สุข สม่ำเสมอ

สุข สม่ำเสมอ

ในช่วงวิกฤตของโรคระบาด มนุษย์ได้รับผลกระทบจากทุกข์ระลอกใหญ่ ทุกข์จากการต้องปรับตัว ทุกข์จากความขัดสนจากการกินและการใช้ ทุกข์จากการห่างหายในปฏิสัมพันธ์ทางสังคม  ขณะที่ในโลกใบเดียวกันก็ได้เกิดปรากฏ “เสพความสุข” ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ผู้คนหลีกหนีความทุกข์เข้าหาความสุขอย่างฉับไว ความสุขที่สามารถมาถึงได้อย่างรวดเร็ว ทำให้สูญเสียความสมดุลในการใช้ชีวิต

ปรากฏการณ์เสพความสุข พบได้ตั้งแต่วัยรุ่นไปจนถึงวัยทำงาน อาทิ การใช้สื่อออนไลน์ การชอปปิง การพนัน สุรา และสารเสพติด เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อโลกกำลังกลับสู่ความสมดุลเดิม ผู้ใหญ่หลายคนค่อยๆ ถอนตัวจากความสุขนั้น กลับมาใช้ชีวิตในรูปแบบเดิมมากขึ้น ตรงข้ามกับวัยรุ่นที่มีไม่น้อยยังคงผูกพันกับ “ความสุขอย่างง่าย” และยากในการปรับตัวกลับมาเพื่อใช้ชีวิตให้สมดุลอีกครั้ง

เพราะอะไรวัยรุ่นจึงถอนตัวจากความสุขได้ยาก?

“สมองวัยรุ่น” เป็นช่วงที่มีระดับของการเรียนรู้ที่ดีมาก แต่ส่วนใหญ่ตอบสนองกับสิ่งต่างๆ บนโลกใบนี้ด้วยระบบ   ลิมบิก ซึ่งเป็นสมองส่วนที่ทำงานด้วยภาวะอารมณ์เป็นหลัก ในขณะที่สมองส่วนเหตุผล (สมองส่วนหน้า) ยังทำงานได้ไม่เต็มที่ สมองวัยรุ่นจึงคล้ายรถสปอตที่เครื่องยนต์ทำงานได้เต็มที่แต่ระบบเบรคยังไม่สมบูรณ์แบบมากนัก การตกอยู่ในวังวนของความสุขที่รวดเร็วและได้มาง่ายจึงเกิดขึ้นได้ในช่วงวัยนี้

เมื่อความสุขไม่ได้รับการตอบสนองตามที่ปรารถนา อาจสร้างผลผลิตเป็นความก้าวร้าว การต่อรองโดยขาดเหตุผล ปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว กระตุ้นให้เกิดทุกข์ซ้อนทุกข์ ทำให้เกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบนเพื่อตอบสนองความสุขฉับไวขึ้นอีกระลอก พฤติกรรมการใช้เงิน เพศสัมพันธ์ สารเสพติด กลายเป็นวงจรพฤติกรรที่ซับซ้อนขึ้น วัยรุ่นประสบกับความเศร้าเมื่อทุกข์จากการไม่ได้รับการตอบสนองความสุขทันที เปลี่ยนสู่การกล่าวโทษว่า “ตนไร้ค่า” ไม่สมควรแก่การได้รับสิ่งเหล่านั้น

วัยรุ่นต้องทำอย่างไรหากกำลังตกอยู่ในวังวนของความสุข

1.ยอมรับว่าการตกอยู่ในวังวนของความสุขเกิดขึ้นได้กับทุกคน

การแสวงหาสิ่งที่จะตอบสนองความสุข เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับทุกๆ คน ทุกๆ วัย ในรูปแบบที่ต่างกัน เราอาจเคยได้ยินเรื่องการสั่งสอนเรื่องการมุ่งเน้นแสวงหาความสุขเป็นเรื่องไม่ดี เป็นเรื่องน่าหวาดหวั่น หรือเป็นสัญญาณของความไม่มั่นคง แต่ด้านจิตใจ ความสุขและความพึงพอใจเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้มนุษย์ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความหวัง และเป็นความรู้สึกที่ผูกพันกับเราได้ง่ายจนแยกออกได้ยาก

