เข้าใจการบูลลี่และวิธีการรับมือเมื่อถูกบูลลี่

เข้าใจการบูลลี่และวิธีการรับมือเมื่อถูกบูลลี่

การบูลลี่หรือการรังแกนั้นเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด  จากการสำรวจของเครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน เมื่อปี 2563 กล่าวว่า เครือข่ายฯ ได้ลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นเรื่อง “บลูลี่ กลั่นแกล้ง ความรุนแรง ในสถานศึกษา” ในกลุ่มเด็ก อายุ 10-15 ปี จาก 15 โรงเรียน  พบว่า ร้อยละ 91.79 เคยถูกบูลลี่ ซึ่งจากตัวเลขนี้จะเห็นได้ว่าเด็กวัยรุ่นในไทยนั้น มีกลุ่มที่มีความเกี่ยวข้องกับการบูลลี่  นับได้เป็นสัดส่วนที่สูงจนน่าใจหาย ในบทความนี้เราจึงจะมาพูดถึงหัวข้อเกี่ยวกับการบูลลี่ เพื่อให้เราได้รู้จัก และรับมือกับการบูลลี่ได้ดียิ่งขึ้น

บูลลี่คืออะไร : ก่อนอื่นเลยเราจะมาพูดถึงความหมายของการบูลลี่ โดยเราจะกล่าวอ้างถึงบทความของ นพ.โกวิทย์ นพพร (แพทย์ชำนาญการด้านจิตวิทยา โรงพยาบาลสมิติเวชสุขุมวิท) ซึ่งได้ระบุว่า การบูลลี่ คือ พฤติกรรมรุนแรง กลั่นแกล้ง รังแกผู้อื่นทั้งทางวาจาและร่างกาย หากเกิดในชีวิตจริงมักเป็นการล้อเลียนรูปร่างหน้าตา สถานะทางสังคม รวมถึงการทำร้ายร่างกาย ซึ่งในส่วนโลกออนไลน์ส่วนใหญ่เกิดจากการประจานกันทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งหลายครั้งการบูลลี่สร้างผลกระทบทางด้านความรู้สึกมากมายจนอาจเกิดเป็นแผลทางใจฝังลึกจนยากเยียวยา หรืออาจลุกลามไปจนเกิดการปะทะและสร้างบาดแผลทางกายได้

โดยทั่วไปนั้นเราจะแบ่งการบูลลี่ออกมาเป็น 3 ประเภท คือ

บูลลี่ทางร่างกาย : เทียบได้กับการทำร้ายร่างกาย เช่นการตบหัว ชกต่อย ซึ่งอาจส่งผลเสียได้ทั้งกายและใจของเหยื่อ

บูลลี่ทางวาจา : เป็นการทำร้ายเหยื่อด้วยวาจา ไม่ว่าจะเป็นการพูดจาหยาบคาย สอดเสียด หรือการว่าร้ายเหยื่อให้เกิดความรู้สึกอับอายต่างๆ ซึ่งไม่ว่าผู้กระทำจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แต่เหยื่อนั้นย่อมได้รับความเสียหายทางจิตใจไม่มากก็น้อย ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ตามมาได้เช่น โรคซึมเศร้า เป็นต้น

บูลลี่ทางสังคม : เป็นการกระทำที่ทำให้เหยื่อเกิดความรู้สึกอับอาย หรือเกิดชื่อเสียงที่ไม่ดีกระจายไปเป็นวงกว้าง เช่น การว่าร้าย ปล่อยข่าวลือ หรือนำคลิป หรือเรื่องราวที่เหยื่ออับอายเปิดเผยสู่ผู้คนแวดล้อมของเหยื่อ ซึ่งการกระทำนี้อาจส่งผลให้เหยื่อเกิดปัญหาด้านความสัมพันธ์ รู้สึกไร้ที่ยืนในสังคม ขาดที่พึ่งพิง ซึ่งหากปล่อยให้รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เหยื่ออาจจะเกิดความคิดที่จะทำร้ายตนเองได้

