HIV และ AIDS แตกต่างกันอย่างไร

HIV และ AIDS แตกต่างกันอย่างไร

หลายคนมักจะไม่เข้าใจถึงความแตกต่างระหว่าง AIDS กับ HIV คนส่วนใหญ่จะเหมารวมว่า AIDS และ HIV มีความหมายเดียวกัน ทั้งที่จริงแล้ว HIV คือไวรัสที่สามารถนำมาซึ่งภาวะที่เรียกว่า AIDS และไม่ใช่ทุกคนที่ติดเชื้อ HIV จะเป็น AIDS 

HIV คืออะไร

คำเต็มของ HIV คือ Human Immunodeficiency Virus ซึ่งเป็นไวรัสที่ทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยปกติระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งประกอบไปด้วยเซลล์เม็ดเลือดขาวหลากหลายชนิด มีกลไกที่ทำหน้าที่ป้องกันและต่อต้านอันตรายจากการติดเชื้อและสิ่งแปลกปลอม เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า CD4 T cells เป็นเป้าหมายของเชื้อ HIV และเมื่อเซลล์เหล่านี้ถูกทำลายผู้ติดเชื้อจะมีร่างกายที่อ่อนแอลงจนติดเชื้ออื่นๆ ตามมาได้ง่าย โดยคนปกติที่มีระบบภูมิคุ้มกันสมบูรณ์นั้น จะสามารถต่อต้านเชื้อโรคต่างๆ ได้ดีกว่า 

ดังนั้นสรุปง่ายๆ คือ การติดเชื้อ HIV ทำให้ร่างกายได้รับเชื้อโรคอื่นๆ ง่ายขึ้น 

สำหรับในผู้ติดเชื้อ ความเร็วในการดำเนินโรคนั้นขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัย เช่น สุขภาพ อายุ พันธุกรรม เเละความช้าหรือเร็วในการได้รับการรักษา หรือเเม้เเต่การติดเชื้อร่วมกับโรคอื่น เช่นวัณโรค เป็นต้น

การแพร่เชื้อ HIV

HIV สามารถแพร่จากคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่งได้โดยผ่านสารคัดหลั่ง เช่น เลือด น้ำนม น้ำอสุจิ น้ำหล่อลื่นจากอวัยวะเพศชาย  รวมถึงของเหลวในช่องคลอดและทวารหนัก ผ่านการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกัน และการใช้เข็มร่วมกัน เป็นต้น 

ทั้งนี้เชื้อ HIV ไม่สามารถแพร่ผ่าน การจับมือทักทาย การกอด จูบ จาม ใช้ห้องน้ำร่วมกัน หรือทางน้ำลายได้ ดังนั้นการที่จะมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยและหลีกเลี่ยงการสัมผัสเข็มฉีดยาที่ไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อโรคจึงเป็นเรื่องสำคัญ

วิธีการรักษาการติดเชื้อ HIV

Heap of medicine pills. Background made from colorful pills and capsules

สำหรับเทคโนโลยีการแพทย์ปัจจุบัน เรายังไม่สามารถรักษา HIV ให้หายขาดได้ ถ้าร่างกายเราได้รับเชื้อ HIV เข้าไปก็จะมีเชื้ออยู่ในร่างกายตลอดไป แต่อย่างไรก็ตาม ได้มีการพัฒนายาที่สามารถชะลออาการเเละความรุนแรงของ HIV ได้ โดยยาที่ใช้ในการรักษาประกอบด้วยการใช้ยาต้านไวรัสหลากหลายชนิด (เรียกรวมๆ ว่า antiretroviral drug หรือ ARV) รวมกันเพื่อต่อสู้กับการติดเชื้อ หรือที่เรียกว่า antiretroviral therapy (ART) วิธีการรักษานี้จะช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัส ซึ่งจะช่วยยืดเวลาให้ผู้ติดเชื้อมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น อีกทั้งยังลดโอกาสในการแพร่เชื้อต่อไปด้วย การใช้ยา ARV นั้นไม่ได้เพียงแต่ช่วยชะลอโรคในผู้ติดเชื้อเพียงเท่านั้น หากยังช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อทั้งก่อน (Pre-exposure prophylaxis หรือ PEP) เเละหลังสัมผัสโรค (Post-exposure prophylaxis หรือ PrEP) หากคิดว่าตนเองได้รับเชื้อมา สามารถใช้ยา PEP เพื่อลดความเสี่ยงของการติดโรค การใช้ยานี้อย่างรวดเร็วภายในสามวันหลังรับเชื้อ จะช่วยป้องกันการติดเชื้ออย่างมีประสิทธิผลมากขึ้น นอกจากนี้ สำหรับคนที่ยังไม่ได้รับเชื้อ แต่มีความเสี่ยง สามารถใช้ยา PrEP โดยเเนะนำว่าให้รับประทานยาทุกวันเพื่อป้องกันการติดเชื้อ  HIV

ระยะของการติดเชื้อ HIV และการดำเนินโรค

การติดเชื้อ HIV มี 3 ระยะ

 