2.หาสาเหตุที่อยากให้ทุกข์ผ่านไปไว

เพราะหลายครั้งการตกอยู่ในวังวนของความสุข ไม่ได้มาจากความต้องการสุข แต่อาจมาจากการกำลังหลีกหนีความทุกข์ที่กำลังเผชิญ หากสามารถหาสาเหตุของความทุกข์ใจ ไม่ว่าจะเป็นความเครียดจากงาน ความกังวลในความสัมพันธ์ ความเศร้าที่ไม่ได้รับการยอมรับ และค่อยๆ แก้ไขที่ต้นเหตุของอารมณ์นั้น การก้าวออกจากวังวนของความสุขมีแนวโน้มจะทำได้ง่ายขึ้น

3.ประเมินผลทั้งระยะสั้นและระยะยาวของความสุขแบบฉับไว

แม้เราจะเรียกว่า “ความสุข” ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าพึงพอใจ แต่ในหลายพฤติกรรมที่ให้ความสุข กลับเป็นเพียงความสุขระยะสั้นและส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตระยะยาวได้ เช่น การเล่นเกมแบบไม่จำกัดเวลาอาจส่งผลต่อเวลาในการเตรียมตัวสอบ การดื่มสุราอาจส่งผลต่อปัญหาสุขภาพ การชอปปิงบ่อยๆ อาจส่งผลปัญหาหนี้สิ้นในอนาคต ดังนั้น การสงบตนเอง และทบทวนผลของพฤติกรรมตามความเป็นจริง จะช่วยให้สามารถสมดุลพฤติกรรมให้สุขได้สม่ำเสมอมากขึ้น

 4.ให้เวลาพาตนเองออกไปมีความสุขกับสิ่งอื่นทีละเล็กละน้อย

            เมื่อทบทวนได้แล้วว่าพฤติกรรมบางอย่างอาจให้ผลเพียงความสุขระยะสั้น และส่งผลเสียต่อความสุขระยะยาว ค่อยๆ ให้เวลาตนเองในการสร้างสรรค์กิจกรรมที่ตนมีความสุขในตอนลงมือทำและส่งผลเสียน้อยลงในอนาคต ในช่วงต้นของการเปลี่ยนแปลงอาจไม่ง่ายนักเพราะระดับความสุขที่ได้อาจไม่เท่ากับที่เคยได้รับ แต่อาจคุ้มค่ามากกว่าถ้าความสุขเล็กน้อยนั้นจะไม่ย้อนกลับมาทำให้เกิดความทุกข์ใจในอนาคต

5.สุขจากการลงมือทำ

            ความสุขมีหลายประเภท สุขจากความพอใจ เป็นความสุขที่สั้น ง่าย ไม่ต้องใช้กระบวนการทางความคิดและพฤติกรรมมากนัก เป็นความสุขประเภทหนึ่งที่น่ายินดีหากวัยรุ่นได้รู้ว่าตนเองพอใจในสิ่งไหน แต่มีความสุขอีกชนิดหนึ่งที่ต้องผ่านกระบวนการทางความคิดและการลงมือทำ หลายครั้งความสุขประเภทนี้ถูกเรียกว่า “สุขสำเร็จ” ซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าเป็นความสุขที่จะเกิดขึ้นต่อเมื่อทำสำเร็จแล้ว ในขณะที่ความเป็นจริง “ความสุขจากการลงมือทำ” ให้คุณค่าภายในมากมาย “ความพอใจ การจัดการอารมณ์ การเรียนรู้ เพื่อน ฯลฯ” ความสุขจากการลงมือทำมีค่ามากกับวัยรุ่นเพราะนอกจากเป็น “ความรู้สึกสุขแล้ว” ยังเป็นการตอกย้ำความรู้สึกพอใจในความสามารถของตน ซึ่งเป็นความสุขระยะยาว