การบูลลี่กับสัญชาตญาณ

การบูลลี่โดยส่วนใหญ่ย่อมต้องมีที่มาที่ไปที่สามารถอธิบายได้ เด็กที่ไปบูลลี่คนอื่นส่วนมากมักจะมาจากการที่ตัวเด็กเองรู้สึกขาดอะไรบางอย่างในชีวิตไป หรือเขาอาจโหยหาหรือมีแรงจูงใจอะไรบางอย่าง ซึ่งการรู้สึกว่าขาดอะไรบางอย่างไปนั้นก็มีหลายกรณี ยกตัวอย่างเช่น
  1.ขาดความรัก ขาดความผูกพันในครอบครัว อาจทำให้รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รับความรักที่เพียงพอ ภายในใจก็อาจเปราะบาง และอาจพยามแสดงออกในลักษณะที่แข็งแกร่งออกมาจากภายนอก เช่น แสดงตัวเป็นหัวโจก ซึ่งการบูลลี่คนอื่นก็นับได้ว่าเป็นการแสดงความเหนือกว่า , แข็งแกร่งกว่าผู้อื่น เป็นต้น

2.เป็นลักษณะของสังคม เช่น การไม่ยอมรับหรือบอยคอตคนที่แตกต่าง ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดจากการที่เด็กไม่ได้ถูกปลูกฝังมาให้ยอมรับความแตกต่าง แต่อาจคิดไปเองว่า ต้องเป็นแบบที่เราคิดถึงจะถูกต้อง ถ้าต่างไปจากนั้นแปลว่าแย่  ซึ่งหากเป็นไปตามกรณีนี้เมื่อเด็กมาเจอคนแตกต่างในสังคมเขาก็จะรู้สึกไม่โอเค จึงทำให้เกิดการไม่ยอมรับคนที่แตกต่าง และอาจจะชักจูงให้คนรอบข้างให้ต่อต้านคนๆ นั้นไปด้วย อาจจะไม่ถึงขั้นด่าทอทำร้ายร่างกาย แต่เป็นการบอยคอตและไม่ยอมรับคนคนนั้น ซึ่งตามหลักแล้ว ก็ยังนับว่าเป็นการบูลลี่ทางสังคมได้เช่นกัน

สมองกับการบูลลี่

ในการศึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา จากโรงพยาบาล Sinai เมื่อปี 2016 พบว่า พฤติกรรมการกลั่นแกล้งรังแกมีความเชื่อมโยงกับกลไกการให้รางวัลตนเองในสมอง ส่งผลให้คนคนนั้นเกิดความพึงพอใจขึ้น

ซึ่งมีเคสตัวอย่างที่น่าสนใจคือ เคสที่นักวิจัยได้ทดลองนำหนูตัวผู้ที่โตกว่าใส่เข้าไปในกรงของหนูตัวผู้ที่เด็กกว่า 3 นาทีต่อวัน เป็นเวลา 3 วันติดต่อกัน และจากการสังเกตพบว่า 70% ของหนูทั้งหมดแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว ในขณะที่อีก 30% ไม่แสดงพฤติกรรมก้าวร้าวออกมา นักวิจัยระบุว่าในหนูกลุ่มที่แสดงความก้าวร้าว เมื่อมีโอกาสที่จะคุกคามหนูที่เด็กกว่าหรือมีลักษณะด้อยกว่า และทีมนักวิจัยพบการทำงานของสารสื่อประสาทที่เพิ่มมากขึ้นในสมองส่วนหน้า ในขณะที่สมองส่วนที่ควบคุมอารมณ์และแรงกระตุ้นกลับทำงานลดลง สำหรับในหนูกลุ่มที่ไม่แสดงความก้าวร้าวนั้นผลที่ได้ตรงข้ามกัน

ผลการวิจัยชี้ว่า การแสดงออกซึ่งพฤติกรรมคุกคามหนูตัวอื่นเปรียบเสมือนการให้รางวัลกับตนเอง สิ่งนี้สัมพันธ์กับปริมาณสารส่งผ่านประสาทโดปามีน (dopamine) ในสมองที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เกิดภาวะพึงพอใจ

