Patriarchy & Homophobia ปัญหาความเกลียดชังจากค่านิยมทางเพศผิดๆ ที่ไม่ควรถูกมองข้าม
Patriarchy หมายถึงอะไร?
ปิตาธิปไตย (Patriarchy) หรือที่เรามักจะได้ยินคนพูดทั่วๆ ไปว่า “ระบบชายเป็นใหญ่” นั่นก็คือ ระบบที่เพศชายมีอำนาจหน้าที่ทางศีลธรรม มีเอกสิทธิ์ทางสังคม มีบทบาทในด้านการเป็นผู้นำรวมถึงการควบคุมทรัพย์สิน ซึ่งในยุคสมัยก่อน เราสามารถพบเห็นสังคมปิตาธิปไตยอย่างเห็นได้ชัด หากพูดให้เห็นภาพ คงต้องอ้างอิงถึงซีรีย์ที่เป็นกระแสทาง Netflix ในปัจจุบัน นั่นก็คือ Bridgerton ซึ่งในซีรีย์ได้นำเสนอเรื่องราวของสังคมในยุครีเจนซี่ (Regency era) ที่ผู้หญิงมีหน้าที่เพียงแค่แต่งงานและมีบุตร หญิงใดที่เป็นโสดก็ถือว่าโชคร้าย ไม่มีสิทธิออกเสียง ไม่มีสิทธิในสมบัติของตนเอง ในอีกทางหนึ่งคือ ผู้ชายก็จะมีหน้าที่ในการทำงาน และมีสิทธิมีเสียงที่มากกว่า แต่ในขณะเดียวกันปิตาธิปไตยก็ทำร้ายผู้ชายเช่นกัน ซึ่งสะท้อนสังคมในสมัยก่อนได้เป็นอย่างดี แต่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้หายไปพร้อมกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป อีกทั้งยังเป็นค่านิยม ความเชื่อ ที่ถูกส่งต่อมาหลายยุคหลายสมัยที่เกิดขึ้นทั่วโลกไม่ใช่เพียงประเทศใดประเทศหนึ่ง เช่น ค่านิยมในประเทศจีนที่มักจะกล่าวกันว่า “มีลูกผู้หญิงเหมือนมีส้วมอยู่ที่หน้าบ้าน” หรือแม้กระทั่งประเทศไทยที่มีค่านิยมว่า งานบ้านเป็นเรื่องของผู้หญิง หรือผู้ชายต้องเข้มแข็งอดทน ต้องเป็นหัวหน้าครอบครัว ก็ยังคงมีอยู่อย่างเห็นได้ชัด
Homophobia คืออะไร?
Homophobia หรือเรียกอีกอย่างคือ อาการเกลียดหรือหวาดกลัว LGBTQ+ อย่างไม่มีเหตุผล มีการแสดงออกต่างๆ ที่มาจากความรู้สึกเกลียดหรือความรู้สึกกลัว เช่น การกีดกันไม่ให้เข้าสังคม การคุกคามทางวาจา การสบประมาท ล้อเลียน กลั่นแกล้ง ดูถูก หรือ ด่าทอ ทั้งในชีวิตจริงและใน Social Media หรือจะเป็นการใช้คำเหยียดเพศ (Sexist Language) เช่น ตีฉิ่ง , ขุดทอง ,สายเหลือง, ฟักทองบด เป็นต้น หรืออีกหนึ่งระดับความรุนแรง นั่นก็คือการทำร้ายร่างกาย เพียงเพราะคนเหล่านั้นเป็น LGBTQ+ โดยกลุ่มอาการ Homophobia มักพบในกลุ่มผู้ชายและผู้หญิง (straight) แต่อีกกรณีก็สามารถพบในกลุ่ม LGBTQ+ เช่นกัน อันเนื่องมาจากทัศนคติเชิงลบต่อกลุ่ม LGBTQ+ ที่ทำให้พวกเขารู้สึกเกลียด หรือไม่ชอบตัวเอง โดยนักวิจัยได้กล่าวไว้ว่า Homophobia ไม่ใช่โรคจึงไม่ได้มีวิธีการรักษาที่แน่ชัด แต่ถ้ากลุ่มอาการ Homophobia เข้าขั้นทำร้ายร่างกาย นั้นก็จะนับได้ว่ามีความผิดปกติทางจิต และควรได้รับการรักษาต่อไป
สังคมปิตาธิปไตยกับเรื่องเพศ ภัยร้ายที่นำไปสู่ Homophobia
ในกลุ่มอาการ Homophobia นักจิตวิทยาเชื่อว่ามีผลมาจากความเชื่อฝังใจของการสร้างครอบครัว คือหญิงแท้ต้องคู่กับชายแท้และต้องมีสามีเป็นใหญ่ในบ้าน โดยผู้หญิงมีหน้าที่ดูแลสามีและลูก รวมถึงงานบ้านและงานในครัว ซึ่งเป็นผลมาจากสังคมแบบปิตาธิปไตยที่ได้กล่าวไปในข้างต้น ทำให้ผู้ที่ยึดติดรู้สึกว่า ความรักแบบ LGBTQ+ เป็นความรักที่ผิดกับธรรมชาติ ทั้งในเรื่องเพศ การมีลูก รวมไปถึงรูปแบบการมีเพศสัมพันธ์นอกจากนี้ Homophobia ยังเป็นผลมาจากสิ่งที่ปฏิบัติต่างๆ ในสังคมปิตาธิปไตย เช่น