ผู้ใหญ่จะช่วยวัยรุ่นอย่างไร

            1.เข้าใจว่าทุกพฤติกรรมมีที่มา

            แม้พฤติกรรมที่แสดงออกอาจรบกวนใจผู้ใหญ่ เช่น เล่นเกมโดยไม่ควบคุมเวลา การสูบบุหรี่แม้จะมีการตกลงร่วมกัน การดื่มสุรากับกลุ่มเพื่อน แต่พฤติกรรมเหล่านั้นอาจมีที่มาจากการตกอยู่ในวังวนความสุข การรีบเร่งในการสั่งสอนหรือกล่าวโทษอาจไม่ใช้ทางออกแรกที่จะทำให้วัยรุ่นรู้ตัวและต้องการจะเปลี่ยนแปลงตนเอง เพราะแท้จริงแล้วไม่ควรมีใครต้องรับผิดจากการต้องการความสุข แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องยอมรับและเรียนรู้ผลของทุกข์ที่อาจจะเกิดตามมา

            2.ทำงานร่วมกันเป็นทีม

            พฤติกรรมที่ตกอยู่ในวังวนของความสุข เป็น “พฤติกรรมเบี่ยงเบน” เกิดจากวงจรที่ซับซ้อนของความคิด ความรู้สึก และเป็นการสะสมของการกระทำมาระยะหนึ่ง แม้วัยรุ่นจะตั้งใจอย่างมากแต่การถอนตนเองออกจากพฤติกรรมดังกล่าวเป็นสิ่งที่ยาก จำเป็นต้องได้รับกำลังใจ และการสนับสนุนจากผู้ใหญ่มากพอสมควร ทั้งท่าทีที่เข้าใจ คำพูดให้กำลังใจ และการชวนวัยรุ่นไปสู่ความสุขอื่นๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป

            3.ให้เวลากับลูกวัยรุ่น

            แม้การเข้าสู่วังวนของความสุขอาจไว แต่การถอนตัวอาจใช้เวลายาวนาน วัยรุ่นแต่ละคนมีความเปราะบาง (Vulnerability) ต่อพฤติกรรมแห่งความสุขไม่เท่ากัน ดังนั้นการถอนตัวออกจากพฤติกรรมแห่งความสุขฉับไวจึงไม่เท่ากันในแต่ละคนขึ้นอยู่กับทั้งปัจจัยทางกายภาพ จิตใจ และสังคม การเฝ้ามองความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมที่ดีขึ้นแม้เล็กน้อยจะเป็นกำลังใจให้แก่ผู้ใหญ่และวัยรุ่น

การเลี้ยงดูแบบไหนมีส่วนช่วยส่งเสริมทักษะ “สุข สม่ำเสมอให้วัยรุ่น” โดยสามารถเริ่มฝึกได้ตั้งแต่วัยประถม

1.ทักษะในการควบคุมตนเอง Self-control

คือทักษะที่ส่งเสริมให้เกิดการควบคุมตนเองในสถานการณ์ “จำเป็น” ไปพร้อมๆ กับสิ่งที่ “ชอบ” / “ต้องทำ” ไปพร้อมๆ กับสิ่งที่ “อยากทำ” อาทิ การเรียน การบ้าน งานบ้าน เป็นต้น

  • โดยเริ่มต้นจากการสร้างแรงจูงใจในการลงมือทำ ชวนให้เห็นความสำคัญของทักษะในการควบคุมตนเอง
  • ใช้ท่าทีในการสื่อสารด้วยความสงบมากกว่าการสั่งสอนเพราะ “อาบน้ำร้อนมาก่อน”
  • ลงมือทำไปพร้อมกันโดยเริ่มจากสิ่งง่ายไปหายาก
  • ชื่นชมพฤติกรรม และความตั้งใจ มากกว่าการเฝ้ามองเพียงผลสำเร็จ

2.การรอคอยความพึงพอใจ (Delay gratification)

คือทักษะที่มุ่งเน้นการรอคอย “ความพอใจ หรือความสุข” เพื่อเรียนรู้คุณค่าของความสุขระหว่างทาง เพื่อเข้าใจอรรถรสของคำว่า “อดเปรี้ยวไว้กินหวาน” หากแต่จากประสบการณ์ทำงานพบว่า พ่อแม่สามารถเข้าใจคอนเซปของทักษะนี้ได้ดี แต่ไม่สามาถปรับใช้ได้จริง เนื่องจากความรู้สึกต่อตนเองภายใน อาทิ “การให้คือการเติมเต็มสิ่งที่เราขาดตอนวัยเด็ก” “การที่ลูกงอแงร้องไห้เท่ากับเราเป็นพ่อแม่ที่ไม่ดีพอ” หลายครั้งพบว่า พ่อแม่ที่ขาดทักษะในการจัดการอารมณ์มักตอบสนองความสุขแก่ลูกทันทีเมื่อลูกเริ่มที่จะแสดงพฤติกรรมเชิงลบ โดยไม่ทันยั้งคือว่านี่กำลังเป็นจุดเริ่มต้นของวังวนความสุข เพราะเด็กและวัยรุ่นจะเปราะบางมากขึ้นเมื่อเขารอคอยความสุขได้น้อยลง

