปกครองดูแลของบิดามารดา ทำให้อำนาจปกครองดูแลของบิดามารดาถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือนโดยบิดามารดาไม่รู้เห็นยินยอมด้วย อันเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของบิดามารดา

เนื่องด้วยในภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทำให้บิดามารดาต้องออกจากบ้านไปทำงานหาเงินมาเลี้ยงดูบุตรและจุนเจือครอบครัว ทำให้เวลาที่จะดูแล สั่งสอนหรือทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างบิดามารดาและบุตรซึ่งเป็นเด็กหรือเยาวชนมีค่อนข้างน้อย

ประกอบกับสื่อเทคโนโลยีในปัจจุบันที่สามารถเข้าถึงง่าย ซึ่งสื่อต่างๆ เหล่านี้ก็มีทั้งที่เป็นประโยชน์และเป็นโทษ ในส่วนสื่อที่เป็นโทษโดยเฉพาะสื่อลามกอนาจาร สื่อลามกอนาจารเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่กระตุ้นให้เด็กหรือผู้เยาว์ซึ่งอยู่ในวัยอยากรู้อยากเห็นและอยากทดลองประกอบกับความเปลี่ยนแปลงของร่างกายมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรกันโดยง่าย ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดทั้งศีลธรรมและกฎหมาย

ทำให้มีคดีความผิดเกี่ยวกับเพศและความผิดฐานพรากผู้เยาว์ขึ้นมาสู่ศาลเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะข้อหา

  1. ข่มขืนกระทำชำเรา มาตรา 276
  2. พาไปเพื่อการอนาจาร 283 ทวิ วรรคแรก
  3. พรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วย 319 วรรคแรก

ซึ่งมักจะเจรจาตกลงกันได้ บางรายก็อยู่กินฉันสามีภริยากันแล้ว ไม่ประสงค์จะเรียกร้องค่าเสียหายต่อกัน บางรายก็เจรจาตกลงค่าเสียหายกันได้ ฝ่ายผู้เสียหายจึงไม่ประสงค์ให้ผู้กระทำความผิดหรือจำเลยต้องรับโทษจำคุก ในความผิดเกี่ยวกับเพศ มาตรา 276 วรรคแรก, 283 ทวิ วรรคแรก ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความกันได้ 

แต่ในส่วนความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วย ตามมาตรา 319 วรรคแรกซึ่งเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน แม้จะเจรจาตกลงกันได้แต่ก็ไม่สามารถยอมความกันได้ ทำให้ท้ายที่สุดผู้กระทำความผิดหรือจำเลยก็ยังคงถูกดำเนินคดีอาญาในข้อหาดังกล่าวและอาจถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกได้หากจำเลยกระทำความผิดหลายกรรม เพราะศาลอาจรอการลงโทษไม่ได้ 

ส่งผลให้เกิดปัญหาสังคม และครอบครัวตามมาได้ ยิ่งถ้าหากผู้กระทำความผิดหรือจำเลยยังไม่บรรลุนิติภาวะ อยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียน การกระทำความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วยย่อมมิได้เกิดจากจิตใจที่ชั่วร้ายของผู้กระทำความผิดหรือจำเลย หากบางรายอาจเกิดจากการรักใคร่ชอบพอกัน แต่ด้วยวัยของทั้งผู้กระทำความผิดหรือจำเลยและผู้เสียหายที่เป็นผู้เยาว์ทำให้ขาดการระงับยับยั้งใจ จำเลยจึงได้กระทำความผิดดังกล่าว เป็นที่น่าเสียดายอย่างมาก เมื่อได้มีการเจรจาตกลงกันได้แล้ว แต่คดีไม่สามารถยุติได้ทั้งหมด  

มาตรา 319  ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อหากำไร หรือเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงสองแสนบาท

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6306/2562

จำเลยนัดผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เยาว์อยู่ในอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 ไปมีความสัมพันธ์ทางเพศกันในรถยนต์ของจำเลยระหว่างทางที่ผู้เสียหายที่ 2 นั่งไปและกลับจากโรงเรียน เป็นเหตุอันไม่สมควรอย่างยิ่ง แม้จำเลยไม่ได้ขับรถพาผู้เสียหายที่ 2 ออกไปนอกเส้นทางที่ต้องกลับบ้านและพาผู้เสียหายที่ 2 มาส่งที่บ้านตามปกติ ก็ยังเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 เป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วยตาม ป.อ. มาตรา 319 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6910/2562

จำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 ไปกระทำชำเราเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 บิดาและ ศ. มารดาในฐานะผู้ดูแลและผู้มีอำนาจปกครอง จึงเป็นการพรากผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์มีอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากผู้เสียหายที่ 2 ผู้ดูแล เพื่อการอนาจาร จำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 ไปกระทำชำเรา 5 ครั้ง ต่างวันต่างเวลากัน แม้จำเลยกระทำต่อผู้เสียหายที่ 1 รายเดียวกัน ลักษณะการกระทำความผิดอย่างเดียวกัน สถานที่เกิดเหตุเดียวกัน และมีเจตนาประสงค์ต่อผลอย่างเดียวกัน แต่จำเลยกระทำความผิดแต่ละครั้งต่างวันต่างเวลามิได้กระทำต่อเนื่องกัน การกระทำของจำเลยแต่ละครั้งจึงแยกต่างหากจากกันเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน ตาม ป.อ. มาตรา 91

เครดิต : www.closelawyer.com / https://jvnc.coj.go.th/