ถึงแม้ว่านี่จะยังเป็นแค่การทดลองในสัตว์ก็ตาม แต่ก็พอช่วยให้เรามองเห็นภาพรวมบางอย่างว่าทำไมใครบางคนจึงชอบใช้ความรุนแรง ด้านทีมวิจัยได้กล่าวเสริมไว้ว่าสมองเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้น เพราะพฤติกรรมของคนที่ก้าวร้าวนั้นอาจมีความเกี่ยวข้องกับอาการเจ็บป่วยทางจิตได้อีกด้วย

ทำไมการบูลลี่ถึงมักเกิดขึ้นในเด็กวัยรุ่นกันนะ?

ใช่แล้วครับ หลายคนอาจสงสัยว่า เอ๊ะ ถ้าการบูลลี่เกี่ยวข้องกับสมองหรือสัญชาตญาณของตัวบุคคลแล้ว ทำไมตามสถิติจึงพบว่าในกลุ่มเด็กวัยรุ่นหรือเด็กอายุ 10-15 ปี มีอัตราการบูลลี่ที่สูงกว่าวัยอื่นๆ กันล่ะ?
  ในส่วนนี้หากอิงตามพัฒนาการพื้นฐานของสมองนั้น จะพบว่า เมื่อเรามีอายุครบ 10 ปี สมองของเราจะเริ่มมีขนาดใกล้เคียงกับของผู้ใหญ่ และสมองของเราจะเจริญเติบโตเต็มที่เมื่ออายุ 25 ปี หลังจากนั้นสมองจะหยุดเจริญเติบโต แต่วงจรประสาทที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ และความจำ จะยังเจริญเติบโตไปเรื่อยๆ จนกว่าเราจะเสียชีวิต
  ซึ่งหากอ้างอิงตามพัฒนาการพื้นฐานของสมองนั้น ก็จะอธิบายได้ว่า สมองของคนเรานั้นเริ่มพัฒนามาจากสมองส่วนหลังซึ่งเป็นส่วนการดำรงชีพและสัญชาตญาณ แล้วจึงค่อยพัฒนาสมองส่วนหน้า ซึ่งเป็นส่วนการคิดวิเคราะห์และการยับยั้งชั่งใจตามมาในภายหลัง  ซึ่งเมื่อเราอายุครบ 10 ปี สมองเราเริ่มพัฒนาจนเรียนรู้ที่จะสร้างพฤติกรรมหรือบทบาทในแบบของตนเองได้แล้ว แต่การที่สมอง โดยเฉพาะสมองส่วนหน้าซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการตัดสินใจ หรือการยับยั้งชั่งใจนั้นยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่นัก จึงทำให้ขาดการยับยั้งชั่งใจ ขาดมุมมองหรือการเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น ซึ่งทำให้พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์อย่างการบูลลี่ในรูปแบบต่างๆ แสดงออกมาได้ง่ายกว่าในช่วงวัยอื่นๆ นั่นเอง

หากคนเรามีเวลาและความสามารถในการตัดสินใจที่มากพอ จะยังเกิดการบูลลี่ขึ้นไหมนะ?

ในการตอบคำถามข้อนี้ ผมขอหยิบยกเคสตัวอย่างมานำเสนอคือ “ReThink (Trisha Prabhu)”  ซึ่งในปี2020 Trisha Prabhu นักศึกษาชาวอินเดีย ได้ลองพัฒนาแอดออนเพิ่มเติมของแพล็ตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่มีชื่อว่า ReThink โดยจะทำการตรวจจับถ้อยคำที่เข้าข่ายการคุกคามหรือการบูลลี่บนโซเชียลมีเดีย และจะขึ้นข้อความแจ้งเตือนว่า สิ่งที่คุณกำลังจะโพส หรือคอมเมนท์ไปนั้น อาจเป็นการทำร้ายผู้อื่นไม่ทางตรงก็ทางอ้อมนะ คุณยังต้องการจะดำเนินการต่อไปอยู่ไหม? ซึ่งผลออกมาน่าสนใจมาก คือมากกว่า 90% ของคนที่พบข้อความนี้ ได้เปลี่ยนความคิดและยกเลิกการโพสหรือคอมเมนท์นั้นๆ จึงอาจกล่าวได้ว่า คนเรานั้นส่วนมากไม่ได้เป็นคนที่ชอบเห็นความทุกข์ของคนอื่น เพียงแค่ขาดการยับยั้งชั่งใจเพียงเท่านั้นเอง

