ตลกร้าย
ความตลกมันคืออะไรกันแน่ เอ๊ะ!? แล้วความตลกมันเคยทำร้ายใครรึเปล่านะ?
ตามทฤษฎีแล้ว ความตลกนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไรกันนะ?
ทฤษฎีความไม่ลงรอยกัน(ฝ่าฝืน/ปลอดภัย) : Thomas Veatch ได้อธิบายเอาไว้ว่า เหตุการณ์หนึ่งนั้น จะกลายเป็นเรื่องตลกขบขันได้ หากเหตุการณ์นั้นๆ เกิดความฝ่าฝืนออกจากเหตุการณ์ตามตรรกะปกติ และมีสิ่งอธิบายที่ทำให้เรารู้สึกปลอดภัย หรือก็คือเป็นเหตุการณ์ที่เราไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น และเหตุการณ์นั้นจะต้องถูกทำให้เห็นว่าปลอดภัย และสามารถหาคำอธิบายต่อเหตุการณ์นั้นๆ ได้ ยกตัวอย่างเช่น มุขตลกตามคาเฟ่ในสมัยก่อน ที่มักจะมีการตบหัว นำจุดที่ไม่ปกติของนักแสดงออกมาล้อเลียน แต่คนดูรับรู้ร่วมกันว่าเป็นเพียงการแสดง ไม่ได้มีการทำร้ายหรือล้อเลียนกันเป็นจริงเป็นจัง ผู้ชมจึงรู้สึกตลกไปกับการแสดงนั้นๆ ได้
ซึ่ง Tom Veatch ได้บอกเอาไว้ว่า จะสามารถทำให้สถานการณ์นั้นๆ ดูปลอดภัยได้จาก 3 ปัจจัย คือ ปลอดภัยเพราะไม่ใช่เรื่องจริงจัง ปลอดภัยเพราะเป็นเรื่องไกลตัว และมีคำอธิบายที่ทำให้รู้สึกสมเหตุสมผล
ทฤษฎีความเหนือกว่า : อิงมาจากทฤษฎีของ aristotle และ plato ซึ่งได้กล่าวเอาไว้ว่า คนเรานั้น มีแนวโน้มที่จะรู้สึกขบขันกับสิ่งใดหรือผู้ใดก็ตาม ที่เรารู้สึกว่าเราเหนือกว่ามัน เช่น การที่เรารู้สึกตลกเมื่อเห็นสุนัขสับสนกับอะไรบางอย่าง หรือรู้สึกตลกกับคนที่ทำอะไรแปลกๆ เก้ๆ กังๆ เป็นต้น เช่น นักแสดงตลก Mr.bean หรือ charlie chaplin
ประโยชน์ของความตลกมีอะไรบ้าง?
ความสัมพันธ์ที่ดี : แน่นอนว่าความตลกนั้นเป็นตัวช่วยชั้นดีให้ความสัมพันธ์นั้นแน่นแฟ้นขึ้น เพราะเรื่องตลกทั้งหลายนั้นอาจจะช่วยให้เราคลายความตึงเครียดลงไปได้ และเมื่อความตึงเครียดเราลดน้อยลงย่อมทำให้พฤติกรรมที่เราแสดงออกมาเป็นไปในทางบวกมากขึ้น ส่งผลให้เราจัดการกับความสัมพันธ์ได้ดีขึ้นนั่นเอง
เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและการตัดสินใจ : เราอาจเคยได้ยินมาว่าความเครียดนั้นส่งผลให้การตัดสินใจและการทำงานของเราแย่ลง ซึ่งความตลกขบขันนั้นจะช่วยเราบรรเทาความเครียดเหล่านั้นไปได้ จึงอาจพูดได้ว่าความตลกนั้นช่วยให้ประสิทธิภาพการทำงานและการตัดสินใจของเรานั้นสูงขึ้นได้
เสริมสร้างสุขภาพกายและใจ : แน่นอนว่าความรู้สึกตลกขบขันนั้นจะช่วยลดความเครียดของเรา จึงพูดได้ว่าส่งผลดีต่อสุขภาพจิตของเรา แต่รู้หรือไม่ว่ามันส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกายด้วย เพราะเมื่อเรารู้สึกตลกขบขันเราก็มักจะหัวเราะออกมา ซึ่งการหัวเราะนั้นทำให้หัวใจและปอดทำงานมากขึ้น ทำให้เลือดสูบฉีดได้ดีขึ้น รวมทั้งช่วยควบคุมระดับความดันโลหิตให้เป็นปกติ นอกจากนี้ การหัวเราะทำให้ร่างกายหลั่งสารเอนโดรฟินที่ช่วยให้เรารับมือกับความรู้สึกแย่หรือความเครียดได้ดีขึ้น ซึ่งช่วยป้องกันโรคหัวใจได้ด้วย
ทำไมความตลกของแต่ละคนจึงต่างกันล่ะ?