วัฒนธรรมการแต่งกาย — ผู้ชายไม่ควรทาเล็บ แต่งหน้า ใช้สกินแคร์ จนไปถึงการที่ผู้ชายต้องใส่กางเกง หรือเป็นผู้หญิงต้องใส่กระโปรง ห้ามแต่งตัวโชว์เรือนร่าง ทั้งที่จริงแล้วเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายต่างๆ นั้นไม่ได้จำกัดเพศ (Unisex) และจะแต่งกายอย่างไรขึ้นอยู่กับกาลเทศะ
ความเชื่อเรื่องศาสนา—การเป็น LGBTQ+ นั้นเป็นบาป หรือผิดต่อพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ทุกๆศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี แต่ไม่ได้สอนว่าต้องเป็นชายจริงหญิงแท้หมายความว่าเป็นคนดี และไม่ได้หมายความว่าการที่เป็นLGBTQ+ คือการเป็นคนไม่ดี แต่การเป็นคนดีหรือคนไม่ดีนั้นขึ้นอยู่กับการกระทำมากกว่า
ความเชื่อที่ปลูกฝังเด็กในแต่ละครอบครัว — เกิดเป็นผู้ชายต้องเข้มแข็ง อดทนตลอดเวลา มีความหนักแน่น จนไปถึงเรื่องเล็กๆ เช่น ผู้ชายห้ามชอบสีชมพู เพราะเป็นสีของผู้หญิง หรือเป็นผู้หญิงต้องเป็นแม่ศรีเรือน ห้ามทำอะไรที่ห้าวเหมือนเด็กผู้ชาย หรือบางครอบครัว แม้กระทั่งการกินอาหารบางชนิด เช่น ยำ หากเด็กผู้ชายกินก็จะโดนบอกในทำนองว่านั่นคืออาหารของผู้หญิง การเลือกที่จะรับประทานอาหารจะต้องจำกัดเพศด้วยหรือ?
ปลูกฝังความคิดจากการศึกษา — ในแบบหนังสือเรียนที่มักบอกว่า LGBTQ+ คือ 1 ในพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ หรืออีกคำที่ใช้ก็คือ “พฤติกรรมเบี่ยงเบน” หรือคิดว่าเป็น “ความผิดปกติทางจิต” และใช้เนื้อหาเช่นนี้ต่อๆ มาจากรุ่นสู่รุ่น หรือค่านิยมหญิงข้าวเปลือกชายข้าวสาร ในอิศรญาณภาษิต ที่แสดงให้เห็นถึงแนวคิดปิตาธิปไตยอย่างชัดเจนและยังคงไม่พ้นเรื่องการปลูกฝังให้ฝ่ายชายต้องมีอำนาจ มีหน้ามีตาและต้องเป็นผู้นำครอบครัว
การล้อเลียนด้วยคำเหยียดเพศ — เมื่อเวลาที่เด็กผู้ชายแสดงท่าทางหรือทำสิ่งใดที่ไม่ถูกใจผู้พูด ก็จะมีคำด่าทอ เช่น “โอ๊ย ตุ๊ดว่ะ” “เป็นตุ๊ดปะเนี่ย” หรือแม้กระทั่งเด็กผู้หญิงห้าวๆ ก็จะโดนล้อเลียน เช่น “ทำตัวห้าวแบบนี้ เป็นทอมใช่มั้ย” “ตีฉิ่งหรอ” การเอาคำศัพท์เรียกเพศ มาใช้ในทางที่ผิด จึงทำให้เกิดความเชื่อฝังใจว่าคำเหล่านี้คือสิ่งที่ไม่ดี และนำไปสู่การมีอคติต่อเพศต่างๆ ได้
การสร้างความเชื่อว่า LGBTQ+เป็นตัวตลกและน่ากลัว — ไม่ว่าจะจากละคร หนัง หรือซีรีย์ที่มักจะมีตัวละครที่เป็น LGBTQ+ และถูกนำเสนอออกมาในรูปแบบของการนำตัวละครมาล้อเลียนหรือสร้างภาพจำผิดๆ ให้แก่ตัวละคร LGBTQ+ อยู่บ่อยครั้ง ว่าทั้งน่ากลัว เสียงดัง และไม่มีมารยาทในสังคม ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าเพศใดก็มีบุคลิกเช่นนั้นได้เหมือนกัน
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ คือความเชื่อผิดๆ และสิ่งที่ปลูกฝังกันมาจนทำให้เกิดความเกลียดชัง หรือความหวาดกลัว และนำไปสู่อาการ Homophobia ได้ ซึ่งปัจจุบันก็ยังพบเห็นได้ทั่วไป
Patriarchy&Homophobia แก้ไขอย่างไร?