1.การติดเชื้อระยะแรกคือ การติดเชื้อเฉียบพลัน ใช้เวลา 2-4 อาทิตย์หลังจากได้รับเชื้อ จะมีอาการ มีไข้ ปวดศรีษะ และมีผื่นแดงขึ้นตามผิวหนัง ช่องปาก จมูกและเปลือกตา ไวรัสสามารถแพร่ในร่างกายได้ในระยะนี้อย่างรวดเร็ว และไวรัส HIV จะทำลายเซลล์ของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่เรียกว่า CD4 T cell โดยในระยะนี้ จะมีระดับไวรัสในเลือดสูง และถือเป็นระยะแพร่กระจาย

2.ระยะที่สองคือ ระยะสงบทางคลินิก ผู้ที่ติดเชื้ออาจไม่มีอาการของการติดเชื้อเลย โดยระดับไวรัส HIV ในระยะนี้จะมีปริมาณที่ต่ำกว่าระยะแรก ผู้ที่ได้รับเชื้อ HIV สามารถอยู่ในระยะนี้ได้เป็นเวลายาวนานถึง 10 ปี หรือมากกว่านั้นหากมีการรักษาด้วยยาอย่างต่อเนื่อง

3.ระยะสุดท้ายซึ่งเป็นระยะที่รุนแรงที่สุด เรียกว่า AIDS ระยะนี้เกิดจากการที่ไวรัส HIV ได้เข้าทำลายระบบภูมิคุ้มกันจนทำให้ร่างกายของผู้ป่วยไม่สามารถป้องกันและต่อสู้การติดเชื้ออื่นๆ ได้ โดยระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องในระยะนี้เราจะเรียกว่า AIDS หรือ Acquire Immunodefiency Syndrome อาการของ AIDS จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับเชื้ออื่นๆ ที่ผู้ป่วยได้รับเนื่องจากภูมิคุ้มกันบกพร่อง ได้แก่ วัณโรค ปอดอักเสบ งูสวัด เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น

 

ดังที่กล่าวมา ความแตกต่างระหว่าง AIDS และ HIV คือ HIV เป็นไวรัสที่มีผลกับเซลล์ระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย แต่ AIDS คือภาวะที่ที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายถูกทำลายและไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อในร่างกายได้ และเกิดหลังจากการติดเชื้อ HIV ไม่ใช่ว่าทุกคนที่ติดเชื้อ HIV จะเป็น AIDS เสมอไปหากได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงที

หากคุณอยู่ในกลุ่มผู้เสี่ยงติดเชื้อ HIV ควรรีบไปพบแพทย์หรือติดต่อ ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย (คลินิกนิรนาม) หรือปรึกษาหน่วยงานต่างๆ ดังนี้ 

 

  • สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม โทร 1663  ตั้งแต่ 9.00-21.00 น. ทุกวัน
  • ชมรมเพื่อนวันพุธ โทร 02-253-2666 ต่อ 118 หรือ 02-255-7893 ต่อ 118

เจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษา โทร 02-251-6711-5 ต่อ 102 (แจ้งขอรับคำปรึกษา)

  • ห้องแชทเลิฟแคร์ 16.00-24.00 น. ทาง www.lovecarestation.com  หรือ ไลน์ @lovecarestation และ Messenger เวลา 12.00-20.00 น. 

จัดทำโดย

สมาคมนิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย (IFMSA-Thailand)

Content creator  

นางสาวอันนา โรจน์รัตนชัย คณะแพทยศาสตร์ ชั้นปีที่ 1 

วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

Infographic

นางสาวชวิศา อรรควุฒิวาณิชย์ คณะแพทยศาสตร์ ชั้นปีที่ 1 

วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

Editor 

นางสาวสุพิชฌาย์ อนุวงศ์วรเวทย์ คณะแพทยศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

 

ข้อมูลอ้างอิง

-ความรู้เกี่ยวกับเอชไอวีและเอดส์: โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์. Bumrungrad International Hospital. (n.d.). Retrieved January 16, 2022, from https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/november-2016/hiv-aids-infection-treatment#Infections 

– Centers for Disease Control and Prevention. (2021, June 1). About HIV/AIDS. Centers for Disease Control and Prevention. Retrieved January 15, 2022, from https://www.cdc.gov/hiv/basics/whatishiv.html 

– Content Source: HIV.govDate last updated: June 05, 2020. (2021, April 8). What are HIV and AIDS? HIV.gov. Retrieved January 15, 2022, from https://www.hiv.gov/hiv-basics/overview/about-hiv-and-aids/what-are-hiv-and-aids 

– Mayo Foundation for Medical Education and Research. (2020, February 13). HIV/AIDS. Mayo Clinic. Retrieved January 15, 2022, from https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hiv-aids/symptoms-causes/syc-20373524 

– Person. (2014, January 13). HIV vs. AIDS: What’s the difference? Healthline. Retrieved January 15, 2022, from https://www.healthline.com/health/hiv-aids/hiv-vs-aids#aids 

– U.S. Department of Health and Human Services. (n.d.). The stages of HIV infection. National Institutes of Health. Retrieved January 15, 2022, from https://hivinfo.nih.gov/understanding-hiv/fact-sheets/stages-hiv-infection