ในส่วนนี้เราอาจจะอธิบายได้ด้วย “ทฤษฎีการบรรเทาทุกข์” ซึ่ง อ้างอิงมาจากทฤษฎีของ sigmund freud ซึ่ง ฟรอยด์ เชื่อว่าเพื่อบรรเทาความทุกข์ของตนแล้ว โดยมากคนเราสามารถรู้สึกตลกขบขันได้กับแทบทุกสถานการณ์ แม้ว่าอาจจะเป็นสถานการณ์ที่ดูจริงจังมากก็ตาม ซึ่งการที่เราจะมองเรื่องใดๆ ให้เป็นเรื่องตลกได้นั้น มีส่วนเกี่ยวข้องกับ ประสบการณ์เดิม ทัศนคติ รวมไปถึงความเครียดของเราในขณะนั้น ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่อธิบายได้ว่า ทำไมเราถึงตลกกับมุขบางมุขที่คนอื่นไม่รู้สึกตลกด้วย หรือ ทำไมเราถึงไม่รู้สึกตลกกับบางเหตุการณ์ ทั้งๆ ที่คนอื่นพากันหัวเราะกันหมด
ความตลกเคยทำร้ายใครไหมนะ!?
แน่นอนว่าหากพูดถึงความตลกขบขันแล้ว เรามักนึกถึงความสุข การเยียวยาจิตใจด้วยเสียงหัวเราะ แต่ว่าความตลกก็ทำร้ายคนได้เหมือนกันนะ ซึ่งจากทฤษฎีที่เราหยิบยกมาเล่าให้ฟังแล้วนั้น เราคงพอจะเดากันได้แล้วว่าความตลกจะทำร้ายคนได้อย่างไร ซึ่งผมจะขอนิยามความตลกประเภทนี้เอาไว้ว่า “ความตลกที่ขาดทุน”
จากทฤษฎีความเหนือกว่านั้น แน่นอนว่าทุกคนย่อมอยากรู้สึกถึงความเหนือกว่า ไม่ค่อยมีใครจะรู้สึกดีหรอกนะเวลาที่คนอื่นเอาเราไปทำเป็นตัวตลก เอาเรื่องที่เรารู้สึกอายไปเล่าเป็นเรื่องตลก ซึ่งต้องบอกเลยว่าในกลุ่มเด็กวัยรุ่นนั้นเราสามารถพบเจอได้บ่อยมาก ซึ่งคนที่ต้องกลายเป็นตัวตลกในกลุ่มนั้น มักจะเป็นคนที่ต้องจ่ายราคาของความตลกให้กลุ่มเพื่อนเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายด้วยความมั่นใจในตนเองทั้งในเรื่องบุคลิก ท่าทางหรือรูปร่าง จ่ายด้วยความรู้สึกของตนเองที่ดิ่งลงไปในทางลบขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเมื่อตัวตลกเหล่านี้ขาดทุนสะสมไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็จะเกิดความเสียหายต่อจิตใจ บุคลิก การเข้าสังคม หรือความมั่นใจของตัวตลกคนนั้นๆ นั่นเอง อาจจะดูเหมือนไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ก็ถือได้ว่าเป็นรากฐานขั้นแรกของการบูลลี่เลยทีเดียว
ความตลกอย่างชาญฉลาด
หลังจากที่เราได้พูดถึงเรื่อง “ความตลกที่ขาดทุน” กันไปแล้ว หลายๆ คนคงจะอยากรู้ว่า เอ๊ะ!? ถ้าอย่างนั้นเราต้องทำยังไงล่ะถึงจะไม่มีคนที่ต้องคอยจ่ายราคาของความตลกนั้น ตรงส่วนนี้ผมคงจะบอกได้แค่เพียงว่า เราไม่ควรไปพาดพิงถึงคนอื่นแบบเจาะจง ยังมีเรื่องตลกมากมายให้เราได้หยิบยกมาเล่นโดยที่ไม่ต้องพาดพิงไปถึงปมของคนอื่น เราอาจจะพูดถึงเรื่องของเราเอง หรือคุยกันเรื่องกิจกรรมตลกๆ ที่เคยทำร่วมกันกับกลุ่มเพื่อนก็ได้ เพียงแค่เราเคารพและเอาใจใส่ความรู้สึกของผู้ฟังและผู้ถูกพาดพิงให้มากขึ้น คิดให้ถี่ถ้วนก่อนจะพูดออกไป เราก็จะเผลอไปทำร้ายคนอื่นด้วยความตลกน้อยลงนั่นเอง
สัณห์ จรรยารุ่งโรจน์
(นิสิตฝึกงานสาขาจิตวิทยาพัฒนาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)