ในขณะเดียวกัน พ่อแม่ต้องไม่ลืมว่า การอดทนอดกลั้น การรอคอยความสุข ย่อมพัฒนาได้เมื่อบุคคลได้รับการตอบสนองพื้นฐานต่างๆ ในชีวิตมาอย่างเติมเต็มตามวัยที่ควรเป็น เวลาคุณภาพ ความสนใจร่วมกัน วินัยเชิงบวก ระบบรางวัลและคำชมจึงเป็นพื้นฐานก่อนฝึกฝนเรื่องการรอคอย “ความพอใจ หรือความสุข”

3.การจัดการอารมณ์ตนเอง (Emotional regulation) 

            ในช่วงของการฝึกทักษะควบคุมตนเอง และการรอคอยความสุข เป็นช่วงที่ไม่ง่ายทั้งกับวัยรุ่นและพ่อแม่ เพราะเกิดความคาดหวังที่แตกต่างกัน

            “พ่อแม่คาดหวังให้เด็กรอคอย และควบคุมตนเอง”

            “วัยรุ่นคาดหวังที่จะทำในสิ่งที่เป็นความชอบ และความสุขอย่างทันที”

            อาจส่งผลให้เกิดปัญหาอารมณ์ระหว่างกัน ในฐานะผู้ที่มีวัยวุฒิมากกว่า โปรดสังเกตร่างกายตนเอง สงบอารมณ์ผ่านการค่อยๆ หายใจ สื่อสารด้วยภาษาและท่าทีราบเรียบ แต่หากกำลังอยู่ในช่วงที่อารมณ์เชิงลบอยู่ในระดับสูงควรใช้การสื่อสารเพื่อรักษาพื้นที่ปลอดภัย เช่น “ตอนนี้แม่ยังไม่พร้อม ขอเวลา 20 นาทีสำหรับสงบตัวเอง แล้วเรามาตกลงกันนะ”

            เช่นเดียวกันกับเด็กๆ หากสังเกตได้ว่า เขากำลังรู้สึกกังวล หรือไม่พอใจ จากสีหน้า ท่าทาง ลมหายใจที่สั้นห้วน ผู้ใหญ่ควรสะท้อนให้เขารู้ว่าเกิดสิ่งเหล่านั้นขึ้น และพร้อมให้เวลาเขาในการจัดการกับอารมณ์นั้นก่อนที่จะกลับมาสื่อสารความต้องการร่วมกันอีกครั้ง เพราะการที่กระตุ้นให้วัยรุ่นสื่อสารในขณะที่เขากำลังมีความรู้สึกกังวลหรือไม่พอใจ อาจแสดงออกมาด้วยท่าทีไม่สุภาพ ทำให้ไปไม่ถึงเป้าหมายที่ต้องการเรียนรู้ร่วมกัน

            นอกจากนั้นแล้ว ในขณะที่เด็กกำลังรู้สึกกังวลหรือไม่พอใจ เป็นช่วงเวลาที่ไม่เหมาะแก่การสั่งสอนหรือให้ข้อคิดใดๆ เพราะจะเกิดเป็นแรงต้าน ด้วยความคิดอัตโนมัติแวปแรกว่า “ผู้ใหญ่ไม่เข้าใจ” “ฉันทำอะไรผิด” การให้การแนะนำหรือทัศนคติใดๆ ควรให้ในช่วงที่ทั้งผู้ใหญ่และวันรุ่นอารมณ์สงบ

นรพันธ์ ทองเชื่อม : นักจิตวิทยาและที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิต เลิฟแคร์สเตชั่น