ในวันที่โลกพร้อมให้เรากลับมากอดกัน

ในวันที่โลกพร้อมให้เรากลับมากอดกัน

นับแต่ปี 2019 ไวรัสตัวจิ๋วในชื่อ “โคโรน่าหรือโควิด” เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเรา รวมทั้งโลกทั้งใบ แม้ขนาดของไวรัสจะเล็กและดาเมจของมันส่งผลกับพวกเราพอสมควรทั้งทำให้เราเจ็บป่วย บ้างมีล้มหายจากไป กระทั้งเราต้องมีการแยกห่างออกจากกันเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ช่วงต้น หลายคนประสบกับภาวะสับสนปนเครียด (Freeze) เพราะรู้จักเจ้าไวรัสตัวนี้น้อยเหลือเกิด ไม่รู้จะรับมือกับมันอย่างไร ระยะต่อมาความเจ็บป่วยของผู้คน ข่าวการจากไปส่งผลให้ความกังวลและความกลัวทำให้เราต้องหลีกหนีและออกห่างจากผู้คน (Flight) จนกระทั้งพวกเรารู้จักกับเจ้าไวรัสนี้ดีพอ และพยายามมากขึ้นที่จะปรับตัวอยู่กับมันให้ได้ (fight) หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ และการล้างมือคืออาวุธแรกๆ เทคโนโลยีในการสื่อสารภาพเสียงที่คมชัดคืออาวุธในการปรับตัวและการทำงานให้เสมือนจริงมากที่สุด วัคซีนเป็นอาวุธชิ้นสุดท้ายและมีแนวโน้มว่า “เป็นความหวังให้กับเรา”

ในช่วงของการระบาดตอกย้ำให้การขนานนามว่า “สื่ออิเล็กทรอนิกส์” เป็นอวัยวะสำคัญของมนุษย์ ยิ่งมีความชัดเจนมากขึ้น เพราะหากขาดสื่ออิเล็กทรอนิกส์ไปกิจกรรมหลายอย่างคงหยุดชะงักและได้รับผลกระทบ ทั้งการทำงาน การเรียน การติดต่อสื่อสารที่ต้องใช้รายละเอียด อีกทั้งยังขาดพื้นที่สำหรับการผ่อนคลาย โดยความต้องการในสื่อเทคโนโลยีนี้วัดได้จากยอดการผลิตที่มากจากแร่ธาตุบางชนิดที่เป็นองค์ประกอบสำคัญที่มีมูลค่าสูงขึ้น ยอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นในการทำงาน การเรียน การสื่อสารและบันเทิงพุ่งทะยานสูงเป็นประวัติการ

..สื่ออิเล็กทรอนิกส์จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการปรับตัวของมนุษย์ และสังคมโลก
“ความเครียด” จากอุปสรรคในการทำงาน ผ่อนคลายลง
“ความเหงา” “ความเบื่อ” จากจากอุปสรรคในการพบกัน เบาบางจางไป
“ความกังวล” ต่อความเจ็บป่วยของโรคร้ายควบคุมให้อยู่ในวงจำกัดได้มากขึ้น
“ความสนุกสนาน” ได้รับการตอบสนองอย่างรวดเร็วเพราะการทำงานของสื่ออิเล็กทรอนิกส์ไปสอดคล้องกับธรรมชาติของสมองโดยเฉพาะวัยรุ่นที่สมองส่วนอารมณ์โต้ตอบกับโลกใบนี้อย่างอัตโนมัติ สามารถสนุกสนานได้ยาวนานต่อเนื่องเพราะสมองส่วนยับยั้งยังทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ

ในขณะที่ “ความจำเป็นไร้ขอบเขต” มนุษย์ใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์มากจนกระทบกับ …
ร่างกาย กล้ามเนื้อ และสายตา เพราะการนั่งใช้สื่อเป็นเวลานานส่งผลโดยตรงต่อการทำงานของกล้ามเนื้อ มีหลายคนมีอาการ “ออฟฟิสซินโดรม” เป็นเพื่อนสนิท (บางคนเรียก “โฮมซินโดรม” เพราะต้องทำงานอยู่กับบ้าน) สายตาที่อยู่กับอุปกรณ์เปล่งแสงเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนานย่อมทำให้สายตาอ่อนล้า

สมาธิและความจดจ่อ สมองมนุษย์มีคุณลักษณะพิเศษที่ประกอบด้วยหน้าที่หลายประการ จดจำ แสดงอารมณ์ สั่งการอัตโนมัติ สร้างออร์โมนเพื่อการเติบโต เหตุผล และยับยั้งชั่งใจ แต่การใช้สื่ออิเล็กทรอนิกซ์ต่อเนื่องเป็นเวลายาวนานทำให้สมองทำงานหนักไม่น้อย ส่งผลลดทอนความสามารถในการคงสมาธิและการจดจ่อ

เมื่อร่างกายและสมองทำงานหนัก อาจส่งผลให้อารมณ์หงุดหงิดได้ง่ายขึ้น และสื่อสารอารมณ์นั้นออกมารวดเร็ว เช่นเดียวกับพฤติกรรมการตอบสนองในการใช้สื่อ