การรับมือกับการบูลลี่

ในส่วนของการรับมือกับการบูลลี่นั้น นพ.โกวิทย์ นพพร กล่าวเอาไว้ว่า หลายครั้งที่การบูลลี่เกิดขึ้นเพียงเพราะความสนุกชั่ววูบ ความโกรธชั่วคราว หรือเป็นเพียงการตัดสินใจชั่วขณะ แต่ผลที่ตามมาอาจมากมายและส่งผลยาวนานสำหรับผู้ถูกกระทำ ดังนั้นการรู้จักรับมือกับการบูลลี่อาจช่วยหลีกเลี่ยงบาดแผลทั้งทางกาย ใจ และสังคม โดยจะขอสรุปแนวทางการรับมือจากบทความของ นพ.โกวิทย์ ตามความเข้าใจของผมไว้ดังนี้

ใช้ความนิ่งสยบการบูลลี่ :  ในบางครั้ง ผู้กระทำอาจต้องการเห็นเหยื่อโกรธ หรือตอบโต้ตนเองกลับมาเพื่อความสะใจ หากเป็นไปตามนั้น การนิ่งเฉยอาจเป็นวิธีที่จะทำให้ตัวคนที่บูลลี่นั้นเบื่อ ไม่สนใจ และถอยห่างไปเอง

ตอบโต้อย่างสุภาพ : บางครั้งลองบอกไปตามตรงด้วยท่าทีที่สุภาพว่าฉันไม่ชอบ ฉันรู้สึกแย่กับการกระทำนี้ ตัวคนบูลลี่อาจจะรู้สึกผิด และเลือกที่จะหยุดการกระทำนั้นได้ เพราะโดยพื้นฐานแล้ว มนุษย์ทุกคนอยากเป็นคนดี ไม่ค่อยจะมีคนที่อยากจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนเลวหรอกนะ แต่ว่าพยามอย่าตอบโต้ด้วยการด่าทอหรือแสดงท่าทางเกรี้ยวกราดกลับไปล่ะ เพราะยิ่งเราด่าทอ ยิ่งมีปากเสียงรุนแรงเท่าไหร่ เราก็ยิ่งจบเรื่องบูลลี่ได้ยากขึ้น เพราะยิ่งคนที่มาบูลลี่เราอารมณ์เสียมากขึ้นเท่าไร เขาก็จะแกล้งรามากขึ้นเท่านั้น แถมยังมีแนวโน้มจะฟังสิ่งที่เราพูดน้อยลงอีกด้วย

พูดคุยกับเพื่อนร่วมชะตากรรมเพื่อช่วยกันแก้ไข : หลายครั้ง ไม่ใช่แค่เราที่โดนบูลลี่ ดังนั้นการหาเพื่อนที่โดนแบบเดียวกับเราอาจเป็นการรวบรวมหลักฐาน ว่าพวกเราโดนใครบูลลี่อยู่ เพื่อนำไปปรึกษากับผู้ใหญ่ที่เราไว้ใจได้ เพื่อนๆที่ต้องเจอกับประสบการณ์แย่ๆ เหมือนเรา ย่อมเป็นคนที่เราสามารถพูดคุยระบายความอัดอั้นให้กันและกันได้เป็นอย่างดี

เปลี่ยนสิ่งแวดล้อม : บางครั้งหากเราไม่สามารถรับมือกับเหตุการณ์เหล่านั้นได้ หากเรามีโอกาส เราอาจจะลองนำตัวเองออกมาจากที่แห่งนั้น ซึ่งนอกจากจะช่วยให้เรามีเวลาได้พักหายใจให้เราได้พักและคิดหาทางรับมือแล้ว ยังเป็นการฟื้นฟูสภาพจิตใจของเราอีกด้วย

ปรึกษานักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ : หลายครั้งการบูลลี่ไม่ได้สามารถมองเห็นสาเหตุและแก้ไขปัญหาได้ง่ายขนาดนั้น หากการบูลลี่นั้นบานปลายโดยที่เราไม่เห็นทีท่าว่าเราจะรับมือกับมันได้ เราอย่าปล่อยให้มันสายเกินไป หากเราปล่อยให้บานปลายไปเรื่อยๆ สุขภาพจิตเราอาจจะบอบช้ำจนลามไปเป็นโรคเครียด ซึมเศร้า ไปจนถึงการมีความคิดทำร้ายตัวเอง หากเรารู้สึกแย่ รู้สึกสับสน เราควรหาเวลาเข้าพบนักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์ เพื่อหาทางแก้ไขปัญหา และเยียวยาตัวเราเองก่อนที่มันจะสายเกินไป

หลังจากที่เราได้ทราบถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดการบูลลี่ขึ้นแล้ว เราอาจสรุปได้ว่า คนเราโดยส่วนมากนั้นไม่ได้ชั่วร้ายโดยนิสัย เพียงแค่ขาดความสามารถในการยับยั้งชั่งใจเท่านั้น ดังนั้นหากเราถูกบูลลี่มาในวัยเด็ก เราพยายามอย่าไปถือโทษโกรธเขาเลย เชื่อมั่นได้เลยว่าเด็กที่เคยบูลลี่ผู้อื่นส่วนมาก เมื่อโตพอที่จะแยกผิดชอบได้แล้ว ส่วนมากเขาจะรู้สึกผิดกับการกระทำนั้นๆ เอง  แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราควรจะอยู่เฉยๆ ให้เขาบูลลี่หรอกนะ เราอาจจะนำแนวทางการรับมือที่เราได้อ่านมาในวันนี้มาปรับใช้ก็ได้เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการบูลลี่ไปตลอดช่วงชีวิตวัยรุ่นของเรา
สุดท้ายนี้ ผมหวังว่า บทความนี้จะทำให้ผู้อ่านทุกท่าน ได้ทราบถึงสาเหตุ และการรับมือกับการบูลลี่ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านได้เข้ามาอ่านจะได้ทราบและย้อนดูพฤติกรรมของตนเองว่าเราได้เผลอทำร้ายใครด้วยการบูลลี่โดยไม่รู้ตัวหรือเปล่านะ ถ้าเราเผลอทำไปแล้ว สิ่งที่เราทำได้คือ หยุด และจงให้อภัยแก่ตนเอง อย่าได้เก็บมันมาทำร้ายเราต่อไป   อย่างไรก็ดี ผมขอขอบคุณผู้อ่านทุกท่านที่อยู่อ่านบทความนี้กับผมนะครับ

สัณห์ จรรยารุ่งโรจน์

(นิสิตฝึกงาน จิตวิทยาพัฒนาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)

ข้อมูลอ้างอิง
1.Trisha Prabhu : https://www.forbes.com/profile/trisha-prabhu/?sh=1f5ad1bd3758
2.อายุยิ่งน้อย ยิ่งพัฒนาสมองได้ดีจริงหรือ?: https://www.brainfit.co.th/th/blog-th/%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%A2%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A2%C2%A0%E0%B8%A2%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%88%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD

3.ความเปลี่ยนแปลงภายในสมองของวัยรุ่น: https://www.marykabin.ac.th/content/4434/%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%99

4.‘บูลลี่’ เด็กไทยติดอันดับ 2 ของโลก: https://www.bangkokbiznews.com/social/861433

5.รับมืออย่างไรในสังคม Bully : 

https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD-bully

6.Motivation to bully is regulated by brain reward circuits: https://www.sciencedaily.com/releases/2016/06/160629135255.htm