3F “คนยืดหดกับความคิดที่ยืดหยุ่น”
“ผู้มีความคิดยืดหยุ่นจะส่งผลต่อทักษะในการจัดการอารมณ์และการปรับตัว” เป็นประโยคที่ได้ยินบ่อยครั้งในการทำงานด้านจิตใจ จึงอยากชวนลองมีมุมมองใหม่ต่อ “ความคิดยืดหยุ่น” ให้เห็นภาพชัด และง่ายขึ้นต่อการปรับประยุกต์ใช้
ก่อนอื่น ทำความเข้าใจรูปแบบความคิดแต่ละชนิด ตามมุมมองของการทำงานด้านจิตใจ ..
fixed Idea คือ ความคิดแบบยึดติด เปลี่ยนแปลงได้ยาก มักคุ้นเคยที่จะใช้รูปแบบความคิดเดิมทั้งกับสถานการณ์เดิมและสถานการณ์แปลกใหม่ อาจส่งผลต่ออารมณ์เมื่อต้องพบเจอกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก เนื่องจากรูปแบบความคิดแบบเดิมอาจไม่สามาถใช้ได้กับทุกสถานการณ์ รวมทั้งอาจประสบกับปัญหาความสัมพันธ์เพราะการมีท่าทีต่อต้านการเปลี่ยนแปลงและไม่เป็นมิตรต่อผู้อื่นที่พยายามเข้ามานำเสนอแนวคิดแบบใหม่
flexible thinking คือ ความคิดแบบยืดหยุ่น สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามบริบทและกาลเวลาที่เปลี่ยนไป เพื่อให้เกิดความเหมาะสมต่อการปรับตัว ความคิดแบบยืดหยุ่นมักเป็นความคิดเชิงเหตุผลที่ประกอบด้วยอารมณ์ร่วมกลางๆ ข้อมูลจากประสบการณ์ในอดีต และทักษะในการอนุมานสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยความคิดยืดหยุ่นมีส่วนสำคัญในทักษะการแก้ไขปัญหา และส่งผลให้เจ้าของความคิดรู้ทันอารมณ์ตนเองได้
floating approach คือ ความคิดแบบหย่อนยาน ปล่อยความคิดเป็นอิสระ ไม่มีรูปแบบ ไร้กรอบความคิด และตอบสนองต่อบริบท “ตามอารมณ์” เจ้าของรูปแบบความคิดดูเหมือนจะเป็นคนสบายๆ อะไรก็ได้ แต่อาจเก็บซ่อนความกังวลบางอย่างเอาไว้ อีกทั้งรูปแบบความคิดดังกล่าวอาจส่งผลต่อการลงมือทำตามแผนในรูปแบบและเวลาที่เหมาะสม อาจส่งผลเสียต่อผลรวมของพฤติกรรมในระยะยาว
หากมองโดยความหมาย ความคิดแบบยืดหยุ่น น่าจะเป็นรูปแบบความคิดที่ส่งผลดีต่อความรู้สึก การปรับตัว และทักษะในการแก้ไขปัญหา หลายคนจึง “พยายามมาก” ที่จะใช้ชีวิตและมีความคิดในแบบยืดหยุ่น
พยายามมาก คิดมาก กำกับตนเองมากๆ อาจส่งผลในทางตรงข้าม เพราะแม้ความคิดยืดหยุ่นเป็นสิ่งที่ดี แต่ความพยายามอย่างสุดทางในการที่จะเป็นคนยืดหยุ่น กลับทำให้เรากลายเป็นคนยึดติดรูปแบบความคิดยืดหยุ่น
แต่หากสามารถเข้าใจ “ความคิดยืดหยุ่น” ที่แท้ จะเห็นได้ว่า ความคิดแบบยึดติด หรือความคิดแบบหย่อนยาน อาจมีประสทธิภาพกับบางสถานการณ์ บางเวลา การนำเอาข้อดีและระมัดระวังข้อจำกัดของแต่ละรูปแบบความคิดมาใช้ คือใจความสำคัญของ “คนยืดหยุ่น”
ชวนให้เห็นภาพใจความของความยืดหยุ่นด้วยเรือใบหนึ่งลำ …
ลำเรือ (fixed Idea) เป็นส่วนที่ต้องมั่นคง แข็งแรง แน่นหนา คงสภาพกับทุกอุปสรรคไม่ว่าจะเป็นน้ำร้อน น้ำเย็น น้ำเค็ม หรือน้ำจืด แต่พลขับต้องเข้าใจว่าความมั่นคงของลำเรือไม่อาจฝ่ากองหินโสโครกได้ ต้องอาศัยทักษะอื่นในการเคลื่อนตัวไปผ่านอุปสรรคด้วยส่วนอื่นของเรือ
เสากระโดงเรือ (flexible thinking) เป็นส่วนที่มองจากภายนอกดูแข็งแรง ตั้งตระหง่าน แต่ในความสามารถที่แท้จริงของกระโดงเรือนั้นคือความยืดโค้ง และทักษะในการลู่ลำไปตามแรงลม
ใบเรือ (floating approach) เป็นส่วนที่สามารถตึงได้จนสุดทาง และหย่อนคล้อยได้ตามใจเช่นกัน ใบเรืออาจไม่มีความจำเป็นในบางสถานการณ์ที่เรือลอยลำผ่อนคลาย ไปกับแรงของสายน้ำ และอาจปล่อยให้ลมลู่ผ่านใบไปอย่างเบาเบาตามหัวใจของเจ้าของเรือ
ทักษะของสามส่วนประกอบกันผสานกับ “ความยืดหยุ่น” ในการเลือกใช้สามส่วนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เรือใบจะค่อยๆล่องลำไปและถึงเป้าหมายสักวัน
หากจะยกตัวอย่างกับเรื่องราวในชีวิตจริงจาก “ช่วงเวลาของการสอบ”
การเรียน การทำงานส่งตามกำหนด และการอ่านหนังสือ คือสิ่งที่ต้องอาศัยความคิดและทักษะที่เข้มงวด ต้องอาศัยความพยายามเป็นอย่างมากที่จะชวนให้ตนเองทำตามแผนให้ได้มากที่สุด (fixed Idea)
การสื่อสารพูดคุยกับเพื่อนอาจลดสัดส่วนในเรื่องส่วนตัว และสนุกสนานลง แต่ไม่ทิ้งการสื่อสารทางสังคมโดยอาจเน้นการพูดคุยที่จะให้ประโยชน์ระหว่างกันในเรื่องการเรียนและการสอบมากกว่าเรื่องอื่น (flexible thinking)
ในช่วงของการสอบแม้ต้องเข้มงวดกับตนเองมากแต่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีช่วงเวลาที่ผ่อนคลาย สบายๆ ให้สมองและหัวใจได้พักผ่อนแต่ต้องมีกรอบของเวลาพักที่ชัดเจน ไม่กระทบการเรียนและความสัมพันธ์ (floating approach)
นรพันธ์ ทองเชื่อม : นักจิตวิทยาและที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิต เลิฟแคร์สเตชั่น