การจัดการบริหารเวลาที่ผิดพลาดจากการใช้สื่อในการผ่อนคลายมากเกินจำเป็น อาทิ เพราะธรรมชาติของมนุษย์เมื่อต้องอยู่ในความกังวลหรือความเครียดระดับสูงจะหาวิธีการผ่อนคลายที่ง่ายและเร็ว อาทิ การกิน มีเพศสัมพันธ์ การซื้อของ หรือแม้กระทั่งการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ทำให้เกิดการผูกผันหรืออาจถึงขั้น “(เสพ)ติด” การผ่อนคลายนั้นโดยขาดการยับยั้ง ขาดการจัดการเวลา ส่งผลต่อปัญหาตรงหน้าและอาจมีผลต่อตนเองในระยะยาว

สถานการณ์ ณ ตอนนี้ โลกกำลังใจดีกับเรามากขึ้น โรคระบาดเริ่มสงบลง วัคซีนที่เป็นอาวุธสำคัญกำลังทำงาน ใกล้วันที่พวกเรากำลังจะได้กลับมาใช้ชีวิตอย่างที่เคยใช้ ได้ทำงาน ได้สนุกสนานจากการพบเจอหน้ากัน

แต่การยุติตัวเองจากการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่าย เพราะความผูกพัน การวางเงื่อนไขในการใช้ชีวิต และสารสื่อประสาทแห่งความสุขที่หลั่งออกมาในขณะที่ใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์นั้น ทำงานต่อเนื่องมาอย่างน้อย 2 ปี

หลายคนบ่นเบื่อหน่ายกับการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Digital Fatigue)
หลายคนรู้สึกติดใจการมีชีวิตบนโลกออนไลน์จนไม่อยากกลับไปใช้ชีวิตบนโลกจริง

ในวันที่โลกพร้อมให้เรากลับมาเจอกัน ลองทวนถามกับตัวเองว่า.. แท้จริงเรากำลังต้องการอะไร
การออกกำลังกายผ่านแอปพลิเคชั่น หรือ การได้ให้ร่างกายเคลื่อนไหวไปกับแสงแดด พื้นหญ้า
การทำงานทุกอย่างผ่านหน้าจอสี่เหลี่ยมหรือการกลับออกไปผจญภัยกับโลกกว้างตามการค้นหาตัวเอง
การผ่อนคลายด้วยสื่อมีเดียกับเพลง และเกมแสนโปรด หรือ เป็นเสียงน้ำตกและไอทะเลที่จะทำให้คุณผ่อนคลาย
การสื่อสารกับเพื่อน ครอบครัว คนรักผ่านออนไลน์ที่ภาพเสียงคมชัด หรือการได้กลับไป ได้เจอผู้คนตัวเป็นๆ

คงเป็นไปไม่ได้ที่จะเปลี่ยนเราให้กลับมาเป็นในอย่างเดิมที่เคยเป็นอย่างกะทันหัน เพราะในการเปลี่ยนไป หรือเปลี่ยนกลับมาย่อมต้องให้เวลา ค่อยๆ ที่จะเอาตัวเองออกมาจากโลกเสมือน มาเผชิญกับโลกในแบบที่เคยเป็น

พ่อแม่จะชวนเด็กๆ ออกจากโลกออนไลน์สู่โลกจริงได้อย่างไร

ที่จะไม่รีบเร่งจนเกินไป เพราะทุกคนล้วนต้องการเวลาในการปรับตัว โดยเฉพาะวัยรุ่นต้องใช้เวลา ในการสงบตัวเองจากความสนใจในรูปแบบออนไลน์ มาสู่ปฏิสัมพันธ์เดิมบนโลกจริง ผู้ใหญ่ระมัดระวังสีหน้า ท่าที น้ำเสียง หรือคำบางคำที่ทำให้ตีความได้ว่า “เรากำลังฉุดกระชากเขาออกจากโลกออนไลน์”
รับฟังความรู้สึก ทั้งจากเรื่องราวที่เด็กๆ เล่า และภาษากายของเขา ทั้งความรู้สึกสนุกกับโลกออนไลน์ที่กำลังดำเนินอยู่ และความรู้สึกหวาดหวั่นไม่แน่ใจกับการออกมาใช้ชีวิตใหม่ๆ ในโลกใบเดิม เพื่อรักษาความสัมพันธ์ สร้างพื้นที่ปลอดภัย และเป็นโอกาสได้แสดงความเห็นอกเห็นใจ
หลังจากเชื่อได้ว่าเราสงบได้มากพอ เด็กผ่อนคลายและเปิดโอกาสให้เราได้เข้าใจสิ่งที่เขากำลังสนุก ผู้ใหญ่ค่อยๆ เข้าใจโลกของเด็กๆ และหา “ความน่าสนใจของโลกเสมือนนั้น” ว่ามีสิ่งไหนน่าสนใจ เพราะอะไร และสิ่งนั้นมีคุณค่ากับเด็กๆ แค่ไหน อาทิ สิ่งนั้นทำให้เขาเชื่อในความถนัดและความสามารถ สิ่งนั้นทำให้เขาได้รับการยอมรับ สิ่งนั้นทำให้เขารู้สึกปลอดภัยและเป็นที่รัก
ให้เวลากับตนเอง น้อยที่สุดคือไม่ด้อยคุณค่าสิ่งนั้นจากมุมมองของเรา มากกว่านั้นคือการพยายามที่จะสร้างความเชื่อมโยงกับความน่าสนใจ ให้คุณค่าและความสำคัญจากโลกออนไลน์ ไปสู่การทำกิจกรรมต่างๆ ในโลกจริง “อย่างค่อยๆ เป็นไป”
ให้เราได้ออกจากห้องเล็กๆ มาโอบกอดกัน ในวันที่โลกพร้อม

นรพันธ์ ทองเชื่อม : นักจิตวิทยาและที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิต เลิฟแคร์สเตชั่น