ในวันที่ต้องการพัฒนาและค้นหาตนเอง

ในวันที่ต้องการพัฒนาและค้นหาตนเอง

วัยรุ่นคือ วัยที่กำลังค้นหาตัวตนในหลายด้าน อาทิ ภาพลักษณ์ สังคม เป้าหมายอนาคต เพศ และความสามารถ ความต้องการในการพัฒนาตนเองเพื่อความรู้สึกพอใจในความสามารถ พร้อมกับการได้รับการยอมรับเป็นอรรถรสตามวัย ผลักดันให้เกิดกระบวนการด้านความรู้สึกเป็นไปแนวทางสับสนและสงสัย

ไม่เพียงเท่านั้นจังหวะในการพัฒนาตนเองยังเป็นส่วนกระตุ้นมุมมองต่อตนเอง ความหมายในเชิงอัตลักษณ์ และการประเมินคุณค่า ซึ่งเป็นช่วงของการพัฒนาภาพจำในความสามารถและการยอมรับจากวัยเรียนรู้ไปสู่วัยแห่งการรับผิดชอบอย่างแท้จริง

ในช่วงนี้วัยรุ่นจึงใช้พลังจากข้างในอย่างมหาศาลในการผลักตนให้พัฒนาก้าวไปข้างหน้า ปีนป่าย และล้มลุกคลุกคลานปนกันไป ส่งผลต่อสภาวะอารมณ์และการมองตนที่ต่างกัน

Self Blame คือการตีตราให้ค่ากับตนเอง ด้วยลักษณะที่ถ้อยคำหรือประโยคแสดงคุณลักษณะเชิงลบ อาทิ ขี้แพ้ ไร้ประโยชน์ ขี้เกียจ ไร้สาระ ไร้ค่า ซึ่งเป็นความคิดอคติที่ส่งผลต่ออารมณ์เชิงลบ บ้างก็โกรธตัวเอง บ้างก็ทำให้กังวล มากกว่านั้นมักทำให้เกิดอารมณ์เศร้า และอาจผูกพันเป็นความเชื่อฝังลึกว่าตนเองเป็นคนเช่นนั้นจริงๆ กระทั่งเมื่อเจอข้อผิดพลาดหรือเรื่องราวที่เป็นอุปสรรค มักมีความคิดอัตโนมัติในการตีตราตนเอง ซ้ำๆ

Self Reflection มุมมองต่อตนเอง ด้วยพื้นฐานจากทักษะตระหนักรู้ต่อตนเอง ในการทำความเข้าใจกระบวนการคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมของตนเอง ต่อสถานการณ์ต่างๆ โดยมุมมองประกอบด้วยข้อมูลจริง การตีความ และความรู้สึกที่มาจากการรับรู้ของตนเอง

Self Assessment คือการประเมินตนเอง ด้วยข้อมูลในอดีตจำนวนมาก ประสบการณ์ด้านความคิดและอารมณ์ กระทั้งตกตะกอนเป็นพฤติกรรมที่มีรูปแบบเฉพาะในการเผชิญกับอุปสรรคและการพัฒนาตนเอง

วิธีคิดทั้ง 3 รูปแบบ เป็นหนึ่งในกระบวนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงของมนุษย์ แต่มีความแตกต่างกันในทักษะการปรับความคิดอย่างเป็นกลาง และการจัดการอารมณ์ที่แตกต่างกัน หากแต่ผู้นั้นมุ่งใช้การตำหนิ ตีตราเพื่อเป็นการผลักดันให้ตนเองพัฒนาอยู่ตลอดเวลา อาจส่งผลต่อสุขภาวะทางจิตใจในระยะยาว และอาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการพัฒนาตนเองได้ไม่เต็มศักยภาพเนื่องจากถูกรบกวนด้วยอารมณ์เชิงลบ

เมื่อวัยรุ่น สอบไม่ผ่านในรายวิชาที่มีความสำคัญ อาจให้ความหมายและความรู้สึกที่แตกต่างไปในแต่ละคน

“ฉันไร้ความสามารถ”  “ฉันไม่รับผิดชอบ”  “เรามันไม่เอาไหน”  คือการตีตราตนเองจากความผิดพลาด

“ฉันรู้สึกเสียใจที่ฉันเตรียมตัวสอบไม่ดี” คือ การสะท้อนควารู้สึก ความคิด และการกระทำของตนเองต่อผลที่ผิดพลาด

ฉันขาดการอ่านทบทวน ฉันจึงต้องให้เวลามาขึ้นกับการอ่าน และคิดว่าในเทอมหน้าคงต้องมีการจดบันทึกย่อเพื่อง่ายต่อการอ่านและการจดจำ / ฉันควรขีดเส้นสิ่งสำคัญที่ครูดูเน้นย้ำเป็นพิเศษในชั้นเรียน คือ การประเมินตนเองด้วยข้อมูลและประสบการณ์

จะทำอย่างไรให้เกิดการพัฒนาตนเอง และรู้ทันอารมณ์ไปพร้อมกัน?

1.ฝึกฝนทักษะการรู้เท่าทันอารมณ์ ผ่านระบบประสาทสัมผัสทั้ง 5 ว่ามีส่วนไหนเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป มีสิ่งใดเกิดขึ้นหลังเกิดความคิดกับตนเอง …

…ร้อนหรือเย็น นิ่งหรือสั่นไหว เกร็งหรือผ่อนคลาย เคลื่อนไหวหรือเฉยชา

สิ่งนั้นเกิดขึ้นบริเวณใด ความรุนแรงแค่ไหน กระทบกับเราอย่างไร และค่อยๆ หาชื่อเรียกว่า นี่คือ ความรู้สึกอะไร

2.เรียนรู้ทักษะการรู้ทันความคิด ทำความเข้าใจว่า ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเกิดจากความคิดอะไร โดยอาจผ่านการตั้งคำถามกับตนเองว่า “คิดอะไรก่อนหน้าที่จะเกิดความรู้สึกนี้” โดยส่วนใหญ่จะเป็นความคิดที่มีต่อตนเอง จากนั้นมองหาข้อมูลที่มีต่อตนเองตามความเป็นจริง จะช่วยให้สามารถสงบอารมณ์ได้

3.ลงมือทำคือบทพิสูจน์ของการเรียนรู้ ความผิดพลาดคือฐานของการเรียนรู้ของสิ่งมีชีวิต หากได้เห็นข้อผิดพลาดของตนที่เกิดขึ้น และทำความเข้าใจต่อสิ่งที่ผิดพลาดได้ตามเป็นจริงมากกว่าการกล่าวโทษหรือตีตราตนเอง ให้นำความผิดพลาดนั้นปรับใช้กับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อป้องการความผิดพลาด เพื่อการเรียนรู้ทักษะใหม่ และเพื่อบริหารใจไปพร้อมกับการพัฒนาตนเอง

นรพันธ์ ทองเชื่อม (พี่ต้น) : นักจิตวิทยา นักจิตบำบัด และที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิต เลิฟแคร์สเตชั่น