ภาษารัก (Love Languages)

ภาษารัก

ตามธรรมชาติของวัยรุ่น มีการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ มากมาย ทั้งกายภาพ และจิตใจ รวมไปถึงการรับรู้สิทธิต่อการเลือกและรับผิดชอบด้วยตนเอง นำไปสู่พัฒนาการทางสังคมและการสื่อสารที่เปลี่ยนแปลงไป

หลายครั้งการสื่อสารและการแปลความการสื่อสารของวัยรุ่นก็เปลี่ยนไปตามพัฒนาการ มุมมอง ความเข้าใจ และค่านิยม การแปลความหมายของความรักในแบบเดิมจึงเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบที่ไม่เหมือนเดิม การเข้าใจในภาษาของการแสดงความรักจึงเป็นสิ่งสำคัญต่อการสื่อสารกับวัยรุ่นเป็นอย่างมาก

 

5 ภาษารัก (The Five Languages) ประกอบด้วย

  1. 1. การบอกรัก (Words of Affirmation) คือการแสดงความรักด้วยการพูด การใช้ภาษาในการสื่อสารคำเกี่ยวกับการแสดงออกความรู้สึก เช่น รัก รู้สึกดีใจ ขอบคุณที่ช่วยเหลือกัน ภูมิใจที่หนูพยายายาม โดยอยู่ในกรอบของภาษาเดิมที่ในครอบครัวเคยใช้ อยู่ในระดับที่ไม่เป็นทางการเกินไปจนขาดความเป็นธรรมชาติ
  2. 2. การสัมผัส (Physical Touch) เช่น การกอด การหอมแก้ม การจับมือ การแตะตัว แต่ไม่เพียงเท่านั้น ยังประกอบไปด้วยสีหน้าท่าท่าทีปลอดภัย เป็นมิตร มากกว่าหุนหันหรือละเมิดพื้นที่และความรู้สึกไม่ปลอดภัยของผู้รับ ยิ่งเด็กโตขึ้นยิ่งมีพื้นที่ปลอดภัยและสิทธิ์ในร่างกายที่ต้องระมัดมะวังมากขึ้น
  3. 3. การทำอะไรบางอย่างให้ (Acts of Service) เช่น การเตรียมอาหารเช้าไว้ให้ การบีบยาสีฟัน การไปรับไปส่ง หรือถ้าจะละเอียดอ่อนมากกว่านั้น การบริการตามความพอใจของวัยของวัยรุ่นอาจเป็นการสื่อสารที่ทรงพลังมาก อาทิ ไปส่งลูกวัยรุ่นดูภาพยนต์กับเพื่อนตามการร้องขอ จัดพื้นที่ในบ้านสำหรับวางคอมพิวเตอร์ส่วนตัวของวัยรุ่น
  4. 4. การให้ของขวัญ (Receiving Gifts) คือ การให้ของขวัญหรือสิ่งของเล็กๆ น้อยๆ กับวัยรุ่น ในโอกาสพิเศษ โอกาสสำคัญ หรือรางวัลในความพยายาม โดยเน้นไปที่สิ่งของที่วัยรุ่นรู้สึกพึงพอใจ หรือได้ใช้ประโยชน์อย่างต็มที่ จะเป็นการตอกย้ำทั้งสัญลักษณ์ความรักจากสิ่งของและความรักจากความรู้สึกใส่ใจ โดยรูปแบบในการให้ของขวัญก็อาจต้องพิจารณาให้เหมาะกับวัยรุ่นแต่ละคน บางคนชอบการเซอร์ไพร์ส ในทางตรงข้ามบางคนกลับชอบรับของขวัญอย่างเงียบๆ และสัมผัสคุณค่าจากสิ่งของนั้นเพียงลำพัง
  5. 5. การใช้เวลาอยู่ร่วมกัน (Quality Time)คือ การมีเวลาที่มีคุณภาพร่วมกัน หรือการอยู่ด้วยกัน หลายครั้งเรามักตีความว่า “เวลาคุณภาพ” คือกิจกรรมที่ทำร่วมกัน แต่ถ้าไตร่ตรองให้ลึกซึ้งจะเห็นไดว่า “ความรู้สึกร่วมในกิจกรรมที่ทำ” คือใจความสำคัญของเวลาคุณภาพ การสังเกต การใช้คำถามปลายเปิด จะช่วยให้เห็นความต้องการและความสนใจในการทำกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นร่วมกันได้อย่างดี

ดังนั้นความเข้าใจในการสื่อสารที่เหมาะสม การแปลความต้องการในการรับความรักอย่างละเลียดละออของผู้ฟังโดยเฉพาะวัยรุ่น ช่วยให้คนในครอบครัวสามารถแสดงความรัก ความปรารถนาดีต่อกัน ผ่านการสื่อสารและความสัมพันธ์อันดี สามารถเห็นเจตนาดีที่มีต่อกันได้ชัดเจนมากขึ้น

นอกจากปัจจัยเรื่อง “ภาษารัก” แล้วนั้น ในความเป็นวัยรุ่นที่มีการพัฒนาเรื่องพื้นที่ส่วนตัว มุมมอง และอัตลักษณ์ รูปแบบการสื่อสารความรักจึงเป็นสิ่งสำคัญด้วยเช่นเดียวกัน

ความพร้อมในการสื่อสาร การสังเกตสีหน้าท่าทาง บ่งบอกได้ถึงอารมณ์ และความพร้อมของวัยรุ่นในการรับหรือโต้ตอบกลับการสื่อสารความรัก หากสังเกตได้ว่า วัยรุ่นกำลังจดจ่อกับสิ่งใดเป็นพิเศษ หรืออาจมีเรื่องบางอย่างรบกวนใจ ช่วงเวลานั้นอาจไม่เหมาะสมกับการสื่อสารความรัก

 

วัน เวลา บุคคล สถานที่ แม้อยู่ในสภาวะอารมณ์ที่พร้อม แต่การแสดงความรักต่อหน้าคนอื่น หรือในสถานการณ์ภายนอกที่อาจมีมุมมองการตัดสินจากสายตาของผู้คน หรือแม้กระทั่งบนโลกออนไลน์ ย่อมกระทบกับความรู้สึกหวั่นไหว การเข้าใจธรรมชาติและบุคลิกบางอย่างของวัยรุ่นจะช่วยให้เราสามารถเลือกแสดงความรักได้ถูกที่ถูกเวลา

 

เน้นการสื่อสารสองทาง เพราะใจความสำคัญของการสื่อสารคือ การส่งข้อมูลและความรู้สึก พร้อมทั้งการโต้ตอบผลกลับเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของการสื่อสาร และเพื่อประเมินความพอใจของผู้รับเป็นระยะ สามารถทำได้โดยแสดงออกความรักทีละเล็กทีละน้อย ค่อยเป็นค่อยไป และหมั่นสังเกตท่าที หากได้รับการตอบรับที่ดี ค่อยๆไปต่อกับการสื่อสารรูปแบบนั้น แต่หากวัยรุ่นมีท่าทีตระหนกหรือขัดเขิน อาจให้เวลาในการจัดการตัวเอง ถ้าวัยรุ่นหวาดหวั่นหรือหงุดหงิด อาจรอให้อารมณ์สงบและค่อยๆ สื่อสารเจตนาในท่าทีและพื้นที่ที่ปลอดภัย

 

นรพันธ์ ทองเชื่อม : นักจิตวิทยาและที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิต เลิฟแคร์สเตชั่น