ต้องยอมรับว่า Patriarchy&Homophobia คือสิ่งที่แก้ไขได้ยากในสังคมที่มีคนหลากหลายความคิด ทัศนคติอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก สิ่งที่พึงกระทำได้คือเริ่มจากตัวเอง ในการ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” รับฟังและเปิดใจให้กว้าง ยอมรับผู้อื่น ตนเองและสังคมปัจจุบันอย่างแท้จริง เพราะในปัจจุบันจะเห็นได้ว่า สังคมไทยเปิดกว้าง แต่ไม่ได้เปิดใจอย่างเป็นธรรม เราจึงควรเลิกยึกติดความคิดแบบเก่าๆ และมองว่าทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเท่ากัน ไม่แบ่งแยกหน้าที่ของเพศใดเพศหนึ่ง นอกจากนี้สิ่งที่พึงกระทำได้คือการให้ความรู้ ให้ข้อมูลแก่คนรอบข้าง ที่เราสามารถพูดคุยด้วยได้ด้วยเหตุผล และไม่ใช้อารมณ์ ให้เพียงแต่คิดว่าเรากำลังแลกเปลี่ยนความรู้กับคนที่คิดต่างกับเราเท่านั้น
สุดท้ายนี้การให้เกียรติกันเป็นสิ่งที่สำคัญ ไม่ว่าเพศไหน ทุกคนพึงมีความเท่าเทียมกันทางเพศ (Gender Equality) และมีสิทธิเสรีภาพในการเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน ดังนั้นจึงไม่ควรมีใครทำร้ายหรือเหยียดหยามกัน และมากไปกว่านั้น การปลูกฝังความคิดต่างๆ ในรุ่นต่อๆ ไปเป็นสิ่งที่สำคัญ ถ้าคนในสังคมรู้จักปลูกฝังแต่ค่านิยมทางเพศที่ดี และตระหนักถึงปัญหาของ patriarchy มากขึ้น ปัญหา homophobia ก็จะลดลงตามกาลเวลา
Content and artwork creator
นางสาวสุชัญสินี โชติทิพยพานิช ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนราชินีบน
Editor
นางสาวสุพิชฌาย์ อนุวงศ์วรเวทย์ คณะแพทยศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
References
Merriam-Webster.(2008,January 29).Definition of Homophobia. https://archive.ph/20121205072838/http://www.webster.com/dictionary/homophobia
Spencer A. Rathus,Jeffrey S. Nevid,Lois Fichner-Rathus.(2000).Human sexuality in a world
of diversity(p.279-280).Allyn and Bacon.
SPECTRUM.(2564,19 มกราคม).ผมเป็น Feminist.Youtube. https://youtu.be/KXkqloTbxzI
ธัญญารัตน์ โคตรวันทา.(2564,28 มกราคม).ดาฟนี่ บริดเจอร์ตัน : บาดแผลจากปิตาธิปไตยใน Bridgerton.
The people. https://thepeople.co/daphne-bridgerton-patriarchy/
ปาโบล อูโซอา.(2561,28 กันยายน).อาการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน รักษาได้?.BBC News ไทย.
https://www.bbc.com/thai/international-45601603