Gender Dysphoria คือ อะไร?

Gender Dysphoria คือ อะไร?

Gender Dysphoria หรือ ภาวะความไม่พึงพอใจในเพศของตนเอง หรือ ความทุกข์ใจในเพศสภาพ  เป็นความทุกข์ทางจิตใจที่เกิดจากความขัดแย้งในจิตใจระหว่างเพศแต่กำเนิดกับอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเอง แม้ว่าการรับรู้เพศของตนเองมักจะเริ่มขึ้นในวัยเด็ก แต่บางคนอาจไม่เคยประสบกับภาวะนี้จนกว่าจะถึงวัยแรกรุ่นหรือหลังจากนั้นมาก โดย Gender Dysphoria ไม่ใช่โรคทางจิตเวชโดยตรง แต่ความทุกข์จากโรคนี้อาจเชื่อมโยงกับปัญหาสุขภาพจิต เช่น โรควิตกกังวล โรคจิตเภท โรคซึมเศร้า โรคสารเสพติด โรคการกินผิดปกติ    

Gender Dysphoria เกิดขึ้นได้อย่างไร?

สาเหตุของ Gender Dysphoria นั้นยังไม่แน่นอน แต่อาจมีปัจจัยหลายประการ เช่น พันธุกรรม อิทธิพลของฮอร์โมนในระหว่างการพัฒนาก่อนคลอด และปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม อาจเกี่ยวข้องแม้แต่กรอบของสังคมก็สามารถทำให้เกิด Gender Dysphoria ได้

คนที่เป็น ทรานส์ (Trans) ซึ่งมีเพศภาวะที่ไม่สัมพันธ์กับเพศกำเนิดของตนเอง อาจจะประสบ Gender Dysphoria ได้เมื่อรู้สึกว่าเพศของตนเองกับอัตลักษณ์ทางเพศนั้นไม่เป็นหนึ่งเดียวกัน ยกตัวอย่าง เช่น เมื่อ ทรานส์เมน (Trans Men) เริ่มมีประจำเดือน ความรู้สึกว่าเพศหญิงแต่กำเนิดนั้นไม่เป็นหนึ่งเดียวกันกับอัตลักษณ์เพศชายของตน อาจทำให้รู้สึกทุกข์ใจ และสับสนในตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง 

Gender Dysphoria เกิดขึ้นกับใคร?

เกิดขึ้นกับใครก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นเด็ก วัยรุ่น หรือ ผู้ใหญ่ก็ตาม แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดภายหลังความรู้สึกว่าตัวตนของตนเองนั้นเข้ากับเพศอื่นมากกว่าเพศแต่กำเนิด ซึ่งส่วนใหญ่แล้วคนที่เป็น transgender จะเกิด Gender Dysphoria ได้มากกว่าคนที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มนี้

อาการของ Gender Dysphoria คืออะไรบ้าง? 

อาการของ Gender Dysphoria ในวัยรุ่น และผู้ใหญ่นั้นแตกต่างจากอาการในเด็ก โดยอาการหลักๆ คือ

  • มีความไม่พอใจในเพศตัวเองเป็นอย่างมาก
  • อาจมีการเลียนแบบเพศตรงข้าม 
  • อาจมีความต้องการที่จะเป็นเพศตรงข้าม

อาการของ Gender Dysphoria ในวัยรุ่น และผู้ใหญ่ ได้แก่

  • อาจมีความมั่นใจว่าอัตลักษณ์ทางเพศขัดแย้งกับเพศแต่กำเนิด
  • อาจรู้สึกสบายใจ โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในบทบาททางเพศของอัตลักษณ์ทางเพศที่ต้องการ (อาจรวมถึงคนที่ไม่ใช่ไบนารี)
  • อาจมีการซ่อนสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงทางกายภาพของเพศแต่กำเนิด เช่น หน้าอก หรือ ขนบนใบหน้า
  • อาจรู้สึกไม่ประทับใจในอวัยวะเพศของเพศแต่กำเนิด

ทำอย่างไรเมื่อเกิด Gender Dysphoria?

เมื่อเกิด Gender Dysphoria และเริ่มมีอาการซึมเศร้าร่วมด้วย ควรที่จะปรึกษาจิตแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับสุขภาพของคนไข้ที่เป็นทรานส์ เพื่อวางแผนการรักษา แพทย์จะมองหาปัญหาสุขภาพจิตที่ผู้ป่วยต้องการได้รับการแก้ไข หรือ บำบัด เช่น ภาวะซึมเศร้า หรือความวิตกกังวล  

การรักษานั้นมี 2 แบบด้วยกัน เป็นการรักษาทางกาย กับ การรักษาทางจิตใจ 

สำหรับทางกายนั้น การรักษาทางการแพทย์อาจรวมถึง

  • การบำบัดด้วยฮอร์โมน เช่น การบำบัดด้วยฮอร์โมนเพศหญิง หรือ การบำบัดด้วยฮอร์โมนเพศชาย
  • การผ่าตัด เช่น ศัลยกรรมตกแต่งรูปร่างผู้หญิง หรือ ศัลยกรรมเปลี่ยนหน้าอก หรือ อวัยวะเพศภายนอก อวัยวะเพศภายใน ลักษณะใบหน้า และโครงร่างตามร่างกาย เป็นต้น

สำหรับทางจิตใจนั้น จะได้รับการรักษาด้วยพฤติกรรมบำบัด ซึ่งไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปลี่ยนอัตลักษณ์ทางเพศ การบำบัดสามารถช่วยสำรวจข้อกังวลเรื่องเพศ โดยมีเป้าหมายคือ การช่วยให้คนที่มี Gender Dysphoria รู้สึกสบายใจกับการแสดงออกถึงอัตลักษณ์ทางเพศของตนในแบบของตัวเอง นอกจากนี้พฤติกรรมบำบัดก็ยังสามารถจัดการกับปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ ได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม หากใครที่คิดว่าตัวเองกำลังมีภาวะ Gender Dysphoria สามารถที่จะรับคำปรึกษาจากแพทย์ได้ หรือปรึกษาคลินิกเฉพาะทาง เช่น คลินิกเพศหลากหลาย (Gen-V Clinic)  คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร.02-201-2799 FB: GenV Clinic , คลินิกสุขภาพเพศ (Gender Health Clinic) รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โทร.02-256-5304 02-256-5299 02-256-5286 และ Tangerine Clinic โทร.02-160-5372 ต่อ 205

References:

American Psychiatric Association. (2020, November). What Is Gender Dysphoria? American Psychiatric Association. Retrieved October 17, 2021, from https://www.psychiatry.org/patients-families/gender-dysphoria/what-is-gender-dysphoria. 

Collins, Sonya. “You Don’t Feel at Home With Your Assigned Gender.” WebMD, https://www.webmd.com/sex/gender-dysphoria. Accessed 17 Oct. 2021.

“Gender Dysphoria – Signs.” Nhs.Uk, 3 Oct. 2018, https://www.nhs.uk/conditions/gender-dysphoria/symptoms/.

“What Is Gender Dysphoria?” Verywell Mind, https://www.verywellmind.com/gender-dysphoria-5085081. Accessed 17 Oct. 2021.

 

จัดทำโดย

สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย (IFMSA-Thailand)

  -Content Creator and Artwork  

  • นางสาวสุพิชฌาย์ อนุวงศ์วรเวทย์ นิสิตเเพทย์ชั้นปีที่ 2 คณะเเพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ 

  -Editor

  • นางสาวมินนี่ ผดุงเกียรติสกุล นักศึกษาเเพทย์ชั้นปีที่ 3 คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล